หลังจากที่พรรคพลังประชาชนออกมาโวยเรื่องภาพยนตร์โฆษณาของพรรคถูกห้ามออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ โดยระบุว่าเป็นการเลือกปฏิบัตินั้น ทาง รมต.และกรมประชาสัมพันธ์รีบออกมาแก้ตัวพัลวันว่าต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ขาดว่าทำได้หรือไม่
“ทิพาวดี” อ้างรอ กกต.ตีกรอบหาเสียง
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนออกมาโวยถูกเลือกปฏิบัติไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ถูกคณะกรรมการกิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) แบนภาพยนตร์โฆษณาของพรรคว่า ได้สอบถามนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะเลขานุการ กกช.ทราบว่าการรณรงค์การเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น กกช.ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียงของพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ และส่งมาให้ที่ กกช. จากนั้น กกช.จะแจ้งให้กกช.ประจำสถานีรับทราบถึงแนวทางปฏิบัติต่อไป หากสถานีไหนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามมาที่ กกช. และกรมประชาสัมพันธ์ได้ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว และ กกช.ชุดใหญ่ ที่มีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯ เป็นประธาน ยังไม่ได้ประชุมแต่อย่างใด
ปัดมีใบสั่งคุมเข้มโฆษณา พปช.
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคพลังประชาชนระบุว่าได้ยื่นขอซื้อเวลาแต่ละสถานีเรียบร้อยแล้ว คุณหญิงทิพาวดีตอบว่า การพิจารณาขณะนี้เป็นเรื่องของ กกช.ประจำสถานีพิจารณาเอง อาจจะเป็นการออกข่าวปกติ ยังไม่ใช่การรณรงค์หาเสียง ถือเป็นแนวปฏิบัติของแต่ละสถานีจะพิจารณากันเอง ยืนยันไม่ได้มีการสั่งบล็อกอย่างแน่นอน เพียงแต่แต่ละสถานีอาจจะกลัวหรือระวังตัว เพราะยังไม่ได้เห็นระเบียบของ กกช.อย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ เมื่อถามย้ำว่า มีการมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะสปอตโฆษณาของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคการเมืองใหม่อื่นๆ ก็ออกมาลักษณะเดียวกันแต่ไม่มีปัญหา คุณหญิงทิพาวดีตอบว่า ยืนยันได้ว่ารัฐบาลหรือ กกช.ชุดใหญ่ไม่ได้มีใบสั่ง ไม่มีการเลือกปฏิบัติแน่ เขาจะออกทีวีช่องไหนไม่ทราบ แต่ไม่มีของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กับสถานีทีไอทีวีแน่นอน
อธิบดีกรมกร๊วกโยนลูก กกช.ชี้ขาด
ขณะที่นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะเลขานุการ กกช. กล่าวถึงกรณีการอนุญาตการเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า ในกระบวนการดูแลปกติได้มอบอำนาจให้แต่ละสถานีไปตั้งคณะกรรมการพิจารณาในการอนุญาตการเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณา หรือเรียกว่า กกช.ประจำสถานี มี 2 กรณี คือ 1. ถ้ากรณีที่ไม่แน่ใจจะสอบถามกลับมาที่ กกช.หรือกรมประชาสัมพันธ์ 2. กรณีถ้าแน่ใจก็อนุมัติให้ดำเนินการไป ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาทางเราจะไปตรวจสอบ ส่วนกรณีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้น จะเริ่มต้นพิจารณาเมื่อมี พ.ร.ฎ.ออกประกาศวันเลือกตั้งออกมาแล้ว กกต.จะเชิญอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะเลขานุการ กกช.ไปหารือเพื่อวางแนวทางการปฏิบัติ จากนั้นจะนำข้อสรุปดังกล่าวไปหารือกับแต่ละสถานี เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แนวทางที่ กกต.กำหนด เพื่อควบคุมให้ค่าใช้จ่ายเป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้และเป็นธรรมเท่าเทียมกันทุกพรรคการเมือง