กกต.หน้าแตกยับ ศาลฯ ชี้ย้ายสมัครข้ามเขตผิดกม.เลือกตั้ง!
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 เมษายน 2549 23:12 น.
ศาลฎีกาตบหน้า กกต. ฉาดใหญ่ ชี้ปล่อยผู้สมัครย้ายข้ามเขตฯ ผิดพ.ร.บ.เลือกตั้ง ด้านเลขาฯ กกต. สั่ง ผอ.กต.เขต ยื่นร้องศาลฎีกาขอเพิกถอนผู้สมัคร ส่งผลเลือกตั้ง 23 เม.ย. ทรท.ต้องแข่งกับตัวเองเพิ่มเป็น 24 เขต 4 อรหันต์ประชุมทางโทรศัพท์อีก ออกมติเปิดรับสมัคร 7 เขตสงขลาใหม่ 19-20 เม.ย. อ้างผลสอบ มีขัดขวางข่มขู่พรรคเล็กสมัครไม่ได้ ด้านผู้สมัคร ปชท. เขต 1 นครศรีธรรมราช ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค พิสูจน์ตัวไม่ได้รับจ้าง 2 พรรคใหญ่ลงสมัครตามที่ถูกชาวนครฯ รุมด่า
วันนี้ (18เม.ย.) นายสมจิตร์ ทองศรี ผู้ช่วยผู้พิพากษาในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับคดีเลือกตั้ง ส.ส. เปิดเผยว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากรณีผู้ยื่นสมัครลงรับเลือกตั้งรอบใหม่วันที่ 23 เม.ย. ที่ผอ.กต.เขตไม่ประกาศรับรองให้เป็นผู้สมัครฯ รวม 10 เรื่อง
ผลของคำพิพากษา ศาลฯ ได้สั่งให้ ผอ.กต.เขตรับเป็นผู้สมัคร 1 ราย คือ นายอ้วน เจียรบุตร จากพรรคเพื่อนเกษตรไทย เขต 1 จ.ยะลา เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายอ้วนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเกินกว่า 1 พรรค โดยได้ลาออกจากพรรคการเมืองอื่น และมาสังกัดพรรคเพื่อนเกษตรกรไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 49 จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้งจึงถือว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียวครบ 90 วัน
ส่วนอีก 9 ราย ศาลได้พิพากษายกคำร้อง โดยในจำนวนนี้ 2 ราย คือ นายพันธมิตร ดวงทิพย์ จากพรรคแผ่นดินไทย ที่ยื่นสมัครในเขต 3 นครศรีธรรมราช เนื่องจากศาลฎีกายืนตามความเห็นของ ผอ.กต.เขต ไม่รับเป็นผู้สมัคร เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายพันธมิตร มีชื่อเป็นผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรคแผ่นดินไทย และขณะนี้กกต.ยังไม่ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จึงยังถือว่าความเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของนายพันธมิตรยังคงอยู่ เมื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งใน เขต 3 เท่ากับว่า พรรคแผ่นดินไทยส่งผู้สมัครเพียงคนเดียวใน 2 ระบบ ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามในมาตรา 30 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. .ส.ว.
และ กรณีนายอาคม หญีตน้อย จากพรรคเพื่อนเกษตรไทย ที่ยื่นสมัครในเขต 1 ชุมพร เนื่องจากศาลฎีกายืนตามความเห็นของ ผอ.กต.เขต ที่ไม่รับเป็นผู้สมัคร เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายอาคม มีชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 ในเขตชุมพร ซึ่งเมื่อปิดรับสมัครเลือกในวันที่ 9 มี.ค. กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 จ.ชุมพร เท่ากับว่ากระบวนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งที่ 2 ยังไม่เสร็จสิ้น และถ้ากกต.สั่งให้ใบเหลืองในเขตเลือกตั้งดังกล่าว นายอาคมก็ยังมีสิทธิเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งที่ 2 จึงถือว่านายอาคม ยังเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตที่ 2 อยู่ ดังนั้นการที่นายอาคม มาลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 1 จึงเท่ากับว่าพรรคเพื่อนเกษตรไทย ส่งผู้สมัครคนเดียวใน 2 เขตเลือกตั้ง ถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครในระบบเขตได้คนเดียว ในแต่ละเขตเลือกตั้ง
