ปชป.แฉอดีต ผอ.ทศท.มีเอี่ยวหุ้นเจ๊แดง-ชงสตง.เชือดพรุ่งนี้

ปชป.แฉอดีต ผอ.ทศท.มีเอี่ยวหุ้นเจ๊แดง-ชงสตง.เชือดพรุ่งนี้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 เมษายน 2549 19:40 น.

อลงกรณ์ พลบุตรเดินหน้าสอบทรัพย์สิน เยาวภา แฉ เปลี่ยนชื่อจากชินณิชา วิลล์ เป็นเบฟเวอรี่ฮิลล์ในวันยุบสภา พร้อมโอนหุ้นโดยมีอดีตผอ.องค์การโทรศัพท์ร่วมอยู่ด้วย เชื่อโยงใยกลุ่มการเมืองและใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์พวกพ้อง เตรียมส่งเรื่องแถมพ่วงโครงการฉาวคอมกฟภ. ให้คุณหญิงจารุวรรณลงดาบพรุ่งนี้(17เม.ย.) ชี้หากเข้าข่ายผิดกม.ยึดทรัพย์ได้ทันที

วันนี้(16 เม.ย.)นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการตรวจสอบพฤติกรรมการร่ำรวยผิดปกติของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กรณีของหมู่บ้าน ชินณิชา วิลล์ พบว่า มีประเด็นที่ต้องตรวจสอบต่อไป คือ ธนาคารใดเป็นผู้ให้สินเชื่อในการซื้อบริษัท การ์เด้น ซิตี้ ลากูน จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.) ในวงเงิน 800 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผลประกอบการของบริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในปี 2543 ขาดทุน 113 ล้านบาท ในปี 2544 ขาดทุน 100 ล้านบาท และปี 2545 ขาดทุน 99 ล้านบาท รวมขาดทุน 3 ปีกว่า 300 ล้านบาท แต่ในปี 2546 ปรากฎว่า กลับมีการใช้วงเงินจำนวน 800 ล้านบาทในการเข้าไปซื้อโครงการดังกล่าวจากบริษัทการ์เด้น ซิตี้ ลาร์กูน แล้วเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น ชินณิชา วิลล์

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากตรวจสอบยังพบว่า เพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อจาก ชินณิชา วิลล์ เป็นเบฟเวอรี่ฮิลล์ ในวันที่มีการยุบสภา คือวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและกรรมการชุดใหม่ โดยมีอดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) และประธานบริษัทหนึ่งที่ชนะโครงการประมูลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงิน 7,000 ล้านบาท คือ โครงการโซลาร์ โฮม เป็นกรรมการด้วย ซึ่งการโยงใยของกลุ่มการเมือง กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มอดีตข้าราชการที่เข้าไปอยู่ในบริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จะได้มีการตรวจสอบถึงความโยงใยในเชิงทุน เชิงการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อนำไปประกอบสำนวนพฤติกรรมความร่ำรวยของนางเยาวภาต่อไป

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ตนจะเดินทางไปยื่นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการประมูลเช่าซอฟท์แวร์สำเร็จรูปของ กฟภ. ต่อคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยจะเสนอหลักฐานข้อเท็จจริง เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำผิด พ.ร.บ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ กฎหมายป้องกันการฮั้ว รวมถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ด้วย โดยมี 2 ประเด็น คือ พฤติกรรมการใช้อำนาจรัฐในการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจ ซึ่งโยงใยไปถึงเครือญาติของนายกรัฐมนตรี โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงการ ซึ่งเดิมจะมีการจัดซื้อโดยใช้วงเงินงบประมาณไม่เกิน 700 ล้านบาทมาเป็นการเช่า ที่ใช้วงเงินถึง 3,192 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และพฤติกรรมความไม่โปร่งใสในการประมูล โดยมีบริษัทที่เข้าประมูลในครั้งนี้จำนวนหลายบริษัท แต่ทุกรายตกในขั้นตอนของเทคนิค เหลือเพียงกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าบริษัทเดียว ซึ่งญาติของนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมประมูลในนามของบริษัทโทเทิลเน็ต ร่วมกับบริษัทซีเมนต์และบริษัทไอบีเอ็ม ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายป้องกันการฮั้ว

สำหรับเอกสารที่นำไปมอบให้กับ สตง. คือ เอกสารการประมูลรวมทั้งรายละเอียดทั้งหมดในขั้นตอนการให้คะแนนทางเทคนิค ที่บริษัทที่มีชื่อเสียงในระดับโลกตกไปหมด อีกทั้งยังปรากฎข้อเท็จจริงว่า ตามข้อสัญญาผู้ชนะการประมูลจะต้องติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ให้กับกฟภ. ภายใน 3 ปี ซึ่งได้ติดตั้งอย่างเร่งรัดเสร็จสิ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาระบบดังกล่าวมีปัญหา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของ กฟภ.ในการเก็บค่าไฟฟ้าจากลูกค้า 12 ล้านราย จากทั่วประเทศ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์