ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่รับคำร้อง” บิ๊กตู่ ปมถวายสัตย์ฯ แจง ไม่มีอำนาจ
เนื่องจากเห็นว่า แม้นายภานุพงศ์ จะอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47(1) บัญญัติว่า "การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) การกระทำของรัฐบาล" และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า "... ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา" ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 61 มาตรา 47(1) ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสามได้
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน
และต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
ส่วนคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้นเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า เป็นเพียงกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องไม่กระทำการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และมาตรา 162 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย
โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 61 มาตรา 7 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับ
คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป