หมัก ปิดปากแน่นนั่ง ปธ.วุฒิฯ - ว่าที่ ส.ว.ข้างน้อย ส่ง กล้านรงค์ ชิง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 เมษายน 2549 16:03 น.
สมัคร ปิดปากนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิฯ กดโทรศัพท์ทิ้ง รำคาญสื่อตามซัก ส่วนว่าที่ ส.ว.เสียงน้อย ไม่เชื่อภาพพจน์ความเป็นกลาง-ปลอดการเมือง หนุน กล้านรงค์ ลงชิงตำแหน่งผู้นำสภาสูง ด้าน ครูหยุย รับหมดหวัง ชี้ ภาพรวมแบ่ง 3 กลุ่มเครือญาติ-อดีต ส.ส.-ร่างทรงรัฐบาล แนะส่ง อุทัย ชน หมัก
วันนี้ (21 เม.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช ว่าที่ ส.ว.กทม.กล่าวถึงกระแสข่าวที่ ส.ว.สายพรรคไทยรักไทย เตรียมหนุนเป็นประธานวุฒิสภา ว่า ยังไม่ขอออกความคิดเห็น และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ พร้อมทั้งได้ตัดสายโทรศัพท์ทิ้งทันที
ด้าน นายตรีพล เจาะจิตต์ ว่าที่ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว.สายพรรคไทยรักไทย เตรียมเสนอ นายสมัคร ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภา และเสนอชื่อ นายชัย ชิดชอบ ว่าที่ ส.ว.บุรีรัมย์ เป็นรองประธานวุฒิสภา ว่า ส.ว.ทุกคนที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาขณะนี้ถือเป็นสภาประชาชน และเป็นของประชาชนทั้ง 200 คน ควรทิ้งบทบาทที่อยู่กับพรรคการเมืองออกให้หมด เพื่อได้เป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระอย่างแท้จริง วุฒิสภาได้ชื่อว่าเป็นสภาสูงผู้ที่ได้รับคัดเลือกตั้งเข้ามา ต้องไม่ทำตัวต่ำกว่าหรือเท่าเทียมกับ ส.ส.และไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายบริหาร เพราะต้องเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิยุบวุฒิสภาได้ เป้าหมายของวุฒิฯ คือ ตรวจสอบถ่วงดุล ฝ่ายบริหารอย่าทำตัวเหมือนวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา ที่ประชาชนคลางแคลงใจ จนทำให้ภาพตกต่ำ เมื่อเห็นภาพเช่นนี้แล้วจึงไม่สมควรกลับไปสู่วังวนเดิม
ใครจะมาเป็นประธานวุฒิสภา ต้องเป็นกลาง ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพราะประธานจะเป็นหน้าตาของวุฒิสภาชุดนี้ หากคุณสมัคร หรือคุณชัย สามารถที่จะปรับตัวให้มีความเป็นกลาง และพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีใครแทรกแซงได้ ก็น่าจะทำหน้าที่ได้ แต่ที่ผ่านมาทั้งสองท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ดังนั้น ทั้ง 200 คนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาสูงต้องหาคนที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้ยังเร็วไปที่ยังพูดถึงตัวประธาน ผมพร้อมที่จะเลือกคนที่จะเป็นกลางที่สุด คนที่ผมไว้ใจที่สุด และขณะนี้ยังไม่มีใครอยู่ในใจ ต้องรอให้เปิดประชุมก่อน นายตรีพล กล่าว
เมื่อถามว่า มีว่าที่ ส.ว.หลายคนเตรียมเสนอชื่อ นายกล้านรงค์ จันทิก ว่าที่ ส.ว.กทม.เป็นประธานวุฒิสภา นายตรีพล กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะนายกล้าณรงค์มีความเป็นกลาง อิสระ กล้าที่จะต่อสู้ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนจะมีสมาชิกท่านอื่นเลือกหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละคน ที่จะใช้ดุลยพินิจในการหาบุคคลที่จะเหมาะสมมาเป็นผู้นำของสภาสูง
ต่อข้อซักถามที่ว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการกำหนดวาระให้ประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งเหมือนกับวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา นายตรีพล กล่าวว่า การเป็นประธานวุฒิสภา 6 ปี ถือว่านานเกินไป ส่วนจะให้เป็นคราวละ 2 ปี เหมือนชุดก่อนหรือไม่ตนไม่เห็นด้วย เพราะตำแหน่งประธานวุฒิสภาไม่ใช่สมบัติผลัดกันชม เดี๋ยวจะหาว่าวุฒิฯชุดนี้แย่งกันเป็นประธาน ดังนั้น วาระที่เหมาะสมควรเป็น 3 ปี ซึ่งไม่มากหรือน้อยเกินไป เพราะจะได้เปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นได้เข้ามาพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้วุฒิสภาทำงานรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ รักษาการ ส.ว.กทม. กล่าวถึงวุฒิสภาชุดใหม่ ว่า รู้สึกหมดหวัง เพราะดูภาพรวมของ ส.ว.ทั้งประเทศแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มญาติโกโหติกา ที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด จะทำให้บทบาทการถอดถอนหมดไป เพราะไม่มีพี่น้อง หรือผัวเมียคู่ไหนที่จะมาถอดถอนกันเอง 2.กลุ่มอดีต ส.ส.ซึ่งมีความผูกพันทางการเมือง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมาถอดถอนกันเอง และ 3.กลุ่มรัฐบาลทักษิณ ซึ่งหมายถึงอดีตผู้ว่าฯซีอีโอ เมื่อภาพเป็นอย่างนี้ จะทำให้หน้าที่หลักของวุฒิสภาหมดไปทันที ทั้งการแต่งตั้งตัวบุคคล ที่ต้องมีการรับใช้การเมืองอย่างแน่นอน การถอดถอน การกำกับการบริหารราชการแผ่นดิน ยิ่งไม่น่าจะทำได้ แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว เราก็ได้แต่ทำใจยอมรับ และต้องทนต่อไปอีก 6 ปี เป็นอย่างน้อย
นายวัลลภ กล่าวถึงประธานวุฒิสภาคนใหม่ ว่า ถ้าจะผลักดันให้นายกล้านรงค์ จันทิก ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ ไปแข่งกับ นายสมัคร สุนทรเวช ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ คงลำบาก เพราะเสียงสนับสนุนนายกล้านรงค์ ไม่พอ แต่ถ้าหันมาผลักดัน นายอุทัย พิมพ์ใจชน ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ ให้เป็นประธานวุฒิสภา น่าจะพอสูสีกับ นายสมัคร เพราะ นายอุทัย จะมีฐานเสียงจาก ส.ว.สายใต้ ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ บวกด้วยเสียงจาก ส.ว.กรุงเทพฯ บวกเสียง ส.ว.ที่ยังกระจายอยู่ และบวกด้วยกระแสสังคมที่ช่วยกันหนุน ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า ส่วน นายกล้านรงค์ อาจจะหนุนให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก็ได้