มาชินโจมตีศาลฝ่ายตุลาการรับใช้อำนาจเผด็จการ หรือว่าจะให้แผ่นดินลุกเป็นไฟและพินาศบรรลัย
27 เม.ย.62-นายนคร มาฉิม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าอำนาจตุลาการของไทยเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายเผด็จการและเป็นเครื่องจักรสังหารฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่
ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 สงครามการแย่งชิงอำนาจปกครองประเทศของ 2 ระบอบ คือ ประชาธิปไตย กับ เผด็จการ มีการต่อสู้กันต่อเนื่องยาวนานถึงวันนี้
อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติบางยุคสมัยระบอบประชาธิปไตยชนะมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็จะออกกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า สภาเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่ง เขาก็จะออกกฎ กติกา เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายเผด็จการ มีกฎหมายที่ ริดรอน สิทธิเสรีภาพของประชาชน
อำนาจฝ่ายบริหารก็เช่นกัน ช่วงเวลาที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจะใส่ใจดูแลประชาชนมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่ไม่แคร์ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนสงคราม 2 ระบอบผลัดกันแพ้ ชนะล้มลุกคลุกคลานมา 87 ปีแต่ส่วนใหญ่ฝ่ายเผด็จการจะชนะและปกครองประเทศยาวนานมากกว่า
ส่วนอำนาจตุลาการ แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังคงยึดติดกับระบอบเดิมแบบตั้งรับ มีกรอบ วัฒนธรรม แบบอนุรักษนิยมเดิม คนที่ได้ทำงานเป็นตุลาการผู้พิพากษาคดี ได้รับเกียรติสูงในสังคมไทย
แต่ด้วยอำนาจศาลตุลาการไม่ยึดโยงกับประชาชน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเดิม มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้สงครามระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่การถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการเสียดุลไป ฝ่ายตุลาการไม่เคยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเลย ศาลและอำนาจฝ่ายตุลาการกลับไปรับใช้อำนาจเผด็จการ ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจปล้นอำนาจของประชาชนโดยคณะรัฐประหาร ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากการที่ศาลฎีการับรองความชอบธรรมให้คณะรัฐประหารว่า เมื่อยึดอำนาจได้สำเร็จ กฎ กติกา คำสั่งของคณะรัฐประหาร หรือ กฎที่ออกมาจากสภาเผด็จการ ถือเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับคนไทยทุกคน และศาลอื่นๆที่มีขึ้นมาภายหลังก็ยึดถือแนวทางปฏิบัติแบบเดียวกันตลอดมาโดยอำนาจตุลาการไม่ได้คำนึงถึงที่มาว่า อำนาจที่ได้มาจากการยึดอำนาจไม่มีความชอบธรรมมาแต่ต้น ในทางทฤษฎีทางอาญาคณะรัฐประหารก็คือโจรกบฏ เท่ากับว่า ศาลและอำนาจตุลาการ นำเอากฎของโจรกบฏมาใช้เป็นกฎหมายเพื่อกดขี่ข่มเหงปกครองประเทศและประชาชน โดยไม่เคยพิจารณาทบทวนแนวทางที่จะปกป้องคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนเลยจนทุกวันนี้
จากการศึกษาวิเคราะห์ วิจัยในทางวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ มีความเห็นในทิศทางว่า หากเป็นคดีทางการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกกล่าวหา ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ศาลและกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเเบบมีอคติ มองนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเลวร้าย พิจารณาพิพากษาเพื่อทำลายฝ่ายประชาธิปไตย สกัดกั้นการเติบโตฝ่ายประชาธิปไตย เช่นการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ และอีกหลายๆพรรค คดีนักการเมืองเช่น อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรี หรือแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย เช่น นายกทักษิณ นายกยิ่งลักษณ์ จะถูกไล่ล่า ตั้งธงเอาผิดให้จงได้ ทุกวิถีทาง โดยเฉพาะกฎหมายที่ออกมาจากสภาเผด็จการ ที่ให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย หรือแม้เอผิดย้อนหลัง ที่สากลโลกไม่ยอมรับ ขัดกับหลักนิติธรรม ผู้ถูกกล่าวหาฟ้องร้องก็ยากมากที่จะอธิบายให้สังคมเข้าใจ
นักวิชาการหลายคนมองว่าบางคดีควรจะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่จะตัดสินใจให้เป็นไปตามนโยบาย เพื่อพัฒนาประเทศ และ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ เช่นกรณีการที่ธนาคารส่งออกและนำเข้าหรือ Exim Bank ปล่อยกู้ให้ประเทศเมียนม่า เป็นลักษณะการช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และรัฐบาลไทยก็ไม่เสียหาย ได้รับเงินคืนทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ครบถ้วน แต่ก็ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก อดีตนายกรัฐมนตรีถึง 3 ปี จึงเกิดความกังวลใจ ว่าอำนาจฝ่ายตุลาการมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือฝ่ายเผด็จการทำลายฝ่ายประชาธิปไตย ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เจอสภาพการณ์ทำลายทุกรูปแบบมาแล้ว เพราะถือธงนำฝ่ายประชาธิปไตย ที่ลุกขึ้นมาท้าทายระบอบเผด็จการ ธนาธร ปิยบุตร และอีกหลายคนกำลังประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน
ส่วนฝ่ายเผด็จการที่ปล้นอำนาจยึดอำนาจประชาชนไป ส่วนใหญ่จะนิรโทษกรรมให้ตัวเองและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อการยึดอำนาจ การบริหารประเทศไม่ว่าจะเกิดความเสียหายมากเพียงใด เช่น นายพลบางคนที่อ้างว่าแหวนเพชรเป็นของมารดา นาฬิกา 25 เรือนยืมเพื่อนที่ตายแล้วมาใส่ หรือแม้แต่การถูกตั้งคำถามว่ามีเงินซุกซ่อนในประเทศสิงคโปร์ มากถึง 75,000 ล้านบาท ก็ไม่มีใครกล้าพูดถึง ต่างขลาดกลัว สยบยอมก้มหน้ารับชะตากรรมกันหมด แม้แต่สื่อเองก็ขลาดกลัวที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว
ศาล และกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงถูกสังคมโลกมองว่า ไม่มีความเป็นธรรม มีอคติกับนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการ เป็นเครื่องจักรสังหารนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ทำลายพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรับใช้เผด็จการมาตลอด จนทุกวันนี้
ความสงสัยนี้จึงนำมาซึ่งความเสื่อม ความไม่ไว้วางใจ ไม่ยอมรับ คำพิพากษาของศาล ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อย
ศาล และกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงต้องพิสูจน์ตัวเอง ให้ได้ว่า การพิจารณาพิพากษาคดีนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มีอคติไม่เป็นเครื่องมือฝ่ายเผด็จการเพื่อใช้กฎหมายทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วนำความเชื่อมั่น ศรัทธากลับคืนมา หรือว่าจะให้แผ่นดินนี้ต้องลุกเป็นไฟ และพินาศบรรลัย เพราะศาลและกระบวนการยุติธรรม ไร้ความยุติธรรม เป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการ ใช้กฎหมายทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม อันจะเป็นชนวนกลียุคจากอำนาจตุลาการที่เปลี่ยนตัวเองมารับใช้เผด็จการเสียแล้ว