ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังสาละวนอยู่กับการรณรงค์ เชิญชวนประชาชนให้ไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกแถลงการณ์ข้ามทวีปประกาศว่า ประชาชนคนไทยจะร่วมกันลงประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านคณะรัฐประหาร พร้อมกันนั้นยังยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองและครอบครัว และพร้อมจะเดินทางกลับมาสู้คดีหลังจากการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น
“ทักษิณ” ออกแถลงการณ์เย้ย คมช.
ที่โรงแรมมิราเคล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 ส.ค. นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวชี้แจงว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้เขียนแถลงการณ์ เพื่อเผยแพร่ให้กับสื่อในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในประเทศอังกฤษด้วยข้อความว่า ภายในสองสามวันข้างหน้าคณะรัฐประหารในประเทศไทยจะเพิ่มมาตรการดำเนินการต่างๆ เพื่อทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของผม เนื่องจากคณะรัฐประหารหวาดกลัวว่า ความชื่นชอบของพี่น้องประชาชนที่ยังรักและห่วงใย อาจส่งผลต่อการลงประชามติ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ที่จัดทำโดยบุคคลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง
“ผมไม่ได้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่เคยทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง บรรดาข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อผมและครอบครัว ล้วนเป็นการกล่าวหาที่มาจากมูลเหตุ ทางการเมืองทั้งสิ้น คณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลของผม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาไม่สามารถทำลายความปรารถนาของพี่น้องชาวไทยที่ใฝ่หาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสี” แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณระบุ
มั่นใจอังกฤษไม่ส่งตัว “ทักษิณ” กลับ
แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณยังระบุด้วยว่า “อย่างไรก็ตาม ผมพร้อมที่จะต่อสู้ทุกคดีและทุกข้อกล่าวหา เมื่อมีความมั่นใจว่าผมสามารถจะต่อสู้คดีได้ในกระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ภายใต้การครอบงำและแทรกแซงจากรัฐบาลทหาร ฉะนั้นผมหวังว่าสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศจะเสนอข่าวเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม โดยโปรดระลึกเสมอว่า ผมยังไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดในคดีใดๆ ผมยังเป็นผู้บริสุทธิ์”
นายนพดลกล่าวถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนว่า ไม่ใช่ หน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ โดยมั่นใจว่าหากมีการต่อสู้ทางข้อกฎหมายที่ประเทศอังกฤษเราจะได้รับความยุติธรรมและได้รับความคุ้มครอง ถึงแม้จะมีสนธิสัญญาอยู่ แต่ก็มีข้อยกเว้นในเรื่องคดีการเมืองที่ทางศาลอังกฤษจะให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความไม่ปลอดภัย ขณะนี้ทางอัยการทหารได้ส่งหลักฐานคดีคาร์บอมบ์ฟ้องต่อศาลแล้วจึงมั่นใจว่าจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการพิจารณา ขอย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กระทำผิด ไม่ได้ขลาด จะกลับมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงหลังจากมีการเลือกตั้ง หรือเป็นประชาธิปไตยแล้ว
ไม่มีความคิดที่จะขอลี้ภัยทางการเมือง
นายนพดลกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่อยู่อังกฤษ ได้ ติดตามการทำงานของทนายทั้งของไทยและอังกฤษ มีความมั่นใจว่า ทีมทนายจะสามารถทำงานปกป้อง พ.ต.ท. ทักษิณได้ โดยระหว่างที่มีหมายจับนี้ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังสามารถเดินทางไปประเทศไหนก็ได้ เพราะไม่มีการห้ามไว้ และขอยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่มีความคิดที่จะขอลี้ภัยทางการเมือง สำหรับข้อกล่าวหาฆ่าตัดตอนอันสืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดนั้น ยืนยันว่า อดีตนายกฯไม่เคยกระทำผิด ไม่มีนโยบายไปสั่งฆ่าใคร เราเห็นด้วยที่มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนการฆ่าตัดตอน ที่จริงควรทำนานแล้ว ยอมรับว่าสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่สบายใจ เพราะมีความพยายามเชื่อมโยงเอาผิดทั้งกรณีซีทีเอ็กซ์ 9000 เอ็กซิมแบงก์และทุจริตกล้ายาง
