อุ้มสปช.-กมธ. ‘บิ๊กตู่’การันตีไม่ตกงาน แม้ร่างรธน.ใหม่จะไม่ผ่าน

อุ้มสปช.-กมธ. ‘บิ๊กตู่’การันตีไม่ตกงาน แม้ร่างรธน.ใหม่จะไม่ผ่าน

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติว่า ไม่ใช่ว่าตนมีมติให้ทำประชามติ แต่ตนบอกถ้าเป็นความต้องการของประชาชนอยากให้ทำประชามติก็ให้เขาทำได้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนหน้าที่ของตนคือคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ

สปช.- กมธ.ไม่ต้องกลัวตกงาน

เมื่อถามว่า ต้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)พิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตามขั้นตอนต้องเป็นอย่างนั้น คือ ถ้าสปช.รับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าไม่รับก็ต้องแก้ไขให้ร่างใหม่ ก็ต้องมาดูว่าถ้าจะให้สปช.อยู่ต่อต้องแก้รัฐธรรมนูญไหมและใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญไหม ถ้าไม่แก้ใช้กฎหมายเดิมได้ไหม นั้นแหละต้องไปคิดมา

“ผมก็มีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญให้เขา ฉะนั้นทั้งสปช.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกมธ.ยกร่างฯก็ไม่ต้องกังวลว่า ถ้าไม่ผ่านแล้วจะไม่มีงานทำ เดี๋ยวมันหาทำกันจนได้แหละ ทุกคนก็มีความหวังดี แต่ข้างหนึ่งก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อีกข้างอยากกลับไปที่เดิม จะได้มีอำนาจมากมายที่จะทำอะไร ทั้งดีและไม่ดีได้ มันก็เป็นสองข้างอยู่แบบนี้ตลอด”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ถกแม่น้ำ4สายวางแผนส่งต่อปฏิรูป

และว่าในวันที่ 4มิ.ย.นี้ตนจะไปพูดคุยแม่น้ำ 4 สาย ประกอบด้วย สนช. สปช. ครม.และคสช.เป็นพี่เลี้ยง โดยเนื้อหาจะคุยสิ่งที่ทำไปแล้ว และสิ่งที่กำลังจะส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป ว่าจะต้องเขียนอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในบทเฉพาะกาล หรือในกฎหมายลูก ที่จะทำให้การปฏิรูปต่างๆ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ กระบวนการสอบสวน การจับกุมดำเนินคดี เป็นต้น ขั้นตอนการดำเนินการคือสนช.จะต้องไปเขียนกฎหมายให้ทันสมัยโดยออกเป็นพ.ร.บ.หรือพ.ร.ก.เพื่อให้เกิดความยั่งยืนส่วนเรื่องอะไรที่ต้องให้เกิดการปฏิรูปก่อนตนต้องใช้มาตรา44ดำเนินการ

“วิษณุ”เชื่อกมธ.ไม่ยอมรื้อหมด

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเสนอไปยังกมธ.ยกร่างฯว่า ตนเชื่อว่ากมธ.กร่างฯ จะมีการแก้ไข แต่คงแก้ไขไม่หมดทุกประเด็นที่เสนอไป อย่างไรก็ตามวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายนนี้ ตนจะเข้าชี้แจงต่อกมธ.ยกร่างฯ ถึงข้อเสนอต่างๆอย่างละเอียดว่ามีเหตุผลอะไร ซึ่งเวลา 3 ชั่วโมงก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และตนก็จะไปชี้แจงเพียงคนเดียว

“บวรศักดิ์”ห้ามสื่อเข้าฟังกมธ.

วันเดียวกันนี้ มีการประชุมกมธ.ยกร่างฯ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน มีวาระเชิญตัวแทนผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอปรับแก้ไข ปรากฏว่านายบวรศักดิ์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและลดแรงกดดัน ทางกมธ.ยกร่างฯจึงมีมติขอร้องผู้สื่อข่าวและช่างภาพให้ออกจากห้องประชุมหลังจากเปิดโอกาสเข้ามาในห้องประชุมเป็นเวลา 4 เดือนเศษก่อนหน้านี้

ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ กล่าวภายหลังการรับฟังการชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ตอนนี้เป็นขั้นตอนรับฟัง ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วร่างรัฐธรรมนูญจะเหลือกี่มาตรา ส่วนที่เสนอให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง ตัดระบบการเลือกตั้งส.ส. หรือตัดบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์นั้น ในภาพรวมไม่มีข้อเสนอที่กระทบโครงสร้างเสาเอกของร่างรัฐธรรมนูญถ้ากระทบโครงสร้างด้วยการทำให้พลเมืองไม่เป็นใหญ่ อย่างนี้ถึงเรียกว่าการรื้อเสาเอก

มี2-3กลุ่มเสนอตัดกลุ่มการเมือง

นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงการเสนอตัดกลุ่มการเมืองว่า มีเสนอเข้ามา 2 - 3 กลุ่มแล้ว ในความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับ กมธ.ยกร่างฯ ทั้งคณะ ตนเห็นว่าถ้าต้องปรับกลุ่มการเมืองออก ก็ควรทำให้พรรคการเมืองตั้งได้ง่ายขึ้น และใช้เงินน้อยลง จากเดิมต้องมีสมาชิก 5,000 คน อาจจะเหลือพรรคละ 500 คน ย้ำว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ต้องฟัง กมธ.ยกร่างฯ ทั้งคณะก่อนว่าเขายอมให้ตัดหรือไม่ ไม่ได้มีธงอะไรอย่างที่เขียนกัน

อ้าง35กมธ.ไม่อยากให้สื่อเข้าฟัง

ส่วนที่ไม่อนุญาตให้สื่อเข้ารับฟังการประชุมนั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า จากการหารือ กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน มีเพียง 1 คน ที่ต้องการให้สื่อเข้าฟัง เดิมสื่อมวลชนที่ร่วมรับฟังก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว แต่มีบางขั้นตอนที่เข้าสู่กระบวนการของกองบรรณาธิการ ที่ทำให้มีการพาดหัวข่าวผิดเพี้ยนไป ทั้งหมดนี้เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ มีความเป็นอิสระ พูดได้ตรงไปตรงมาไม่ต้องกลัวเป็นข่าวในสื่อ ตนต้องขออภัยด้วย อย่างไรก็ตามต้องมีการแถลงข่าวอยู่แล้ว

ยอมรับช่วงสุดท้ายกดดันมาก

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การประชุม กมธ.ยกร่างฯ ในช่วงโค้งสุดท้ายหนักกว่าช่วงแรก เพราะมีแรงกดดันเข้ามาจากทุกฝ่าย ต้องพิจารณากันให้รอบคอบ และจากการที่ครม.มีมติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขยายเวลาการทำงานให้ กมธ.ยกร่างฯ ออกไปอีก 30 วันนั้น ก็จะทำให้การทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ เลื่อนออกไปด้วย ดังนั้นการพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายที่จะมีการประชุมนอกสถานที่เดิมกำหนดวันที่ 22 มิ.ย.-3 ก.ค.นั้นอาจจะเลื่อนไปเป็นช่วงวันที่ 14 - 22 ก.ค.

โฆษกกมธ.แจงไม่ได้ปิดกั้นสื่อ

ส่วนนายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ห้ามผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า เนื่องจากบางประเด็นยังไม่ตกผลึก หรือต้องใช้การพิจารณารายละเอียดที่อาจมีบางส่วนพาดพิงถึงบุคคลที่สามจึงของดสื่อมวลชนเข้าฟังไปก่อนแต่บางประเด็นอาจให้เข้าฟังการพิจารณาเหมือนเดิม ยืนยันว่าไม่ใช่การปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน

สปช.เสนอตัดกลุ่มการเมือง

นอกจากนี้นายปกรณ์ ยังแถลงผลการชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มสปช.ว่ามี 2 กลุ่ม คือกลุ่ม 3 นำโดยนายมนูญ ศิริวรรณ และกลุ่ม 7 นำโดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ โดยกลุ่มของนายมนูญเสนอให้ตัดคำว่ากลุ่มการเมือง คุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสส. ให้แสดงการเสียภาษีย้อนหลังเป็น 5 ปี และเปิดเผยต่อสาธารณะ

ให้สว.มีแค่150เลือกตั้ง-ลากตั้ง

ส่วนส.ว. ให้มีจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 73 คน โดยตัดคณะกรรมการกลั่นกรอง การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีให้ลงคะแนนลับ ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง เห็นด้วยกับการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ให้แก้จำนวนคณะกรรมการจาก 11 คน เป็น 7 คน

กลุ่มประสารให้เลือกสว.โดยตรง

ขณะที่พล.ท. นาวิน ดำริกาญจน์ โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่ากลุ่มนายประสาร เสนอประเด็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้มีจำนวน 60-90 คน ยุบกรรมการยุทธศาสตร์และกรรมการปรองดอง ส่วนประเด็นการเลือกตั้ง ส.ว. ให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ว. ได้โดยตรง โดยที่มาของ ส.ว.จะมาจากกลุ่มอาชีพที่หลากหลายโดยมีเขตเลือกตั้งตามโซนจังหวัดต่างๆ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกจากผู้สมัครจากทุกอาชีพสายอาชีพละ 1 คน

เปิดตู้ปณ.50ฟังความเห็นปฏิรูปสื่อ

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสปช. และนายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี ร่วมกันแถลงข่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่มี สปช. บางส่วนยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยตัดคำว่า “สวัสดิการ” ออกจากมาตรา 49 รวมทั้งองค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์4 แห่งก็เสนอให้ตัดเช่นกันซึ่งพวกตนเห็นว่ามาตราดังกล่าวมีความเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มากำกับจริยธรรมสื่อ

ดังนั้นเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นของคนทำสื่อไปสู่การปฏิรูปสื่อจึงเปิดตู้ปณ.50 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากคนทำสื่อบอกเล่าสภาพการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ สวัสดิภาพและสวัสดิการค่าตอบแทนที่ได้รับหรือไม่ได้รับและอะไรบ้างที่อยากให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานต่อไป

ระบุเป็นปัจจัยสำเร็จหรือล้มเหลว

ด้านนายนิมิต กล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นของคนทำสื่อ จ.อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสื่อที่มาร่วมสัมมนาที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.สงขลา ต่างเห็นว่าเรื่องสวัสดิภาพ และสวัสดิการของคนทำสื่อควรจะได้รับการคุ้มครองเพื่อส่งเสริมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการกำกับด้านจริยธรรมในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้

การเมืองรุมชำแหละร่างรธน.

ที่อาคารรัฐสภา 2 มีการจัดสัมมนาเรื่อง ‘วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง’ โดยมีนายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายสุริยะใส กตะศิลาอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิทยากรในการสัมมนา

นายโภคิน กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้จะต้องประกอบด้วย 4 ประเด็นคือ 1.ต้องเกิดความปรองดอง 2.ต้องมีการกำหนดกรอบการปฏิรูปที่ชัดเจนและครอบคลุม 3.สานต่อสิ่งที่ตกผลึกไปแล้ว และ4.ต้องมีความต่อเนื่องพอเกิดปัญหาก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

“จุรินทร์”จี้รื้อทิ้งทั้ง4ปมร้อน

ด้านนายจุรินทร์ ระบุว่า มี 4 ประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องรื้อ คือ1.สิทธิของประชาชนลดลงกว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 2.ควรแก้ไขสมมติฐานที่มองว่า ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งเลวทั้งหมด 3.เลิกนำระบบที่ล้มเหลวในอดีตมาใช้จัดการเลือกตั้ง เช่น การมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง(กจต.)รวมทั้งต้องตัดมาตรา 181-182 ที่ให้อำนาจนายกฯมากเกินไป และ4. ควรรื้อประเด็นที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่

“ยะใส”ชี้อย่าหวังเป็นยาวิเศษ

ส่วนนายสุริยะใส เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาปัญหาที่ผ่านมาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญเพราะหวังว่าจะเป็นยาวิเศษ เป็นแก้วสารพัดนึกซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกทั้งหมด ส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรนำทุกเรื่องไปใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีปัญหาที่อยู่ภายนอกซึ่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปแก้ปัญหาได้หมด

“จรัญ”สับรธน.เปิดช่องแทรกแซง

ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จัดสัมมนาเรื่อง อิสระตุลาการ : ประวัติศาสตร์ศาลยุติธรรม” มีการอภิปรายเรื่องอิสระตุลาการ ประวัติศาลยุติธรรม โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนกระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยมีการเสนอระบบใหม่ที่ดูดีแต่รายละเอียดคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เปิดช่องให้มีการบล็อคโหวตจนทำให้องค์กรอิสระถูกแทรกแซง และเป็นอัปยศของศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นเพราะมีคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปขอพิจารณาคดีด้วยทั้งที่ไม่เคยร่วมพิจารณาคดีมาก่อน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์