ผู้สมัครส.ส. แห่เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ทำแบบนี้หวังอะไร!
"เพราะคนส่วนใหญ่ รู้จักชื่อนี้และรักคนนี้" เป็นคำตอบที่ จ.ส.ต. ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ หรือจ่าประสิทธิ์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ อดีต ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาพาภรรยาที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นางยิ่งลักษณ์ (นิภาพร) ไชยศีรษะ และน้องสาว น.ส.ยิ่งรัก (เกษราภรณ์) ไชยศีรษะ ผู้สมัคร ส.ส. จ.สุรินทร์ เขต 6 และเขต 1 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ ณ ที่ว่าอำเภอสังขะ จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2561
"ผมเป็นคนคิดเอง เป็นต้นฉบับของผู้สมัครคนอื่นที่เปลี่ยนตามผมหมด พอผมเปลี่ยนเสร็จปุ๊บ ผมส่งข้อมูลเข้าในไลน์ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทุกคนคิดว่าไอเดียผมดีมาก เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัคร คิดว่าชาวบ้านจำได้ จำเร็ว" จ.ส.ต. ประสิทธิ์ ระบุกับบีบีซีไทย ถึงที่มาของปรากฏการณ์นี้
จ่าประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตอนไปเปลี่ยนชื่อนั้น ไม่ได้แจ้งเจ้าของชื่อ รวมทั้งพรรค เขายังปฏิเสธว่าจะสื่อว่าผู้สมัครอยู่พรรคของอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อให้คนจำง่าย รู้จักเร็ว เพราะระยะเวลาหาเสียงสั้นมาก แต่การทำการเมืองต้องใช้เวลาสั่งสมนาน "ผู้สมัครหน้าใหม่ยังไม่เคยทำพื้นที่ จึงต้องมีเทคนิคในการทำให้เป็นที่รู้จัก"
"ตอนแรกผมลงพื้นที่ 4-5 หมู่บ้าน เรียกชาวบ้านรวมกันเพื่อฟังปราศรัย มีคนมาฟังร่วมร้อย ผมพูดชื่อเมียหลายรอบมาก พอสุดท้ายเมื่อจบการปราศรัย ผมถามชาวบ้านว่า ใครจำชื่อว่าที่ผู้สมัครได้ยกมือขึ้น จากคนร่วมร้อยจำได้แค่ 3-4 คน มันไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว จึงกลับบ้านมานอนคิดว่าทำยังไง คนถึงจะจำได้เร็วขึ้น" อดีต ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์
เมื่อถามว่าเมื่อจบฤดูกาลเลือกตั้งจะพาภรรยาไปเปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ชื่อเดิมหรือไม่ จ่าประสิทธิ์ กล่าวว่า "จะใช้ชื่อนี้ตลอดชีวิต" เขายังได้เล่าอีกว่า "ยังพูดกับเพื่อน ๆ เลยว่า ผมจ่าประสิทธิ์ ถ้าไม่ดัง คงจะเปลี่ยนเป็นทักษิณเหมือนกัน ผมเองอยากจะเปลี่ยนเป็นทักษิณ แต่ตอนนี้ คนรู้จักจ่าประสิทธิ์แล้ว"
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ เปิดเผยว่า ผู้สมัครแต่ละพื้นที่สามารถทำได้ และเป็นสิทธิส่วนบุคคลเพื่อลงสู่สนามการเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้มีผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค เปลี่ยนเป็นชื่อของสองอดีตนายกฯ ทั้งหมด 15 คน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี เชียงใหม่ แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน นครราชสีมา และสุรินทร์ โดย จ.นครราชสีมา เปลี่ยนชื่อมากที่สุด 4 คน
บีบีซีไทยเข้าใจว่า กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และมีความทับซ้อนกับฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย (พท.) ทำให้พรรคเพื่อชาติต้องออกมาย้ำจุดขายของตัวเอง เช่น "เป็นพรรคของคนเสื้อแดงตัวจริง" หลังแกนนำ นปช. บางส่วนย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ขณะที่บางส่วนก็ยังอยู่ พท. มาถึงการเปลี่ยนชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก็น่าจะเป็นอีกกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อสร้างการจดจำในหมู่ประชาชน
นปช. ปีก ทษช. ชี้ "โหนทักษิณ" เพราะกระแส จตุพร ไม่พุ่ง
ขณะที่นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และแกนนำ นปช. วิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อชาติอาจเห็นในกระแสนิยมในตัวนายทักษิณ และ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ยังมีอยู่สูง และลำพังกระแสนิยมในตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ แม้มีคนเสื้อแดงนิยมชมชอบ แต่อาจไม่เพียงพอ จึงต้องหันไป "โหนทักษิณ" แต่เชื่อว่าจะส่งผลต่อความคิดของประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
"มันไม่ใช่เรื่องจู่ ๆ มาเปลี่ยนชื่อ ดูแล้วมัน... (เอามือชี้ที่ศีรษะ) น้อยไปไหม มันจะทำให้การเลือกตั้งดูด้อยค่าลงหรือเปล่า อันนี้ต้องคิดด้วยนะ" แกนนำ นปช. กล่าว
