ปชป.ลุยเช็กบิล รมต.โกง - หนุน ม.7 ขอ รบ.ใหม่ แทนนายกฯร่างทรง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2549 18:18 น.
ปชป.ชี้ ทักษิณ ขอพักร้อน ถือว่าพ้นตำแหน่งรักษาการนายกฯ ระบุถึงเวลาใช้ รธน.มาตรา 7 ขอนายกฯ-รัฐบาลใหม่ เตรียมเดินหน้าตรวจสอบทุจริตของ ครม.ทักษิณ 1-2 พร้อมรายงานต่อสาธารณะทุกสัปดาห์ ลั่นไม่ปล่อยให้คนโกงลอยนวล
วันนี้ (7 เม.ย.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ขอลาพักร้อน และให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทน ว่า การไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่อ้างระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข้อ 41 ไม่น่าจะมีความชัดเจนเพียงพอ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการใช้อำนาจทางราชการ เพราะการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีรักษาการเช่นนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นการพ้นจากหน้าที่ หรือเป็นการลาออก และโดยพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ขนของออกจากทำเนียบรัฐบาล ก็แสดงความชัดเจนแล้ว ดังนั้น ตนคิดว่าบัดนี้จะต้องวินิจฉัยว่าถึงเวลาที่จะใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญหรือยัง
เป็นการซ้ำซ้อนในการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ระหว่างคุณชิดชัย กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติมาก่อน และแม้แต่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ก็ยังไม่ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ผมคิดว่า สถานการณ์ขณะนี้น่าจะเข้าสู่มาตรา 7 ที่สามารถที่จะมีนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่ได้ นายอลงกรณ์ กล่าว
ส่วนที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เทียบเคียงกรณีนี้กับกรณีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เหมือนกัน และตนคิดว่า นำมาใช้อ้างอิงกันไม่ได้ และขณะนี้ต้องยอมรับว่าหากเป็นไปอย่างที่รัฐบาลพูดถึงนายกฯรักษาการสองคน ตนคิดว่าไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ และระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็ไม่เคยมีการใช้ลักษณะเช่นนี้ และบัดนี้ ตนถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งถือว่าเกิดสุญญากาศของอำนาจการบริหารขึ้น และเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะมีนายกฯรักษาการสองคน ซึ่งขัดกันเองในคำชี้แจงและข้อเท็จจริง จึงเป็นไปได้ที่อาจจะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนายกฯรักษาการ ว่า สามารถใช้อำนาจในการบริหารราชการทั้งสองคนหรือไม่
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ปล่อยให้คนโกงลอยนวล โดยจะเดินหน้าหาผู้กระทำผิดในรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 มาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองใน 3 ข้อกล่าวหา คือ 1.พฤติกรรมส่อทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ 2.การกระทำผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนกฎหมาย และ 3.ร่ำรวยผิดปกติ โดยกระทำหรือร่วมกันใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนสมรู้ร่วมคิดกันคอร์รัปชันเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัวและพวกพ้อง เป็นการฉ้อราษฎรบังหลวงเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประมวลกฎหมายอาญา
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมใช้อำนาจทางบริหารและนิติบัญญัติกำหนดนโยบาย งบประมาณ และมติ ครม.ส่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในครอบครัวและพวกพ้องจนร่ำรวยผิดปกติ เช่น กรณีบีโอไอยกเว้นภาษีให้บริษัทดาวเทียม 16,000 ล้านบาท การแก้ไขสัมปทานลดค่าต๋งให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี 17,410 ล้านบาท การออก พ.ร.ก.ลดภาษีเอื้อธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 100,000 ล้านบาท การแก้ไขกฎหมายขายหุ้นในกิจการความมั่นคงของประเทศไทยให้ต่างชาติ 73,000 ล้านบาท การให้พม่ากู้ 4,000 ล้านบาท การใช้ตำแหน่งหน้าที่เจรจาเพื่อผลประโยชน์ของธุรกิจครอบครัวในการประชุมเอเปกครั้งที่ 11 ที่ประเทศเม็กซิโก และการแต่งตั้งกรรมการบริษัทของครอบครัวเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ เพื่อแสวงประโยชน์ในการแปรรูปและประมูลงาน
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนรัฐมนตรีที่ต้องถูกตรวจสอบเพื่อรายงานพฤติกรรมต่อสาธารณชน อาทิ 1.นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งมีพฤติกรรมกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และส่อทุจริตในโครงการประมูลกล้ายาง 1,400 ล้านบาท สมัยเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ 2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส่อกระทำผิด พ.ร.บ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐในโครงการประมูลคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข 900 ล้าน ในสมัยเป็น รมว.สาธารณสุข และการประมูลก่อสร้างคลองระบายน้ำสนามบินสุวรรณภูมิของกรมชลประทาน ในขณะที่เป็น รมว.เกษตรฯ และ 3.นายโภคิน พลกุล ส่อพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายป้องกันการฮั้วในโครงการประมูลจัดซื้อจัดหาของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย และโครงการรถดับเพลิงเรือดับเพลิงของ กทม.สมัยที่เป็น รมว.มหาดไทย
พรรคประชาธิปัตย์จะรายงานความคืบหน้าของการตรวจสอบต่อประชาชนทุกสัปดาห์ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ เพื่อร่วมกับภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในภาวะที่ระบอบทักษิณได้บ่อนทำลาย และแทรกแซงระบบตรวจสอบและถ่วงดุลจนอ่อนแอหมดสิ้น โดยเราจะทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเข้มข้นและเข้มแข็งต่อไป นายอลงกรณ์ กล่าว