ถ้าตั้งสมมุติฐานในทางการเมืองว่า
การต่อสู้ระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายขั้วอำนาจเก่า กับฝ่าย คมช. ขั้วอำนาจใหม่ จะไม่จบลงง่าย ๆ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายถอยหลังไม่ได้ ก็แสดงว่าการลงประชามติในวันนี้ไม่สามารถชี้ผลแพ้ชนะ
จริงอยู่ผลของการลงประชามติจะชี้ให้เห็นในเบื้องต้นว่า
มวลชนและฐานเสียงที่คำนวณออกมาเป็นจำนวน ส.ส. ตกอยู่กับฝ่ายไหนมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลสะเทือนจากการลงประชามติจะมีความยั่งยืนสืบเนื่องไปถึงวันเลือกตั้งในปลายปี 2550 เพราะยังมีปัจจัยแทรกซ้อนหลายประการอาจเกิดขึ้นระหว่างทาง
เริ่มตั้งแต่ผลสะเทือนของการลงประชามติซึ่งมีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง
จะทำให้นักการเมืองรู้ว่า คมช. สามารถคุมเกมในสนามเลือกตั้งได้เบ็ดเสร็จเพียงใด หากอยู่กับฝ่ายของ พ.ต.ท. ทักษิณ จะมีโอกาสสอบผ่านกลับเข้ามาเป็น ส.ส. ในสภาได้หรือไม่ เพราะในชีวิตจริงของนักการเมือง จะได้เงินสนับสนุนมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญเท่ากับการสอบผ่านเข้าไปเป็น ส.ส. อยู่ในสภา ดังนั้นผลของการลงประชามติในวันนี้อาจทำให้อดีต ส.ส. หลายคนที่เฮโลไปเข้าสังกัดพรรคพลังประชาชนเนื่องจากได้รับตัวเลขที่น่าพึงพอใจก่อนหน้านี้ เปลี่ยนใจหันกลับมาอยู่กับฝ่าย คมช. ส่วนหนึ่ง
แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว
เพราะอำนาจของ คมช. ไม่ได้ยั่งยืนถาวร เพราะหลังจากวันที่ 30 ก.ย. ที่มีการเกษียณอายุในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ก็จะทำให้ดุลอำนาจในกองทัพเปลี่ยนไป โดยขึ้นอยู่กับว่า ผบ.ทบ.คนใหม่ มีแนวคิดอย่างไร มีความกล้าหาญพร้อมที่จะชน มีความสุขุมลึกซึ้งหรือไม่ และที่สำคัญมีความผูกพันกับ คมช. แค่ไหน
ถ้าการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารไม่ลงตัวหรือไม่ราบรื่น
ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของ คมช. เพราะอย่าลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีเงินและกำลังคนมหาศาล ขาดเพียงแต่เงื่อนไข หากสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น เกิดความไม่ลงรอยในระหว่างผู้นำกองทัพ หรือกองทัพมีความสัมพันธ์จืดจางไปจาก คมช.
ความมั่นใจต่อ คมช. ในทางการเมืองก็พลอยจะหดหายตามไปด้วย
ดุลอำนาจในสังคมไทยก็จะเปลี่ยนไป อาจส่งผลให้เกิดการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานและรุนแรงขึ้นได้
สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้นั่นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นฝ่ายที่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว
จึงต้องทุ่มสุดตัวเพื่อยึดอำนาจคืนมาให้ได้จากชัยชนะในการเลือกตั้ง ขณะที่ พล.อ.สนธิ เมื่อขึ้นหลังเสือแล้ว หากลงอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะถูกเสือกัด ฉะนั้นจึงเกิดข่าวลืออยู่เนือง ๆ ว่า หลังเกษียณอายุจะลงสมัคร ส.ส.ลพบุรี โดยมีการตั้งพรรครักชาติไว้รองรับ อย่างน้อยก็เป็นการสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ใครมาตามเช็กบิลภายหลัง หรือถ้าเป็นไปได้ ก็เข้ายึดกุมอำนาจรัฐอีกครั้งผ่านรูปแบบของการเลือกตั้ง เพื่อยันไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีอำนาจในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
อันที่จริง พล.อ.สนธิ อาจจะไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้สนใจการเมือง
ไม่ได้ใคร่จะมีอำนาจ แต่สถานการณ์ที่บีบบังคับอาจทำให้ไม่มีทางเลือก แต่การเดินบนถนนการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีการวางแผนและการจัดการที่ดี เพราะว่าในวันนี้พรรคพลังประชาชนสามารถดึงตัวอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นไปมากมาย เช่น พรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา ถูกดึงไป 10 คน รวมไปถึงกลุ่มมัชฌิมา กลุ่มลำตะคอง ก็ถูกดูดไปไม่น้อย
หาก คมช. มีเป้าหมายไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟื้นคืนชีพกลับมา ก็ต้องคิดให้ลึกซึ้งเพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
ดังนั้นโจทย์ทางการเมืองจึงมีอยู่ว่า ในจำนวนเก้าอี้ ส.ส. 480 คนในสภา จะทำอย่างไรให้จำนวนนับของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท. ทักษิณ มีจำนวนมากกว่าฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ประเมินกันคร่าว ๆ ว่า จำนวนอดีต ส.ส. ของพรรคไทยรักไทย 377 คน ย้ายพรรคออกไป 100 คน ก็ยังเหลืออยู่อีก 277 คน แม้จะมีบางส่วนเป็นกรรมการบริหารและถูกแขวนจากคดียุบพรรค แต่อย่าลืมว่า พรรคไทยรักไทยไม่ได้สูญเสียฐานเสียงไปด้วย เพราะผู้ที่ถูกแขวนยังสามารถส่งญาติพี่น้องลงสมัคร ส.ส. เพื่อรักษาจำนวนนับในสภาเอาไว้ได้เช่นเดิม
หันมาดูทางฝ่ายพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคไทยรักไทย อันประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน กลุ่มมัชฌิมา กลุ่มสมานฉันท์ พรรครักชาติ กลุ่มรวมใจไทย และกลุ่มอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่า น่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. ในสภาไม่เกิน 130 คน พรรคชาติไทย 40 คน พรรคมหาชน 5-10 คน กลุ่มมัชฌิมา 30 คน กลุ่มสมานฉันท์ 50 คน และพรรครักชาติอีก 20 คน รวมแล้วประมาณ 280 คน
เมื่อโจทย์เป็นเช่นนี้ แสดงว่าฝ่าย คมช. ซึ่งหมายถึงอดีตพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มเบี้ยหัวแตกเหล่านี้ จะต้องช่วยกันกดตัวเลขให้พรรคไทยรักไทยซึ่งกลายสภาพมาเป็นพรรคพลังประชาชนให้ลดลงเหลือ 200 คน อาจจะยากยิ่งกว่าการยกกำลังทหารก่อรัฐประหาร
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ ในวันนี้ฝ่าย คมช. เตรียมพร้อมอย่างไร และทำอะไรไปบ้างแล้วเพื่อที่จะทำให้ฝ่ายของตัวเองบรรลุเป้าหมายหรือทำให้การโค่นล้มระบอบทักษิณเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์
คำตอบก็คือ ยังไม่มี ทุกอย่างเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ มิหนำซ้ำยังเกิดความขัดแย้งกันเอง เช่น การชิงการนำในพรรครักชาติระหว่าง ร.อ.ขจิต หัพนานนท์ กับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี หรือแม้กระทั่งมีข่าวลือในวงการเมืองว่า พรรครักชาติหันมาดูดตัวอดีต ส.ส. ของฝ่ายเดียวกันเอง แต่ไม่ยอมไปดูดตัวอดีต ส.ส. จากพรรคพลังประชาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากพรรคพลังประชาชนให้ตัวเลขที่ดีกว่ามาก
นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็มีปัญหาไม่น้อย
เพราะรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 4 ภาค ภาคละ 20 คน รวมเป็น 80 คน ทำให้พรรคพลังประชาชนได้เปรียบ เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองเดียว ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก เมื่อประชาชนลงคะแนนก็จะไหลรวมมาอยู่ที่เดียว ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นเบี้ยหัวแตก ได้ไปพรรค ละนิดละหน่อย ทำให้จำนวนนับในทุกภาคแพ้พรรคพลังประชาชน ท้ายสุดก็แทบจะไม่ได้ส่วนแบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยกเว้นแต่พรรค ประชาธิปัตย์เท่านั้นที่จะได้เป็นกอบเป็นกำทางภาคใต้และกรุงเทพฯ
หากจะเปรียบไปแล้วฝ่าย คมช. ที่ไม่มีการจัดทัพให้ชัดเจน มีสภาพไม่ต่างจากไก่ตรุษจีนเท่าใดนัก นั่นคือ เอาแต่จิกตีกันเองในเล้า แย่งชิงฐานเสียงเดียวกัน และท้ายสุดก็ถูกจับไปเชือดหมดทุกตัว
ชัยชนะในการลงประชามติอาจทำให้ฝ่าย คมช. มีกำลังใจดีขึ้น
และทำให้ฝ่ายพรรคพลังประชาชนเสียขวัญ แต่ไม่ได้หมายความว่า ฝ่าย คมช. จะมีชัยชนะในตอนสุดท้ายของเกม เพราะการจัดทัพยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังไม่ได้นำกระแสต้าน พล.อ.สนธิ ลงสมัคร ส.ส. มาคำนวณ ซึ่งอาจจะทำให้ฝ่าย คมช. ประสบความยากลำบากมากขึ้นก็ได้
อย่างไรก็ตามเกมการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณ กับ คมช. จะยังไม่จบลงง่าย ๆ จนกว่าผลแพ้ชนะจะปรากฏ ออกมาอย่างชัดเจน โดยฝ่ายหนึ่งต้องแพ้อย่างราบคาบ หมดสภาพที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ และทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ฝ่าย คมช. จัดทัพได้ มีประสิทธิภาพแค่ไหน
แต่ถ้ายังทำตัวเป็นไก่ตรุษจีนกันเช่นนี้ ก็เท่ากับเปิดช่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รุกคืบจนสามารถกำชัยชนะได้ง่ายขึ้น.
คมช.ระวังเข้าตำราไก่ตรุษจีน ภารกิจล้มระบอบทักษิณเหลว
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง คมช.ระวังเข้าตำราไก่ตรุษจีน ภารกิจล้มระบอบทักษิณเหลว