ก่อนหน้านี้ ทษช. ก็ถูกวิจารณ์เรื่องการคิดชื่อย่อพรรคก่อนชื่อจริง โดยใช้คำย่อว่า "ทษช." ซึ่งมีการกล่าวกันว่ามาจาก "ทักษิณ ชินฯ" หรือ "ทักษิณชัวร์" สื่อถึงความเป็นพรรคทายาทของนายทักษิณ และมีหลาน ๆ ตระกูลชินวัตรไปเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย
หลาน "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ปลื้มใจคนยังศรัทธาอดีตนายกฯ
เกี่ยวกับปรากฏการณ์เปลี่ยนชื่อเป็น "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ของผู้สมัคร ส.ส. นับสิบคนนี้ หลานสาวของอดีตนายกฯ น.ส. ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียน ทษช. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ส่วนตัวทราบปรากฏการณ์นี้จากสื่อมวลชนที่รายงานข่าว แต่คิดว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะตัดสินใจบนพื้นฐานนโยบายที่พรรคต่าง ๆ นำเสนอแล้วทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ มากกว่าการคิดเรื่องตัวบุคคล
"เรารู้สึกปลื้มใจที่ลุง (นายทักษิณ) กับน้า (น.ส. ยิ่งลักษณ์) ยังเป็นที่รักและคิดถึงของประชาชน เพราะตัวเราเองก็คิดถึงท่านมาก" และ "ผู้สมัครที่เปลี่ยนชื่อมาใช้ชื่ออดีตนายกฯ ทั้ง 2 คน อย่างน้อยเขาก็ต้องเคารพท่าน และศรัทธาในสิ่งที่ท่านเคยทำ เพราะชื่อเป็นสิ่งที่เราถูกเรียกตลอด คงไม่ใช่การเปลี่ยนชื่อเพียงเพราะต้องการได้เป็น ส.ส."
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ห้ามคนนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของพรรค โดยมีโทษถึงขั้น "ยุบพรรค" และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ออกมาเน้นย้ำเรื่องการห้ามขึ้นภาพถ่ายนายทักษิณ และ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ควบคู่กับผู้สมัคร จึงมีนักวิเคราะห์การเมืองตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อชาติเลือกใช้กลยุทธ์เปลี่ยนชื่อเพื่อหนีข้อจำกัดทางกฎหมายหรือไม่
นักรัฐศาสตร์ชี้ มีผลน้อยต่อการตัดสินใจของชาวบ้าน แต่มีผลบ้างในเชิงขวัญกำลังใจ
ด้าน ดร. บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า วิธีการนี้ไม่น่าจะช่วยให้ผู้สมัครได้คะแนนเสียง เป็นเทคนิคการหาเสียงที่ถือเป็น "สีสันทางการเมือง" อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ "มีผลบ้างเล็กน้อยในเชิงขวัญกำลังใจ" แต่การใช้บัตรใบเดียวในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้ชาวบ้านพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เยอะขึ้น
"ผู้สมัครอาจคิดว่ามีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน แต่ผมคิดว่ามีบทบาทน้อยมาก" นักวิชาการรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหงกล่าวกับบีบีซีไทย
"เป็นจุดขายของผู้สมัครที่อาจไม่มีความโดดเด่นของตนเอง คนเหล่านี้เลยคิดว่าปัจจัยของการเปลี่ยนชื่ออาจช่วยได้ แต่ว่า ชาวบ้านฉลาดกว่านั้นเยอะ"
ดร. บุญเกียรติ ชี้ว่า "ในข้อเท็จจริงชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนยังขายได้ในทางการเมือง" แต่ประชาชนตัดสินใจเลือก ไม่ได้เลือกเพราะชื่อ แต่เลือกเพราะนโยบายของพรรคที่ผู้สมัครสังกัดจริง ๆ ซึ่งเขาเห็นว่า พรรคการเมืองก็ใช้นโยบายในอดีตของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการหาเสียงในพื้นที่อยู่แล้ว
"ผมมองว่าเป็นสีสันทางการเมืองเท่านั้นเอง แต่ผมไม่คิดว่าการเปลี่ยนชื่อจะมีผลต่อชาวบ้าน... เวลาชาวบ้านเขาตัดสินใจเขาอยู่ในยุคประเทศไทย 4.0 เขาดูรู้ว่า อันไหนเป็นพรรคหลัก พรรครอง" ดร. บุญเกียรติ กล่าวกับบีบีซีไทย
กกต. จับตาเปลี่ยนชื่อเป็น "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ได้หรือเสียคะแนน
ทว่าบรรดาผู้มีอำนาจต่างไม่ปิดกั้นการเปลี่ยนชื่อเป็น "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" เพราะเห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทำได้ตามกฎหมาย นายณัฏฐ์ เล่าสีสวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่าชื่อทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ชื่อต้องห้าม ก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหา ถือเป็นสีสันทางการเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่จะสร้างสรรค์จริงหรือไม่ ประชาชนจะตัดสินเอง
"เชื่อว่าประชาชนจะจับตาดู ก็ต้องรอดูว่าเปลี่ยนชื่อแล้วจะได้คะแนนหรือเสียคะแนน" รองเลขาธิการ กกต. กล่าว