รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนงานและโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น แผนงานยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ปี 2550 ใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาท และปี 2551 ตั้งงบประมาณและได้รับความเห็นชอบแล้ว 15,000 ล้านบาท งบประมาณส่วนนี้จะไปสนับสนุนชุมชนและท้องถิ่น นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีแผนงานและโครงการอีกจำนวนมาก ที่จะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น เชื่อว่าในปี 2551 จะมีการบริหารงานแบบบูรณาการ หากปฏิบัติได้จริง จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณทำได้เร็วยิ่งขึ้น และ กอ.รมน.คงมีงบประมาณจำนวนหนึ่งที่จะดำเนินการได้
ต่อข้อถามว่ารัฐบาลได้วิเคราะห์หรือไม่ว่า เหตุใดประชาชนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์กันไปในมิติของการเมือง วันนี้รัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยดีที่สุด นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ความเห็นของ พล.อ.มนตรี เป็นการสันนิษฐานที่ไปไกลเกินจริง การที่บุคคลในกองทัพเห็นต่างจากรัฐบาล เป็นเพียงการมองปัญหาคนละมุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียวกัน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่น(คมช.) เดินทางไปร่วมพิธีอำลาชีวิตราชการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 โดย พล.อ.สนธิ กล่าวว่าการเดินทางลงพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 วันนี้ไม่เกี่ยวกับผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นการวางแผนล่วงหน้ามาเป็นเดือนแล้ว
ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว วันนี้ จะได้พบแม่ทัพภาคที่ 2 คงจะเล่าให้ฟังว่า มีปัญหาอะไรบ้าง
ไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องของฝ่ายใดทั้งสิ้น เพราะทุกคนพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว ผมถือว่า 14 ล้านเสียงที่ได้มา เป็นเสียงที่บริสุทธิ์ เนื่องจากไม่ได้รณรงค์ให้รับหรือไม่รับ เพราะคณะรัฐมนตรีมีมติให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลาง และเห็นว่าผลการลงประชามติจะไม่ใช่ตัวชี้วัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ประธาน คมช. กล่าวต่อถึงสาเหตุที่ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ยังไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า
เป็นเรื่องที่กองทัพ และ กอ.รมน. จะต้องร่วมกับฝ่ายปกครองเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิและหน้าที่ เพราะประชาชนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ในส่วนของทหารที่ทำงานเกาะติดพื้นที่ จะต้องดำเนินการต่อไป ไม่มีเลิก เพราะเป็นเรื่องของงานความมั่นคง