ส่วนที่เหลือที่ศาลฎีกายกคำร้องเป็นการยืนตามความเห็นของผอ.กต.เขต ที่เห็นว่าบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติในการสมัครเช่น สังกัดพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน ไม่พบชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด หรือสังกัดพรรคการเมืองเกินกว่า 1 พรรค ประกอบด้วย ร.ท.หยาดพิรุณ ธนูสาย จากพรรคคนขอปลดหนี้ เขต 1 สตูล นายถาวร เพิ่มพูน จากพรรคไทยช่วยไทย เขต 1 ภูเก็ต นายสิทธิชัย สุวรรณดวง จากพรรคคนขอปลดหนี้ เขต 4 สุราษฏรธานี นายวันธงชัย ชำนาญกิจ จากพรรคคนขอปลดหนี้ เขต 6 นครศรีธรรมราช นายนพรุจ ลิ้มประสิทธิ์วงศ์ จากพรรคไทยช่วยไทย เขต 2 นครศรีธรรมราช นายสำราญ ก๋งเม่ง จากพรรคคนขอปลดหนี้ เขต 2 นครศรีธรรมราช และ นายพิเชษฐ์ ดารากัย จากพรรคไทยช่วยไทย เขต 3 นครศรีธรรมราช
นายสมจิตร์ ยังกล่าวด้วยว่า คำพิพากษาของศาลที่มีความเห็นยืนตามผอ.กต.เขต ไม่รับสมัครผู้ที่ย้ายข้ามเขตมาลงสมัครและผู้ที่เคยเป็นผู้สมัครส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อแล้วมาสมัครในระบบเขตจะถือว่าเป็นบรรทัดฐาน ในการพิจารณาคำร้องของผู้ที่ยื่นสมัคร และผอ.กต.เขต ไม่ประกาศให้เป็นผู้สมัครรายอื่น ซึ่งขณะนี้ศาลได้ไต่สวนรับฟังข้อเท็จจริงในคำร้องทีเหลือแล้วทั้งหมด โดยนัดที่จะฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 จำนวน 4 ราย และในวันที่ 21 อีกประมาณ 14 ราย ส่วนผู้ที่ย้ายข้ามเขตมาลงสมัครและผอ.กต.เขตประกาศให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาเช่นนี้ก็ยังสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้เพิกถอนรายชื่อบุคคลนั้นออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ จนถึงวันที่ 21 เม.ย.
เมื่อถามว่า คำพิพากษาดังกล่าวจะมีผลต่อคำสั่งเปิดรับสมัครใหม่ของ กกต.หรือไม่ นายสมจิตร์ กล่าวว่า ศาลฎีกาไม่ก้าวล่วงที่จะไปวินิจฉัยว่า กกต.มีอำนาจที่จะประกาศรับสมัครใหม่หรือไม่ เพราะไม่ใช่อำนาจของศาลฎีกา เรามีอำนาจเพียงวินิจฉัยว่า ผู้สมัคร แต่ละรายมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาที่ออกมาดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นการปฏิเสธการใช้อำนาจ กกต. ที่ก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือเวียนไปยัง ผอ.กต.เขตทุกเขตว่า ผู้ที่ย้ายข้ามเขตมาสมัครไม่ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครเลือกตามมาตรา 107,108,109 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีที่ ผอ.กต.เขต ประกาศให้ผู้ที่ข้ามเขตมาลงสมัครเป็นผู้สมัครนั้น หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วไม่ไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนรายชื่อก็เสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้องในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ใน 39 เขตที่จะเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 23 เม.ย. ปรากฏว่ามี 18 คนที่ ย้ายเขตเพื่อลงสมัครใหม่ โดย 9 คน ผอ.กต.เขตไม่ประกาศชี่อให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วย 1. นายอาคม หญีตน้อย พรรค เพื่อเกษตรกรไทย ย้ายจาก เขต 2 ชุมพร ย้ายมาลง เขต 1 ชุมพร 2.นายกิตติพงษ์ อัฐพร พรรคคนขอปลดหนี้ ย้ายจาก เขต 10 นครศรีธรรมราช ย้ายมาลง เขต 1 นครศรีธรรมราช 3.นายนพรุจ ลิ้มประสิทธิ์วงศ์ พรรคไทยช่วยไทย ย้ายจาก เขต 5 นครศรีธรรมราช ย้ายมาลง เขต 2 นครศรีธรรมราช 4.นายพิเชษฐ์ ดารากัย พรรคไทยช่วยไทย ย้ายจาก เขต 7 นครศรีธรรมราช มาลง เขต 3 นครศรีธรรมราช 5.นายสมยศ ส้มเขียวหวาน พรรคพัฒนาชาติไทย ย้ายจาก เขต 7 นครศรีธรรมราช ย้ายมาลง เขต 6 นครศรีธรรมราช 6. นายยาฮารี จินารงค์ พรรคไทยช่วยไทย ย้ายจาก เขต 3 ปัตตานี ย้ายมาลง เขต 1 ปัตตานี 7.นายนิติธรรมวัฒน์ รัตนสุวรรณ พรรคคนขอปลดหนี้ ย้ายจาก เขต 5 สงขลา ย้ายมาลง เขต 4 สงขลา 8.นายวีรวัฒน์ พรหมคง พรรคประชากรไทย ย้ายจากเขต 5 สงขลา ย้ายมาเขต 3 จ.สงขลา 9 นายเสริมศักดิ์ สัตตบงกช พรรคประชากรไทย เคยลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อมาก่อน แต่ย้ายมาลงที่เขต 8 นครศรีธรรมราช
