กลุ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาพร้อมปฏิบัติการ แดงไม่รับ
เมื่อช่วงสายวันที่ 5 ส.ค.กลุ่มธรรมาธิปไตยและนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) รุ่น 2 จำนวนประมาณ 10 คน สวมเสื้อสีแดงและสีดำ มีอักษร vote no เดินทางมาที่เมืองทองธานี ซึ่งมีการจัดงานมหกรรมประชาธิปไตย ปฏิญญาพัฒนาการเมืองไทย 2550 โดยกลุ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาพร้อมปฏิบัติการ “แดงไม่รับ” ยังได้นำพานรัฐธรรมนูญจำลองที่เขียนข้อความว่า “รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ” มาวางคว่ำไว้ พร้อมทั้งเปิดปราศรัยเชิญชวนให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และแจกเอกสารให้กับประชาชนที่เดินทางมาร่วมชมงานมหกรรมประชาธิปไตยฯ
ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำงานได้เข้ามาพูดคุยกับผู้แทนกลุ่มดังกล่าว
เพื่อขอร้องให้ออกไปนอกสถานที่ จึงมีการถกเถียงกันเล็กน้อย โดยทางกลุ่มระบุว่า การกระทำของตนเองเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เชิญให้ออกไปข้างนอก ซึ่งแกนนำยังคงกล่าวปราศรัยและแจกเอกสารต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสงบเรียบร้อยอย่างใกล้ชิด
ขณะที่เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กลุ่มนักวิชาการอิสระ ภายใต้กลุ่มคณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี หรือ ค.ป.ส. จัดงานเสวนาเรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับวิกฤติกระบวนการยุติธรรมในระบอบรัฐประหาร คมช.”
จากการติดตามและประเมินความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน
โดยนายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ มธ. และนายวสันต์ ลิมป์เฉลิม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.ราชภัฏธนบุรี 3 แกนนำ ค.ป.ส. ออกแถลงการณ์ว่า จากการติดตามและประเมินความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ขณะนี้ ค.ป.ส.มีความมั่นใจว่า ประชาชนทั่วประเทศพร้อมจะแสดงพลังไปลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ เนื่องจากทุกคนได้รับรู้แล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นั้นจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขนาดไหน โดยการตัดสิทธิไม่ให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกตั้ง ส.ว.อีก 74 คน เว้นแต่ว่า คมช. และรัฐบาลจะเอาชนะด้วยวิธีการโกง โดยการขนไปลงประชามติ เป็นการนำปืนไปบีบบังคับประชาชนให้เลือกรับรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ค.ป.ส.ไม่มีทางยอมรับประชามติดังกล่าวและจะร่วมกับประชาชนต่อสู้ให้ถึงที่สุด
เรียกร้องให้ทุกฝ่ายจะต้องไม่ชี้นำการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ทางด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและ คมช.จะต้องไม่ชี้ นำการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรสนับสนุนให้สื่อ มวลชนของรัฐเปิดเวทีให้มีการดีเบตของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างต่อเนื่อง สำหรับจุดยืนของ ครป.ได้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 แบบมีเงื่อนไข
โดยหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านจะมีการผลักดันให้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทางการเมืองได้ โดยเฉพาะขบวนการฉวยโอกาสของขั้วอำนาจเก่าที่จะยกเป็นข้ออ้างในการปลุกระดมมวลชน เพื่อทวงคืนอำนาจให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีกระแสข่าวมีการจ่ายเงินให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วย