ทีมทนายเตรียมฟ้องหมิ่นดีเอสไอ
นายนพดลกล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ทีมทนายได้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรณีฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมที่ห้ามพนักงานสอบสวน ให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะชี้นำเจาะจงว่าผู้ต้องหามีความผิด รวมทั้งกรณีการให้สัมภาษณ์เปิดเผยสำนวนการสอบสวนต่อสื่อมวลชน นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายหลายล้านบาทด้วย ส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้ มีการเร่งทำสำนวนกันมากต่างจากคดีของ ปรส. ที่ข้าราชการบางคนตั้งตนเป็นพนักงานสอบสวน เพื่อที่จะเข้าไปดูแลผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ที่เป็นไปในลักษณะช้าไม่คืบหน้า ขอท้า คตส.ที่กล่าวหาว่า ให้สัมภาษณ์ในลักษณะหมิ่นประมาทให้ฟ้องโดยเร็ว แต่เท่าที่ทราบก็มีสมุนของ คมช.ไปแจ้งความดำเนินคดี ที่ สน.สามเสนไว้แล้ว
“สุรยุทธ์” เมิน “ทักษิณ” ลุ้นประชามติ
ทางด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ส.ค. ภายหลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นผ่านที่ปรึกษาด้านกฎหมายว่า ประชาชนจะเลือกฝ่ายของตน และสามารถคว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้ว่า ยังไม่มั่นใจ รอประชาชนที่จะใช้วิจารณญาณ ของตนเอง รัฐบาลคงรอการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกอย่างไร ไม่ได้รวบรวมข้อมูล และไม่คิดว่าผลจะออก มาในทางใด ข้อคิดมีประการเดียวคือ รอการตัดสินใจของ ประชาชน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร รัฐบาลก็พร้อมยอมรับ ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวสำนักงานสถิติแห่งชาติทำโพลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างของประชาชนกว่า 5 พันคน ระหว่างวันที่ 8-12 ส.ค. พบว่า ประชาชนถึงร้อยละ 80 จะรับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ นำโพลดังกล่าวออกมาเผยแพร่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า เรื่อง การทำโพลรัฐบาลไม่ได้คิดว่าจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ รัฐบาล ใช้เป็นข้อมูล แต่ไม่ได้คิดว่าจะมีความสำคัญมากกว่าผล การตัดสินใจของประชาชนจริงๆ ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ส.ค. คงทำหน้าที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งที่จะไปลงประชามติประมาณ 11.00 น. จากนั้นจะติดตามผลจากโทรทัศน์เหมือนคนอื่นๆ
ยันหากรัฐธรรมนูญผ่านเลือกตั้งสิ้นปี
เมื่อถามว่า เตรียมการรับมือในวันที่ 19 ส.ค. อย่างไร เพราะฝ่ายค้านออกมาระบุว่า การลงประชามติจะแสดงให้เห็นว่าจะเอา คมช. หรือเอาไทยรักไทย พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า คิดว่าประชาชนเข้าใจ ถ้าเราจะไปสู่การเลือกตั้ง ในเบื้องต้นต้องมีรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 ส.ค. เป็นวันที่ ประชาชนจะออกมาตัดสินว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ ถ้าไม่รับก็ต้องหารัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพื่อดำเนินการต่อไป ที่มารับหน้าที่ฝ่ายบริหารก็เพื่อนำประเทศไทยผ่านช่วงวิกฤติ กลับไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด นี่คือหลักการที่ กำหนดไว้ ไม่ได้คิดว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างใครกับ ใคร ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติ จะมีการ เลือกตั้งภายในปีนี้แน่นอน ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังการ ลงประชามติ คิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะนิ่งลง หรือ มีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นอีก พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ในส่วนการเมืองไม่เคยนิ่งเลย ไม่ว่าในประเทศไหน ไม่เคยนิ่ง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ไม่หวังจะได้ตัว “ทักษิณ-พจมาน”
ผู้สื่อข่าวถามถึงการประสานงานกับทางการอังกฤษ เพื่อส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ภายหลังศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ออกหมายจับคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะสนับสนุนการทำงานของอัยการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการต่อไป เมื่อถามว่า คาดหวังว่าการส่ง ผู้ร้ายข้ามแดนจะมีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า ไม่ได้คาดหวังอะไร ถือว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการตาม ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม หากเป็นไปตามสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสหราช อาณาจักรกับไทยแล้ว ก็มีขั้นตอนมากพอสมควร
“ทักษิณ” มีสิทธิใช้พาสปอร์ตไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิกถอนพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณตามข้อเสนอของฮิวแมนไรม์วอทช์ ประเทศไทย พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อมูล แต่คิดว่าโดยปกติถ้าพูดถึงสิทธิ พ.ต.ท. ทักษิณก็ยังมีสิทธิที่จะใช้พาสปอร์ตอยู่จนกว่าจะมีคำสั่งจากศาล ในขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นแค่ผู้ต้องหา ยังไม่ใช่ผู้ผิด จนกว่าจะมีการตัดสินมีการดำเนินคดี เมื่อถามว่าหมายความว่าการจะเพิกถอนพาสปอร์ตของ พ.ต.ท. ทักษิณได้ ต้องรอให้ศาลร้องขอกระทรวงการต่างประเทศใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ในหลักการจะเป็นอย่างนั้น จนกว่าจะมีการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม ต่อข้อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเตรียมรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ภายในไทยหลังเหตุการณ์รัฐประหารเพื่อชี้แจงต่อทางการอังกฤษ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า รัฐบาลได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ไม่เคยก้าวล่วงการดำเนินการในแต่ละส่วน ฝ่ายบริหารก็จะไม่ก้าวล่วง ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือตุลาการ นั่นถือเป็นอำนาจของแต่ละส่วนที่ต้องดำเนินการโดยอิสระ รัฐบาลไม่มีการแทรกแซงใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่จะมีการขอความร่วมมือ
ถกหน่วยข่าวรับมือลงประชามติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นประธานการประชุม เตรียมการเดินทางไปเยือนประมาเลเซียอย่างเป็นทางการ นายกฯได้หารือร่วมกับหน่วยงานด้านการข่าว ประกอบด้วย พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม นายศิระชัย โชติรัตน์ ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และนายประกิจ ประจนปัจจนึก เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ทางการเมืองก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในวันที่ 19 ส.ค. โดยหน่วยงานด้านการข่าวได้รายงานสถานการณ์ให้นายกฯทราบว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ทั้งนี้นายกฯได้ย้ำให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ส่วนสถานการณ์ภาคใต้ นายกฯได้สั่งการให้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการข่มขู่ไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ขออนุมัติหมายจับ “ทักษิณ” และเมีย
วันเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางเพ็ญโฉม ดามาพงศ์ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเอสซี แอสเซทฯ พร้อมนายพิชิต ชื่นบาน ทนายความ เดินทางเข้าพบนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นต่อ ก.ล.ต.ฐานร่วมกันแสดงรายการข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลในสาระสำคัญ ภายหลังการสอบสวนประมาณ 1 ชม. ทั้ง 2 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยนายสุนัยกล่าวว่า ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ไม่เดินทางมาพบนั้น ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนีตามเหตุผลของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดีเอสไอจึงมีมติให้ขอหมายจับบุคคลทั้ง 2 โดยให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการ ยืนยันว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ตลาด หลักทรัพย์ มีอายุความ 10 ปี