ส่วนอีก 9 คน ที่ผอ.กต.เขตประกาศรับรองให้เป็นผู้สมัคร ประกอบด้วย 1. นายวิญาสิษฐ์ สุนทรนนท์ พรรคประชากรไทย ย้ายจาก เขต 3 ตรัง ย้ายมาลง เขต 4 ตรัง 2นายภักดี นาบุญ พรรคประชากรไทย ย้ายจาก เขต 7 นครศรีธรรมราช ย้ายมาลง เขต 4 นครศรีธรรมราช ( ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 18 เม.ย.) 3. นายกนก ชิดมาลย์ พรรคประชากรไทย ย้ายจาก เขต 5 นครศรีธรรมราชา ย้ายมาลง เขต 2 นครศรีธรรมราช 4 นายจงรักษ์ พันธรังสี พรรคประชากรไทย ย้ายจาก เขต 10 นครศรีธรรมราชา ย้ายมาลง เขต 3 นครศรีธรรมราช 5 .นายเขมาวุฒิ สุวรรณ์ พรรคพัฒนาชาติไทย ย้ายจาก เขต 1 พัทลุง ย้ายมาลง เขต 2 พัทลุง 6.นายวรพจน์ วิชัยดิษฐ์ พรรคประชากรไทย ย้ายจาก เขต 5 สุราษฎร์ธานี ย้ายมาลง เขต 4 สุราษฎร์ธานี 7. น.ส.สุมิตรา แก้วอินทร์ พรรคคนขอปลดหนี้ ย้ายจาก เขต 1 สุราษฎร์ธานี ย้ายมาลง เขต 6 สุราษฎร์ธานี 8. นายสุพร จันทรแก้ว พรรคคนขอปลดหนี้ ย้ายจาก เขต 5 สุราษฎร์ธานี ย้ายมาลง เขต 3 สุราษฎร์ธานี 9.นายประยูร พูลจันทร์ พรรคพัฒนาชาติไทย ย้ายจาก เขต 10 นครศรีธรรมราช ย้ายมาลง เขต 2 ภูเก็ต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก ผอ.กต.เขตทั้ง 8 เขตไปยื่นขอเพิกถอนรายชื่อผู้สมัคร เนื่องจากการย้ายไปสมัครเขตอื่นเป็นการผิดกฎหมายเลือกตั้งตามแนวคำพิพากษาของศาลฯ ก็จะมีผลให้มีเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว เพิ่มขึ้นอีก 8 เขต คือ เขต 1 ตรัง เขต1, 2 นครศรีธรรมราช เขต 2 พัทลุง เขต 2 ภูเก็ต เขต 3,4,6 สุราษฎร์ธานี โดยเมื่อรวมกับ 16 เขตเดิมที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวคือ เขต 1,3 ชุมพร เขต 4 ตรัง เขต 8 นครศรีธรรมราช เขต 4 นราธิวาส เขต 1 ปัตตานี เขต 1 พังงา เขต 1,2,3,4,6,7,8 สงขลา และเขต 1 สตูล ก็จะมีเขตที่มีผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวรวม 24 เขตเลือกตั้งจาก 40 เขตเลือกตั้ง
วันเดียวกันนายภักดี นาบุญ ผู้สมัครส.ส.เขต 1 นครศรีธรรมราช พรรคประชากรไทย ก็ได้มายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยต่อ กกต. ด้วยเหตุผลว่า ต้องการแสดงออกจุดยืนของตนเอง และพิสูจน์ว่า การสมัครรับเลือกตั้งในครั้งไม่ได้มีการรับจ้างหรือรับเงินจากพรรคไทยรักไทย อย่างที่ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวหา ตนเพียงต้องการเป็น ส.ส. เท่านั้น และยืนยันว่าการลาออกครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไทยรักไทยแต่อย่างใด เป็นการตัดสินใจของตนเองที่ต้องการจะยุติการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน ซึ่งในวันสมัครนั้นตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วนความสมบูรณ์ทุกประการ แต่การลาออกนี้ได้รับการเซ็นอนุมัติจากทางหัวหน้าพรรคแล้ว
ทั้งนี้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายภักดี ลงสมัครใน เขต 7 จ.นครศรีธรรมราช แต่แพ้การแข่งขันกับพรรคไทยรักไทย จึงได้ย้ายมาลงสมัครในเขต 1 นครศรีธรรมราชแทน
มติโทรศัพท์ รับสมัคร 7 เขตสงขลาอีกรอบ
