ร้อนระอุ! แสวงจุดร่วมนับหนึ่งแก้รธน.
กระนั้นก็ตามมีการเปิดเผยถึงสัดส่วนกมธ.ไว้แล้วคร่าวๆ แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรคฝ่ายค้าน 19 รวมทั้งสิ้น 49 คน
บางพรรคแย้มรายชื่อตัวแทน กมธ.โควตาของตัวเองบ้างแล้ว เช่น เพื่อไทยเตรียมเสนอ นายโภคิน พลกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นต้น
อนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอตัวเองเป็นกมธ. ส่วนจะมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ด้วยหรือไม่ต้องดูอีกที เนื่องจากนายธนาธร มีภารกิจเป็นที่ปรึกษากมธ.งบ ประมาณฯ อยู่ด้วย
ส่วนประชาธิปัตย์ เตรียมเสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
เกี่ยวกับสัดส่วนโควตากมธ.วิสามัญฯ นี้ ยังมีความเห็นต่าง
นายปิยบุตร มองว่า ครม.ไม่ควรมีโควตาในกมธ.ชุดนี้ เพราะแตกต่างจาก กมธ.งบประมาณฯ ซึ่งรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ แต่กมธ.เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เผยว่า สัดส่วนครม. 12 คนนั้น จำนวน 6 คนจะคืนให้วิปรัฐบาล อีก 6 คนที่เหลือ ครม.จะไม่เข้าไปเป็นเองเพราะไม่มีเวลา จึงจะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าไปมีส่วน ร่วมกับตัวแทนองค์กรอิสระและฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล
ซึ่งทั้งหมดต้องไปหาข้อยุติกันในสภาอีกที
โดยเฉพาะในซีกพรรครัฐบาลระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับคนที่จะลงชิงตำแหน่งประธานกมธ.ชุดนี้ โดยการเลือกของคณะกมธ. 49 คน
คุณสมบัติตามมาตรฐานทั่วไปคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ต้องมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับของสังคม มีประสบการณ์ทำงานทางการเมืองมานาน น่าเชื่อถือ มีบารมี เป็นที่ยอมรับในหมู่นักการเมือง
ในการประชุมส.ส.พรรคสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์มีมติ 2 ข้อ คือ สนับสนุนตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค เป็นประธานกมธ.ดังกล่าว
โดยมีเสียงจากฝ่ายค้านบางส่วนขานรับ
พรรคเพื่อไทยมองว่า ถึงประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ จะเคยเป็นศัตรูการเมืองกันมาก่อน บวกกับจุดยืนด้านประชาธิปไตยที่ยังเป็นปัญหา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เกี่ยวพันถึงอนาคตประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน
เช่นเดียวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติที่มองว่า นายอภิสิทธิ์เหมาะสมเนื่องจากเคยเป็น นายกฯ และหัวหน้าพรรคการเมืองมาก่อน น่าจะสร้างความปรองดองให้เกิดกับทุกหมู่เหล่าทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. ช่วยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้
กลับเป็นพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหากับมติข้อ 2 ของประชาธิปัตย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยืนยันไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวว่าใครจะมาเป็นประธานกมธ.ชุดดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องของสภาต้องไปว่ากัน และถึงแม้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิป รัฐบาลจะยังแบ่งรับแบ่งสู้ ระบุเป็นอำนาจหน้าที่กมธ.จะคัดเลือกกันเอง
จังหวะนี้เองที่ชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา จากพลังประชารัฐ โผล่ขึ้นมาเป็นแคนดิเดต
กระทั่งถูกคนในพรรคที่เล็งตำแหน่งนี้ไว้เหมือนกันดักคอ เชื่อว่านายสุชาติ ซึ่งเป็นถึงรองประธานสภา คงไม่ลดระดับลงมาเป็นประธานกมธ.
ล่าสุดนายสุชาติออกมาปฏิเสธว่าไม่สนใจเป็นประธานกมธ. ที่มีชื่อโผล่ขึ้นมา เป็นเพียงการพูดคุยกันของคนในพรรค แต่ไม่ใช่ข้อสรุป ทั้งยังกล่าวสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุที่คนในพรรคพลังประชารัฐเสียงแข็ง ต้องการยึดเก้าอี้ประธานกมธ.ชุดนี้ไว้กับตัวเอง
เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่แรก ตามที่แกนนำพรรคบางคนเคยประกาศว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ "ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา"
และถึงกมธ.ชุดนี้จะไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตั้งขึ้นเพียงเพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีแก้ไข แต่การเตะสกัดจำเป็นต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ก้าวแรก
การส่งคนเข้ามายึดเก้าอี้ประธานกมธ. พลังประชารัฐเชื่อว่าจะทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายคุมเกม ไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทบไปถึงผลประโยชน์รูปแบบต่างๆ ที่ตนเองเคยได้รับจากรัฐธรรมนูญ
ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ ที่ขณะนั้นมีนายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค
จึงเห็นได้ว่าประชาธิปัตย์จริงจังต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญขนาดไหน อาจพอๆกับฝ่ายค้านเสียด้วยซ้ำ
ต่างจากพลังประชารัฐที่ไม่ต้องการให้เกิดการแก้ไข ถึงจะถูกกระแสกดดันจนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ต้องสร้างอุปสรรคทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จากนี้ต่อไปต้องลุ้นว่านายอภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์ จะช่วงชิงการนำแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์จุดยืนที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้หรือไม่ หลังจากส่งนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ วิปพรรคไปเจรจากับวิปรัฐบาลและพลังประชารัฐ ขอให้เปิดทาง
ส่วนพลังประชารัฐ ก็ต้องดูว่าจะยอมหมอบให้ประชาธิปัตย์ขึ้นขี่หลังอีกหรือไม่
เพราะต้องไม่ลืมว่าจบจากเรื่องตั้งกมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังมีศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 18-20 ธ.ค. ตามที่ฝ่ายค้านล็อกโปรแกรมไว้แล้ว จังก้ารออยู่ ถ้าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญรัฐบาลจบปัญหาได้ไม่สวย ถึงสิ้นปีมีสิทธิ์อวสานได้เหมือนกัน