จบเห่! “ปารีณา” รับเองครอบครองที่ป่า 1.7 พัน ไร่ “วราวุธ” สั่งกรมป่าไม้สอบด่วน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง จบเห่! “ปารีณา” รับเองครอบครองที่ป่า 1.7 พัน ไร่ “วราวุธ” สั่งกรมป่าไม้สอบด่วน
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบที่ดิน ภบท. 5 กว่า 1700 ไร่ ในพื้นที่ หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ผ่าน "รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เปิดความลับ" ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. ว่า ที่ดินดังกล่าวได้มานานมากแล้ว เป็นที่ดินที่รัฐบาลโดยกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ ทำกินมานานแล้ว และได้เสียภาษีดอกหญ้ามามากกว่า 10 ปี และเสียทุกครั้งที่เขาเรียกเก็บ ทำอย่างถูกต้อง เมื่อถามว่าที่เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ไม่ได้รับการจัดสรร คือเราสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้แต่เราจะต้องเสียภาษี
เมื่อถามว่าใครอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า มันเป็นกฎหมาย คือใครเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่จะต้องเสียภาษี และเป็นการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ซึ่งครอบครองมานานตั้งแต่ยังไม่ได้เลี้ยงไก่ ก็มีการปลูกอ้อย ปลูกส้ม เลี้ยงหมู ทำมาหลายอย่างหลายแบบมานาน
เมื่อถามว่านายเรืองไกรไปค้นข้อมูลว่ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. เมื่อปี 2557 แต่ไม่ได้มีการระบุถึงพื้นที่ 1,700 ไร่นี้เลย เป็นการได้มาหลังปี 2557 หรือไม่ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ไม่ใช่ได้มา ไม่มีใครได้ไปทั้งนั้น มันเป็นที่ของหลวง แต่ว่าเราเข้าไปทำประโยชน์ได้ ต้องทำความเข้าใจว่าที่ดินประเภท ภบท.5 ก่อนว่ามันไม่ใช่ของใคร มันเป็นของหลวง ของป่าไม้ ที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าไปทำกินได้ แล้วก็พื้นที่ ภบท. 5 มันมีเยอะมากทั่วประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนี้เกษตรกรทุกคนก็ทำลักษณะเดียวกับตนทั้งนั้น คือครอบครองทำกินกัน เสียภาษี แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นการจ่ายภาษีคล้ายภาษีดอกหญ้า ตรงนี้เราไปแจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของๆ เรา บัญชีทรัพย์สินคือต้องเป็นทรัพย์สินของเรา แต่นี่ไม่ใช่ของเราแต่เป็นทรัพย์สินของกรมป่าไม้ ของหลวง ก็เลยไม่ได้แจ้ง แต่ปัจจุบันในการยื่นบัญชีทรัพย์สินปี 2562 ทาง ป.ป.ช.ขอให้แจ้ง แต่ไม่ได้แจ้งว่าเราเป็นเจ้าของ ถ้าดูรายละเอียดให้ดีก็คือการประเมินราคาประเมินด้วยความลำบากมาก เพราะกรมที่ดินก็ไม่รับประเมิน ประเมินไม่ได้เพราะมันเป็นป่า ก็ใส่อะไรไปก็ได้เพราะเราไม่มีความสามารถในการประเมินได้อยู่แล้ว แต่ว่า ป.ป.ช.ขอความร่วมมือว่าถ้ามีที่ดินประเภทของกรมป่าไม้ที่เข้าไปทำกินอยู่ก็ให้แจ้งด้วย จึงได้แจ้งไป แต่การประเมินราคาไม่ได้เข้าไปอยู่ในการประเมินรายการทรัพย์สินของตน และมี ส.ส.หลายคนที่ต้องแจ้งในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าที่ดินที่เรียกว่า ภทบ. 5 ซึ่งเรียกว่าที่ดินมือเปล่า ใครก็เข้าไปครอบครองไม่ได้ จึงอาจเรียกว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์หรือเข้าไปบุกรุกในที่ต้องห้าม น.ส.ปารีณา กล่าวว่า มันแตกต่างกันระหว่างเข้าไปทำประโยชน์กับการเข้าไปบุกรุก คือที่ดินของป่าไม้ ภบท.ต่างๆ มันมีหลายประเภท ป่าไม้เองก็มีป่าชุมชน อย่างเช่น กรณีที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกชาวบ้านขอคืน และมีประเภทแบบป่าไม้สงวนรกร้าง ที่เข้าไปทำประโยชน์ได้เลย และป่าไม้ประเภทที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเห็ดหรือหาอึ่ง ดังนั้นคนก็อาจจะสับสนว่าบางคนทำไมถูกข้อหาบุกรุกและจะต้องติดคุก ซึ่งการบุกรุกที่ป่าไม้มันติดคุกอย่างเดียว แต่ว่าบางประเภทเป็นป่าสงวนรกร้าง หรือป่าชุมชน แต่คนอาจจะไปตีรวมกันหมดว่าเป็นการบุกรุก
เมื่อถามว่าที่ดินภทบ. 5 ของน.ส.ปารีณา และ นางสมพร ต่างก็อยู่ในเขต ต.รางบัว จอมบึงเหมือนกัน น.ส.ปารีณา กล่าวว่า ตนอยู่หมู่ 6 เขาอยู่หมู่ 13 ของเขาคาบเกี่ยว 3 หมู่บ้าน ของนางสมพร มี ภบท. 5 กับ นส 2 ซึ่งชาวบ้านขอคืนเพื่อไปทำป่าชุมชน และเข้าไปทำประโยชน์กันในนั้น แต่ นส 2 ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าที่ดินประเภทนี้ ซื้อขายกันไม่ได้และผิดกฎหมาย โดยให้เป็นมรดกตกทอดเท่านั้น และนางสมพร ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามนางสมพรยินดีที่จะคืนให้แล้ว ก็ขอให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาระหว่างการเจรจากันก็มีความพยายามไม่ให้ตนรู้เรื่องนี้
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มีคนส่งคลิปทั้งเสียงและภาพที่ น.ส.ปารีณาให้สัมภาษณ์มาให้ตนเยอะมาก ทั้งนี้ก็ได้สอบถามและได้สั่งการไปยังกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบเร่งนี้ และให้รายงานมาที่ตนเร็วที่สุด สำหรับตนมี 2 มุมมอง คือ ในเรื่องของการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน อาจจะมีคนแนะว่าหากแจ้งบัญชีทรัพย์สิน น.ส.ปารีณา ได้จ่ายภาษีส่วนไหนก็ให้แจ้งส่วนนั้นด้วย เพราะถ้าไม่แจ้งก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อีกประการคือเรื่องของการครอบครองพื้นที่ป่า ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าอยู่ในระยะเวลาไหนอย่างไร และต้องไปดูที่ต้นตอการได้มา ถ้ามองในแง่หนึ่ง คืออาจจะมีการเสียภาษี ภทบ. 5 มาก่อนหน้านี้ และเสียไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ และหากเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าจริงก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ตรวจสอบรายการที่ดิน ภบท. 5 ที่น.ส.ปารีณา แจ้งต่อ ป.ป.ช.แล้ว โดยไปตรวจสอบแนวเขตป่าว่าพิกัดอยู่ในบริเวณใด พื้นที่เดียวกับ น.ส.ปารีณาครอบครองหรือไม่ ถึงแม้ว่าน.ส.ปารีณาจะพูดชัดในการให้สัมภาษณ์รายการข่าวรายการหนึ่งออกอากาศไปทั่วประเทศ โดยบอกว่าครอบครองพื้นที่ 1,700 ไร่ โดยเสียภาษีบำรุงท้องที่มากว่า 10 ปี ก็ตาม แต่ตามหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อยืนยันพิกัดอยู่ดี นอกจากนี้ต้องไปดูข้อกฎหมายเพิ่มเติม เพราะว่าบริเวณดังกล่าวกรมป่าไม้เป็นแนวป่าที่กรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก.ด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นที่ดิน ส.ป.ก. น.ส.ปารีณา ก็ไม่น่าจะมีคุณสมบัติในการครอบครอง ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบให้เร็วที่สุด
รายงานข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า การครอบครองที่ดิน ภทบ. 5 ถือเป็นการครอบครองที่ดินมือเปล่า ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ รองรับ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 (30) ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำการด้วประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มาตรา 55 ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น โดยกรณีการครอบครองที่ดินของ น.ส.ปารีณา เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และกรณีเขายายเที่ยง ของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้นที่ครอบครองที่ดินมือเปล่าไร้เอกสารสิทธิ์ ที่สำคัญสิ่งที่น.ส.ปารีณาให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวเหมือนเป็นการรับสารภาพว่าบุกรุกที่ป่า และถือว่าจบและสามารถดำเนินคดีได้เลย ซึ่งพื้นที่ ภบท. 5 นั้น โดยหลักไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครอง และไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎมาแล้วว่าไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเก็บภาษีบำรุงท้องที่ เพราะเป็นที่ดินผิดกฎหมาย และเป็นความเข้าใจผิดชองชาวบ้านว่าเสียภาษีดอกหญ้าแล้วจะเป็นการทำตามกฎหมาย
ส่วนกรณีของนางสมพรนั้น ต้องดูเจตนาและการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยเป็นการซื้อที่ต่อมาจากบุคคลอื่นในลักษณะแปลงรวม เบื้องต้นยังไม่พบการเข้าไปใช้ประโยชน์หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการร่วมของกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งตรวจสอบพิกัดให้ชัดเจน
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น