"พีเน็ต"ย้ำกกต.ทำผิด 5 ประการ-เลือกตั้งโมฆะ
นายสมชัย ศรีสุทธยากรโดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 เมษายน 2549 14:45 น.
พีเน็ตชี้ความผิดกกต.ทำผิดกฎหมายเพียบทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง รวมทั้งประสิทธิภาพการทำงานก็ห่วยแตก ผ่านการเลือกตั้งมา 12 วันแต่ยังไม่รายงานผลคะแนนให้เป็นปัจจุบัน งงแล้ว"ทักษิณ"เอาตัวเลขมาจากไหนว่าไทยรักไทยได้มาถึง 16 ล้านเสียง ยันเลือกตั้งโมฆะ
วันนี้( 12 เมษายน) นายสมชัย ศรีสุทธยากร กรรมการองค์กรพีเน็ต ที่ติดตามตรวจสอบการเลือกตั้งให้สัมภาษณ์รายการ"สภาท่าพระอาทิตย์" ชี้ให้เห็นว่า จากการตรวจสอบของพีเน็ตมีประเด็นเรื่องการทำผิดกฎหมาย 5 ประเด็นคือ 1. เรื่องของการทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เลือกตั้งที่ไม่เป็นความลับ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคูหาเลือกตั้ง ประเด็นที่ 2 คือผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเรื่องว่าเรื่องของการที่เอารูปผู้สมัครและเบอร์ของผู้สมัครไปติดบนบอร์ด เหนือคูหาเลือกตั้ง เพราะถือว่าเป็น การกระทำให้เป็นคุณให้โทษแก่พรรคการเมือง
สำหรับประเด็นที่ 3 คือผิดคำสั่งศาลปกครองที่เคยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาห้ามมิให้ใช้ตรายางประทับแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งห้ามมิให้ประชาสัมพันธ์ว่าใช้ตรายางประทับได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งถึงขณะนี้ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซด์ของ กกต. ก็ยังรณรงค์แบบเดิม คือทุกครั้งที่เข้าคูหานี่ต้องใช้ตรายางประทับอะไรอย่างนี้เพราะฉะนั้นก็คือยังมีการประชาสัมพันธ์แบบเดิม ก็ถือว่าเป็นการทำผิดคำสั่งของศาลปกครองครับ ส่วนข้อที่ 4 นี่ก็เป็นเรื่องของการทำผิดประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง อันนี้เป็นสิ่งซึ่งน่าแปลกใจมาก เพราะว่าคนที่ลงนามในคำสั่งประกาศก็คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.นั่งเอง
เรื่องของการที่ให้ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลงสมัครส.ส.ระบบเขตได้ หรือเขตหนึ่งสอบตกและก็ย้ายมาลงอีกเขตหนึ่งได้นี่ จริงๆมีประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งลงวันที่ 1 มีนาคม 2549 ครับ ว่าถ้าหากว่าผู้สมัคร ส.ส.นี่เขาพูดถึง 3 กรณีคือ 1. ถ้าลงพรรคลงได้พรรคเดียว อย่างที่ 2 คือถ้าจะลงปาร์ตี้ลิสต์หรือลงเขตนี่ ลงได้เพียงอย่างเดียว อย่างที่ 3 คือถ้าลงเขตใดเขตหนึ่งก็ลงได้เพียงเขตเดียว เพราะฉะนั้นในฐานะที่ว่าการเลือกตั้งยังไม่จบ การจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ สถานะของผู้สมัครในเขตอื่นๆก็ยังคงเดิมอยู่ ยังไม่ได้ทิ้งไป เพราะฉะนั้นจากปาร์ตี้ลิสต์จะมาลงเขตลงไม่ได้ จากเขตหนึ่งจะมาลงอีกเขตหนึ่งคงไม่ได้ ซึ่งตรงนี้นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจว่า ท่านวาสนาเองก็ได้มาให้สัมภาษณ์นี่เมื่อวันที่ 9 เมษายน บอกว่าก็ไม่เห็นมีกฎหมายห้ามไว้ ซึ่งความจริงท่านก็เขียนไว้ชัดเจนโดยตัวของท่านเอง
