ปชป.ประกาศจุดยืนรับร่าง รธน.ใหม่ ไม่ได้เอาใจ คมช.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯ ได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาตั้งแต่ต้น และมีคณะทำงานที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน และหลังรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการประเมินภาพรวมแล้วเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีโครงสร้างไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 คือ ยังคงมีรัฐสภาและองค์กรอิสระเหมือนเดิม ขณะเดียวกันเห็นว่าหลายส่วนได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น สิทธิเสรีภาพประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หน.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า แม้ร่าง รธน.ใหม่จะมีจุดด้อยบางเรื่อง เช่น สมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งสภาฯ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่เขียนละเอียดเกินไป อาจมีผลต่อการบริหารประเทศ แต่พรรคประเมินแล้วว่ามีข้อดีมากกว่าจุดด้อย จึงเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่รับได้ ดังนั้น จะร่วมเผยแพร่ในลักษณะจัดทำเป็นเอกสารผ่านสาขาพรรคและสมาชิกพรรค แต่จะไม่ใช้บทบาทการร่วมรณรงค์ โดยจุดยืนเรื่องดังกล่าว จะมีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) ด้วย แต่พรรคฝ่ายค้านเดิมจะว่าอย่างไร ต้องรอดูอีกครั้ง ยืนยันว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่การเอาใจคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) “แม้รัฐธรรมนูญจะมีข้อด้อยแต่ก็มีจุดเด่นมากกว่า จึงมีแนวคิดที่สมควรจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และประชาชนน่าที่จะรับเพื่อให้กระบวนการการฟื้นฟูประชาธิปไตยเดินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง ปัญหาประชาชนหลายๆ เรื่องจะได้รับการคลี่คลายต่อไปตนขอยืนยันว่าไม่ได้เอาใจ คมช. เพราะทางพรรคฯ ประกาศรับ แต่ถ้าไม่รับ คือ การเอาอำนาจไปใส่มือ คมช. ให้ คมช.เลือกฉบับใดขึ้นมาก็ได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว หน.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำประชามติร่าง รธน.ว่า ควรเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยชี้แจงประชาชน ไม่ควรทำให้เกิดความยุ่งยากเกินไป และอยากให้นำไปเทียบเคียงกับการเลือกตั้ง เช่น ระบุเพียงว่า ห้ามไม่ให้มีการซื้อเสียง ข่มขู่หรือหลอกลวงให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างฯ ส่วนกรณีที่มีการมองว่า ในกฎหมายการออกเสียงประชามติกำหนดบทลงโทษรุนแรงเกินไปนั้น เห็นว่าต้องรอการพิจารณากฎหมายจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน เนื่องจากขณะนี้กฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนความเห็นเรื่องการรับร่างฯ ของนักวิชาการ เรื่องดังกล่าวเป็นจุดยืนของแต่ละบุคคล เพราะบางคนต้องการแสดงจุดยืนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีที่มาจาก คมช. ที่ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็มีกลไกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วว่า คมช.ต้องดำเนินการอย่างไร โดยอาจจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าไปอีกประมาณ 1 เดือน อย่างไรก็ตามเห็นว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ควรร่วมดำเนินการ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ในปลายปี 2550 นี้