ขวาง"สมัคร"ประธานวุฒิฯผัว-เมีย-ญาติเกร่อสนามปากน้ำส่อวุ่น
นักวิชาการเล็ก-ใหญ่ผวา "สมัคร" ยึดเก้าอี้ประธาน ส.ว.หลังสะพัด ทรท.หนุนสุดตัวพร้อมดัน "ลุงชัย" ขึ้นรองฯ ตั้งฉายา "สภากั๊กแห่งชาติ" ที่ปากน้ำส่อฉาวซ้ำ นับคะแนนวุ่นเมีย ส.ส.ขยับขึ้นแท่น
ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ทยอยประกาศผลออกมา ทำให้เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสภาผัวเมีย-เครือญาติ หรือสภาตัวแทน (นอมินี) เพิ่มมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นหน้าตาชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นคู่สมรส ญาติพี่น้อง หรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง แทบทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่ภาคอีสาน 19 จังหวัด ซึ่งมี ส.ว.ได้ 69 คน ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ หรือได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองพรรคไทยรักไทย (ทรท.) แทบทั้งสิ้น เริ่มจาก จ.นครราชสีมา นางลินดา เชิดชัย ว่าที่ ส.ว.นครราชสีมา ลูกสะใภ้เจ๊เกียว นางสุจินดา เชิดชัย ผู้สนับสนุน ทรท.คนสำคัญ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ว่าที่ ส.ว. ภรรยานายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองหัวหน้า ทรท. ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ว่าที่ ส.ว.นครราชสีมา ภรรยาว่าที่ ร.ต. ไพโรจน์ สุวรรณฉวี กรรมการบริหาร ทรท. นายบุญเลิศ ครุฑขุนทด ว่าที่ ส.ว.นครราชสีมา น้องชายนายจำลอง ครุฑขุนทด รองหัวหน้า ทรท. หรือ พล.ต.ต.เถลิงศักดิ์ สุคนธมาน ที่สนิทกับนายกร ทัพพะรังสี อดีตรองหัวหน้า ทรท. และนายสุวัจน์ นางศิริพร ชาติปฏิมาพงษ์ ที่แนบแน่นกับนายสุวัจน์ และว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์
จ.ขอนแก่น นางรัตนาภรณ์ สมบูรณ์ ว่าที่ ส.ว.ขอนแก่น ก็เป็นน้องภรรยานายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ทรท. นางดวงแข อรรณนพพร ว่าที่ ส.ว.ขอนแก่น ภรรยาของนายพงศกร อรรณนพพร อดีต ส.ส.ขอนแก่น ทรท. หรือ พล.ต.ต.ไพฑูรย์ เชิดมณี ซึ่งเป็นนายร้อยตำรวจรุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้า ทรท. เป็นต้น
จ.กาฬสินธุ์ นายนิพนธ์ ศรีธเรศ ว่าที่ ส.ว.กาฬสินธุ์ น้องชายนางบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต ส.ส.ทรท. นางชะม้อย วรามิตร ว่าที่ ส.ว.กาฬสินธุ์ ก็เป็นมารดา น.ส.ภัทรา วรามิตร ส.ส.ทรท. เช่นเดียวกับ จ.ชัยภูมิ นายพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย ว่าที่ ส.ว.ชัยภูมิ เป็นพี่ชายนายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย ส.ส.ทรท. หรือ จ.นครพนม นางสุจินดา ศรีวรขาน ว่าที่ ส.ว.นครพนม ภรรยานายไพจิต ศรีวรขาน อดีต ส.ส.ทรท.
จ.บุรีรัมย์ นายชัย ชิดชอบ ว่าที่ ส.ว.บุรีรัมย์ ก็คือบิดานายเนวิน ชิดชอบ แกนนำ ทรท. นางพัชรี เพชรสว่าง ว่าที่ ส.ว.บุรีรัมย์ ภรรยานายโสภณ เพชรสว่าง นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ว่าที่ ส.ว.บุรีรัมย์ น้องชายนายทรงศักดิ์ ทองศรี ว่าที่ ส.ส.ทรท. นายวันรบ อิศรางกูร ณ อยุธยา ว่าที่ ส.ว.บุรีรัมย์ พี่ชายของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา แกนนำ ทรท.
กลุ่มอดีต ส.ว.น้ำดีพ่ายแทบทุกเขต
ส่วนกลุ่มอดีต ส.ว.น้ำดี สมัยที่ผ่านมา ที่เคยแสดงบทบาทวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ว.ภาคอีสาน ซึ่งส่งคนของตัวเอง หรือสนับสนุนบุคคลที่เชื่อว่ามีอุดมการณ์เช่นเดียวกันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ เพื่อรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ แต่ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดสอบตกพ่ายแพ้กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในซีกของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็น นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีต ส.ว.นครราชสีมา ที่สนับสนุนภรรยา นางนภาพร พัฒนโชติ ลงสมัคร นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ ที่สนับสนุนน้องชายนายกมล ใสงาม นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต ส.ว.ยโสธร ที่ส่งน้องสาว นางปณิธาน คล่องแคล่ว นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว.สกลนคร ที่ส่งสามี นายธัญญา ชุณชฎาธาร อดีตนักกิจกรรมยุค 14 ตุลาคม 2516 และ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ที่สนับสนุน นายนิกร วีสะเพ็ญ ทนายความนักสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดต่างพ่ายแพ้อย่างหมดรูป
ทั้งนี้ รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรประชาชน ทั้งนายอวยชัย วะทา แกนนำครู ที่ลงสมัคร ส.ว.มหาสารคาม ฐานเดิมของนายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแมกไซไซ และนายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว ที่ลงสมัคร ส.ว.ขอนแก่น ฐานเดิมของนายแคล้ว นรปติ ต่างก็สอบตกโดยถ้วนหน้า
เหนือเครือข่าย ทรท.ครองเบ็ดเสร็จ
ว่าที่ ส.ว.16 จังหวัดภาคเหนือทั้ง 35 คน ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเครือญาตินักการเมืองพรรค ทรท. ไม่ว่าจะเป็นนางสลักจิต ติยะไพรัช ว่าที่ ส.ว.เชียงราย ภรรยานายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางจิราวรรณ วัฒนศิริ ว่าที่ ส.ว.เชียงราย น้องสาวนายมงคล จงสุทธนามณี อดีต ส.ส.เชียงราย หรือนายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ ว่าที่ ส.ว.เชียงใหม่ อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ พี่ชายนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ ทรท. หรือ นายสุวิทย์ วงศ์ศรีวงศ์ ว่าที่ ส.ว.พะเยา สามีนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทรท. นางอารีย์ ตันบรรจง ว่าที่ ส.ว.พะเยา ภรรยานายไพรัตน์ ตันบรรจง นายก อบจ.พะเยา และเป็นน้องสะใภ้นายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา ทรท. เป็นต้น
ส่วนที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองขั้วอื่น เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีได้รับเลือกตั้งเข้ามาบ้างประปราย เช่น นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ว่าที่ ส.ว.พิจิตร น้องชายต่างมารดาของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับเลือกเข้ามาค่อนข้างมากเช่นกันคือ อดีต ส.ส.ที่ผันตัวเองมาลงสมัคร ส.ว.จนได้รับเลือกตั้ง เช่น นายอำนวย ยศสุข ว่าที่ ส.ว.เชียงใหม่ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 7 สมัย นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.ลำพูน พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย นายรักษ์ ตันติสุนทร อดีต รมช.พาณิชย์ และ ส.ส.ตาก ปชป. ดร.ธารทอง ทองสวัสดิ์ อดีต ส.ส.ลำปาง บุตรสาวนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นักการเมืองอาวุโสที่เสียชีวิตไปแล้ว
ส่วนว่าที่ ส.ว.สายอดีตข้าราชการในภาคเหนือก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นกัน เช่น นายกฤช อาทิตย์แก้ว ว่าที่ ส.ว.กำแพงเพชร อดีตผู้ว่าฯ กำแพงเพชร นายวรเกียรติ สมสร้อย ว่าที่ ส.ว.เชียงราย อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย และ นายพีระ มานะทัศน์ ว่าที่ ส.ว.ลำปาง อดีตผู้ว่าฯ ลำปาง
ส่วน ส.ว.สายอิสระ ที่โดดเด่นที่สุด คงจะเป็น น.พ.ไกร ดาบธรรม ว่าที่ ส.ว.เชียงใหม่ อดีต ผอ.โรงพยาบาลแม่อาย และอดีตแพทย์ชนบทดีเด่น ที่ได้คะแนนชนิดถล่มทลาย 145,196 คะแนน แต่ที่ฮือฮาที่สุดคงจะเป็นนางพอฤทัย ชินวัตร ภรรยานายพายัพ ชินวัตร ส.ส.เชียงใหม่ ทรท. น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สอบตกอย่างไม่น่าเชื่อ
ภาคใต้เครือข่าย ปชป.ก็พรึ่บ
ส่วนพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังคงไม่ต่างจากภาพการเมืองในสนามส.ส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติ หรือผู้ที่นักการเมืองในซีกพรรคประชาธิปัตย์ให้การสนับสนุน เครือญาตินักการเมือง ปชป. เช่น นายฉัตรชัย พะลัง ว่าที่ ส.ว.ชุมพร น้องชายนายสุวโรช พะลัง อดีต ส.ส.ชุมพร ปชป. นางทิพย์วรรณ พัฒโน ว่าที่ ส.ว.สงขลา ภรรยานายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ อดีต ส.ส.สงขลา ปชป. นายพิชัย บุญยเกียรติ ว่าที่ ส.ว.นครศรีธรรมราช น้องชายนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. เป็นต้น
ส่วนผู้ที่สนิทสนม หรือคน ปชป.สนับสนุน เช่น นายนภา นทีทอง ว่าที่ ส.ว.ระนอง อดีตรองนายก อบจ.ระนอง ที่นายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ปชป.สนับสนุน นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ ว่าที่ ส.ว.พังงา อดีต ส.จ.ท้ายเหมือง ซึ่งใกล้ชิดพรรค ปชป.เช่นเดียวกับ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ว่าที่ ส.ว.ปัตตานี ทายาทกลุ่มปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง ซึ่งใกล้ชิดกับพรรค ปชป. นายอนันต์ ทองแก้ว ว่าที่ ส.ว.สงขลา ที่สนิทสนมกับนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต ส.ส.สงขลา ปชป.
ขณะที่อดีต ส.ส.ปชป.หลายคนที่หันมาลงสนาม ส.ว.ในช่วงท้ายชีวิตการเมือง เช่น นายตรีพล เจาะจิตต์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. นายประวิช นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ปชป.
ขณะที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีคนในเครือข่ายอดีต ส.ส.และว่าที่ ส.ส.ในซีกพรรคไทยรักไทย (ทรท.) หรือพรรคการเมืองอื่นสอดแทรกเข้ามาบ้าง เช่น นางฮาลีเมาะ อุตรสินธุ์ ว่าที่ ส.ว.นราธิวาส ภรรยานายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส ทรท.
พื้นที่ภาคใต้ตอนกลางก็มีคน ทรท.และพรรคการเมืองอื่นสอดแทรกเข้ามาได้บ้าง เช่น นายวิทูร กรุณา ว่าที่ ส.ว.นครศรีธรรมราช อดีตพระเอกหนังชื่อดัง และอดีตผู้สมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ทรท. หรือ นายเจริญ ภักดีวานิช ว่าที่ ส.ว.พัทลุง อดีตอาจารย์และผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย เมื่อปี 2531
ขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคใต้ก็ยังมีผู้สมัครอิสระสอดแทรกเข้ามาได้เช่นกัน เช่น ที่ จ.กระบี่ ที่มี ส.ว.ได้ 1 คน นายอภิชาติ ดำดี นักพูดชื่อดัง เจ้าของรายการผู้ใหญ่บ้านดำดี และเคยขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนที่ไม่มีภาพเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองแทรกเข้ามาได้ หรือ "หมอแว" น.พ.แวฮามาดี แวดาโอะ ว่าที่ ส.ว.นราธิวาส จำเลยคดีเจไอ นายนิมุคตาร์ วาบา ว่าที่ ส.ว.ปัตตานี เจ้าของโรงเรียนสอนศาสนาใน จ.ปัตตานี นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ ว่าที่ ส.ว.ยะลา อดีต ผอ.กศน.อ.รามัน นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ว่าที่ ส.ว.สงขลา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายสุริยา ปันจอ ว่าที่ ส.ว.สตูล เลขานุการกรรมการอิสลามจังหวัดสตูล
ส่วนอดีตข้าราชการก็มีให้เห็นหลายคน เช่น สองว่าที่ ส.ว.สุราษฎร์ธานี คือ พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีต ผบช.ภ.9 และ พล.ต.ต.ภูวดล กระแสอินทร์ อดีตรอง ผบช.ภ.8 พ.ต.อ.สุรินทร์ ปาลาเร่ ว่าที่ ส.ว.สงขลา อดีต ผกก.ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา เป็นต้น