ส่วนประเด็นสุดท้ายนั้น นายสมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน ยกตัวอย่างเวลาเข้าไปดูข้อมูลผลการเลือกตั้งทั้งหลายที่ กกต.ประกาศ มันจะไม่มีข้อมูลที่ทันสมัยเป็นปัจจุบันกระทั่งวันนี้ก็ตาม เข้าไปในเว็บไซด์ของกรรมการการเลือกตั้ง การแจ้งผลการลงคะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการนี่ บางเขตเลือกตั้งคะแนนไม่มี เป็นศูนย์เต็มไปหมดนะครับ บางเขตเลือกตั้งก็คะแนนไม่ตรง คือเป็นคะแนนเรียกว่าช่วงต้นๆในการนับคะแนนในช่วงแรกๆแค่นั้นเอง คะแนนของปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าแต่ละพรรคมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่ คือเขียนว่าไม่สามารถรายงานผลได้ คะแนนโนโหวตไม่มีบอก บัตรเสียก็ไม่มีบอก เพราะฉะนั้นตรงนี้นี่ผ่านมาถึงวันนี้ วันที่ 12 เมษายนผ่านมาสิบวันแล้ว แต่กกต.ยังไม่มีการประกาศออกมาให้เห็นว่าคะแนนในแต่ละส่วนมันเป็นอย่างไร
ถามว่าแล้วที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เคยนำมาอ้างความชอบธรรมว่า พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกมา 16 ล้านเสียงไปเอามาจากไหน นายสมชัย กล่าวว่า รู้สึกงงเหมือนกัน เพราะเวลานี้แม้แต่ กกต.ยังไม่รู้เลย เพราะยังไม่ประกาศคะแนน
"เวลานี้แม้กระทั่ง กกต.เองเขายังไม่ประกาศคะแนนนะครับ แล้วท่านนายกฯรู้ได้ยังไง เอาตรงไหนมาเป็นข้อกล่าวอ้าง อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งผมก็คิดว่าถ้ามอง 2 แง่นี่ 1. คือท่านนายกฯเอง ท่านมีกลไกของท่านเอง แต่ต้องเป็นกลไกที่แข็งแรงมาก ที่ยิ่งใหญ่มากที่จะรู้ได้ อันที่ 2 คือคนใน กกต.ไปบอกหรือเปล่า" กรรมการพีเน็ตผู้นี้ตั้งข้อสังเกต
นายสมชัย กล่าวว่า เมื่อการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ รวมทั้งมีการกระทำผิดมากมายหลายประการทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ประกาศของกกต.เอง เขาก็ขอเรียกร้องให้กกต.ทั้งคณะเร่งพิจารณาตัวเองได้แล้ว
นายสมชัย ย้ำว่า การเลือกตั้งแบบนี้ไม่สมควรมีมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่มีความชอบธรรม ไม่มีพรรคการเมืองสำคัญลงแข่งขัน อีกทั้งเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในกว่า 40 เขต ก็จะเป็นการเลือกตั้งไม่รู้จับ เพราะมีบางเขตที่ผู้สมัครไม่ได้คะแนนถึง 20 เปอร์เซ็นต์อีก หรือถ้ามีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้เปิดสภาก็จะมีปัญหาขัดกับเรื่องที่เคยตีความกรณีเปิดประชุมวุฒิสภาได้ต้องมี ส.ว.ครบ 200 คนเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและต้องมีคนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วย
"ในฐานะที่ทำให้เกิดปัญหาเกิดขึ้น ก็คงต้องมีคนรับผิดชอบบ้าง ผลเป็นโมฆะแล้วนี่ ถ้าหากเราเร่งนะครับ ผมใช้คำว่าเราเร่งคุยเรื่องกติกา คุยเรื่องของการปฏิรูปทางการเมืองนะครับ เอาเฉพาะประเด็นสำคัญก็พอนะครับ ว่าสิ่งสำคัญต่างๆจะต้องปลดล็อกกันยังไงบ้าง และขอให้มีการล้างไพ่เลือกตั้งใหม่นะครับ จะมีการตั้งพรรคใหม่ จะมีการยกย้ายพรรคอะไรกันนี่ และก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยทุกฝ่ายนี่พอใจในกติกาแล้วลงมาสมัครกันนี่ ผมคิดว่าสภาที่จะเกิดขึ้นหลังจากเสียเวลาในกระบวนการเหล่านี้นี่ ยังจะดูคุ้มค่ากว่าการที่ให้เป็นสภาโจ๊กใช่ไหม ปล่อยให้มีสภาแบบนี้ต่อไปอีกประมาณปีหรือปีกว่า ซึ่งก็ไม่ทราบนะครับว่าจะมีการออกกฎหมายกี่ฉบับ และก็จะมีใครบ้างซึ่งคอยตรวจสอบนะครับว่า การออกกฎหมายต่างๆไปเอื้อประโยชน์แก่ใครอะไรยังไงบ้างนะครับ ผมก็คิดว่าเป็นประเด็นซึ่งผมคิดว่าต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าให้ชั่งน้ำหนัก ณ วันนี้นี่ ผมคิดว่าการเราอาจจะต้องยอมเสียเงิน คือมันไม่ควรเสียเงินตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แต่เมื่อเสียไปแล้วนี่ก็ถือว่าเป็นบทเรียนของความดื้อดึง ของการดึงดันที่จะดำเนินการไปนะครับ" กรรมการพีเน็ตผู้นี้ระบุ