ยุทธการโอเลี้ยงข้าวผัด ความผิดพลาดของ นปก.
โฉมหน้าแกนนำที่ยั่วยุผู้ชุมนุมน่าจะเป็นความผิดพลาดทางด้านยุทธศาสตร์อย่างแรง กรณีกลุ่มกนปก.กจัดชุมนุมประท้วงหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อยั่วยุให้ทหารในกองทัพโกรธและใช้ความรุนแรง เพราะพอถึงเวลาลงมือจริง ผลลัพธ์ กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
แกนนำกลุ่ม นปก. อาจมีความเชื่อว่า เมื่อเกิดการปะทะเสียเลือดเนื้อแล้ว ภาพที่ปรากฏทางสื่อมวลชนจะกระตุ้นให้ชนชั้นกลางเกิดความเห็นใจและเข้าร่วมต่อต้าน คมช. และรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลุกลามบานปลายคล้าย ๆ กับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาทมิฬ 2535 แต่ปรากฏว่า หลังจากตำรวจจับกุม 9 แกนนำ นปก. ที่ศาลอาญาพร้อมกับขอฝากขัง ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อต้านใด ๆ มีเพียงคำเรียกร้องของแกนนำ นปก. อื่น ๆ ขอให้ปล่อยตัวเท่านั้น
หากพิจารณาย้อนหลังกลับไป การจัดชุมนุมประท้วงเพื่อให้ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้ง่าย นายพิรุณ ฉัตรวณิชกุล อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 เคยสรุปบทเรียนเอาไว้ว่า การจะดึงประชาชนออกมาจากบ้านเพื่อร่วมชุมนุมนั้น ประเด็นที่นำมาเคลื่อนไหวจะต้องเป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนรวม และใหญ่จริง ๆ หรือใหญ่ขนาดที่ว่า พอฟังแล้วก็ไม่สามารถทนอยู่ในบ้านได้ จะต้องออกมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษา