ศาลแพ่งสั่ง ธรรมกายคืนเงิน สหกรณ์คลองจั่น 58 ล้าน!!

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ที่พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำกัด (มหาชน) จำนวน 25,597,194.91 บาท , เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,257,934.88 บาท ชื่อบัญชี "วัดพระธรรมกาย"
และเงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 1,651,227.42 บาท กับเงินในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำนวน 17,263,081.04 บาท ชื่อบัญชี "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส" พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน

ศาลแพ่งสั่ง ธรรมกายคืนเงิน สหกรณ์คลองจั่น 58 ล้าน!!

โดยคดีนี้ "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" ในฐานะ ผู้คัดค้านการยึดทรัพย์ที่ 1 ได้ระบุว่า "นายศุภชัย ศรีศุภอักษร" อดีต ปธ.สหกรณ์ฯ สั่งจ่ายเงินที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งได้มาจากการรับฝากเงิน สะสมหุ้น และดอกผลจากการประกอบธุรกิจของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โดย "สหกรณฯ ผู้คัดค้านที่ 1" เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของนายศุภชัย จึงขอให้เงินฝากในบัญชีดังกล่าว ให้ตกกับสหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วน "วัดพระธรรมกาย" และ "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ" ในฐานะเจ้าของบัญชี เป็นผู้คัดค้านที่ 2-3 ก็ได้คัดค้านทำนองว่า ไม่เคยทราบหรือเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจการของ"สหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1" ผู้บริจาค

โดย "นายศุภชัย" อดีต ปธ.สหกรณ์ฯ บริจาคให้ "วัดพระธรรมกาย" ผู้คัดค้านที่ 2 และ "พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย" โดยสมัครใจ เปิดเผย และไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 รับเงินหรือเช็คจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์โดยสุจริต และนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 และ "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ" ผู้คัดคัานที่ 3 ใช้ในการกุศลสาธารณประโยชน์และสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ทางพุทธศาสนาจนหมดสิ้น ส่วนเงินที่เหลือในบัญชีล้วนเป็นของผู้บริจาคอื่น และไม่เคยร่วมกับนายศุภชัยกับพวกโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือกำไรทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากเคารพศรัทธาต่อผู้คัดค้านที่ 2-3 จึงบริจาคทรัพย์สินบำรุงส่งเสริมและจรรโลงพุทธศาสนา เงินในบัญชีจึงเป็นเงินบริจาคที่ได้รับมาโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้อง

ทั้งนี้ิ "ศาลแพ่ง" พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า "นายศุภชัย" อดีต ปธ.สหกรณ์ สั่งจ่ายเช็คของสหกรณ์ฯ ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 27 ฉบับ รวม 1,458,560,000 บาท เป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน มีลักษณะเป็นปกติธุระ จึบเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยักยอกที่เกิดขึ้นอันเป็นความผิดมูลฐาน และเมื่อมีความผิดมูลฐานเกิดขึ้น พนักงานอัยการิย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตกเป็นของแผ่นดิน

โดย "วัดพระธรรมกาย" และ "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ" ผู้คัดค้านที่ 2-3 ยังกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการรายงานการทำธุรกรรมเป็นระยะเวลาหลายปีหลายครั้ง ส่อแสดงให้เห็นว่ากระทำเพื่อปกปิดลักษณะที่แท้จริงของแหล่งที่มาของเงิน เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเกิดขึ้น

ประกอบกับ "พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย" อดีตเจ้าอาวาสวัด ได้แต่งตั้ง "นายศุภชัย" อดีต ปธ.สหกรณ์ เป็นไวยาวัจกรของ "วัดพระธรรมกาย" ผู้คัดค้านที่ 2 ด้วย จึงเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เกี่ยวข้องกับนายศุภชัย และ "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ" ผู้คัดค้านที่ 3 เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายศุภชัย ผ่านทางพระราชภาวนาวิสุทธิ์

พฤติการณ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างกัน ที่มีมากกว่าเพียงการศรัทธาของบุคคลทั่วไป อีกทั้ง "วัดพระธรรมกาย" และ "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ" ผู้คัดค้านที่ 2-3 ไม่มีหลักฐานความสำเร็จในการประกอบธุรกิจของ "นายศุภชัย" ที่เป็นรูปธรรมอันจะพิสูจน์ได้ว่า นายศุภชัยบริจาคเงินเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับฐานานุรูป จึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 -3 รับโอนเงินโดยสุจริตและตามสมควรในทางกุศลสาธารณะ

ส่วนที่อ้างว่านำเงินไปใช้ในการกุศลสาธารณะนั้น "ศาลแพ่ง" เห็นว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีทั้งเงินที่ถูกยักยอก ใช้ในการฟอกเงิน และเงินบริจาคจากผู้อื่นปะปนระคนกัน ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 2 - 3 จะอ้างไม่ได้ เนื่องจากการใช้เงินดังกล่าวเป็นผลมาจากความไม่สุจริตตั้งแต่ต้น การก่อสร้างศาสนสถานและสถานปฏิบัติธรรมที่ใหญ่โตทั้งที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นเหตุให้ต้องมีกิจกรรมระดมเงินให้ได้จำนวนมาก เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ต้องการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม ด้วยการไม่ให้สามารถนำเงินและทรัพย์สินดังกล่าวมาใช้สนับสนุนการกระทำผิดอื่นได้อีก

กรณีจึงต้องถือว่าเงินที่ยังคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดย "สหกรณ์ฯ คลองจั่น" ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจยื่นคำร้องคัดค้านไม่ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิคนละส่วนกับคดี ที่ "สหกรณ์ฯ" ผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336

"ศาลแพ่ง" จึงมีคำพิพากษาว่า ให้เงินในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 25,597,194.91 บาท และบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย จำนวน 14,257,934.88 บาท พร้อมดอกผล ในชื่อบัญชี "วัดพระธรรมกกาย" ผู้คัดค้านที่ 2

และบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาติ จำนวน 1,651,227.42 บาท กับบัญชี ธ.กรุงไทย จำนวน 17,263,081.04 บาท พร้อมดอกผล ชื่อบัญชี "มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ" ผู้คัดค้านที่ 3 ให้กับ "สหกรณ์ฯคลองจั่น" ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนคำร้องของอัยการ ผู้ร้องนั้นให้ยก

 

ที่มา : คมชัดลึก



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์