ด้าน พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต. แถลงภายหลังการประชุมกกต. วันนี้ (18เม.ย.) ว่า กกต.มีมติให้เปิดรับสมัคร เพิ่มเติมใน 7 เขตเลือกตั้งของ จ.สงขลา ในวันที่ 19-20 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.ที่ห้องยุทธการกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 43 ค่ายรามคำแหง เนื่องจากการสอบสวนของอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง พบว่า ในระหว่างการรับสมัครวันที่ 8-9 เม.ย.นั้น มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน กระทำการในลักษณะขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง โดยวิธีโห่ ฮา ด่าทอผู้สมัครด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ รวมทั้งได้มีการป่าขวดน้ำพลาสติก และฉุดกระชากผู้สมัครบางคน กกต.จึงได้ออกมติดังกล่าว โดยให้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติ 1 วัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 เม.ย.ก็จะมีการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวเหมือนเดิม
เมื่อถามว่า ถ้ามีการปิดกั้นขัดขวางทำไมในการรับสมัครวันที่ 8-9 เม.ย.จึงมีผู้สมัครพรรคเล็กบางพรรคลงสมัครได้ พล.ต.ต.เอกชัย กล่าวว่า ผลการสอบสวนที่ออกมามีหลักฐานยืนยันว่ามีการปิดกั้น และแม้บางคนที่สมัครได้แล้วก็ยังถูกข่มขู่ ซึ่งการตัดสินใจเปิดรับสมัครเพิ่มเติมก็ไมได้ล่าช้า เพราะ กกต.ต้องไปหาหลักฐานและพยานประกอบ โดยต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบในจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
ส่วนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ย้ายเขตมาลงสมัครเป็นผู้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครนั้น กกต.รับทราบ และได้สั่งการให้สำนักงานเลขาธิการทำบันทึกแจ้งไปยัง กกต.จังหวัดและผอ.กต.เขต เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาขอเพิกถอนรายชื่อการเป็นผู้สมัครที่ย้ายข้ามเขต โดยให้ดำเนินการยื่นเรื่องในวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งจะมีผู้สมัครที่ผอ.กต.เขตต้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนประมาณ 9 คน และจะมีผลให้เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียวเพิ่มเป็น 24 เขตเลือกตั้ง
เลขากกต. ยังปฏิเสธว่า คำพิพากษาของศาลไม่ได้เป็นการชี้ว่าการใช้ดุลยพินิจของ กกต.ผิดพลาด เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ได้หารือกันไว้ก่อนแล้วว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น ถือเป็นกรณีใหม่ กฎหมายก็ไม่มีบัญญัติ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาอย่างไร กกต.ก็จะดำเนินการตามนั้น
เมื่อถามอีกว่า วันนี้กกต.เข้าประชุมครบหรือไม่ เลขาธิการ กกต.ยอมรับว่า เป็นการประชุมเพียง 3 คน และเมื่อจะมีมติจึงได้โทรไปขอความเห็นชอบกับกกต.อีก 1 คน เมื่อถามว่า กกต.มี 3 คนจะอ้างว่าเป็นองค์ประชุมได้อย่างไร เลขาฯ กกต.ตอบว่าได้ เป็นเพราะเป็นเหตุจำเป็นกรรมการอีกท่านติดราชการสำคัญ สรุปแล้วเป็นมติเวียนกกต.ทำอย่างนี้มาตลอด ถ้ากรรมการติดราชการ ซึ่งคุณจะไปนับเหมือนสภาไม่ได้ ที่จะต้องมานั่งประชุม ครม.ก็ยังใช้วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้ และกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามเอาไว้ว่า กกต.จะประชุมแบบไหน
ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงความถูกต้องขององค์ประชุมและความรอบคอบของการลงมติ พล.ต.ต.เอกชัยก็ได้ตัดบท โดยระบุว่าจะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะกรรมการแต่ละคนเมื่อเป็นมติก็ต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามสำหรับการประชุมก็มีบันทึกการประชุมทุกครั้ง ถึงแม้จะมีการประชุมทางโทรศัพท์ก็ตาม ถือว่ามติเป็นบันทึกการประชุม
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ กกต.ที่ขาดประชุมในวันนี้ ( 18 เม.ย.) ได้แก่ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ที่ติดภารกิจรับ กกต.นานาชาติที่มาสังเกตการเลือกตั้ง ส.ว. อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการเลือกตั้งมานั้น กกต.อยู่ครบองค์ประชุมน้อยมาก แทบไม่ได้ประชุมอย่างเต็มรูปแบบเลย