บวรศักดิ์ยอมถอย ปมแก้รธน. ปรับลดจำนวนมาตรา
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง บวรศักดิ์ยอมถอย ปมแก้รธน. ปรับลดจำนวนมาตรา
เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหามากเกินไปควรมีการตัดออกประมาณ 30 มาตราว่า เข้าใจว่านายวิษณุ พูดเป็นภาพรวม คงต้องรอดูคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจาก คณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่าจะเสนอแก้ไขประเด็นใดและมาตราใดบ้าง ซึ่งทางกมธ.ยกร่างฯก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณา
รับฟังเหตุผลชงตัดมาตรา
“ในฐานะผู้ยกร่างฯ สามารถอธิบายได้ทุกมาตรา และทุกถ้อยคำ แต่ถ้ามาตราใดใครติดใจก็สามารถให้เหตุผลมาได้ ไม่ว่ากันเพราะขนาดคนที่เป็นสามีภรรยา พ่อแม่ลูก อยู่บ้านเดียวกัน ยังมีความเห็นไม่ตรงกันเลยดังนั้น การจะให้ กมธ.ยกร่างฯทั้ง36 คน เห็นตรงกันเหมือนกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ทั้ง250 คน รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีและคุณวิษณุ ก็คงเป็นไปไม่ได้ คงต้องฟังเหตุและผลก่อน ถ้าหากเห็นว่ามาตราใดมีความจำเป็น เราก็คงไม่ตัดทิ้ง แต่ถ้าฟังเหตุผลแล้วเห็นว่าควรนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก เราก็ปรับแก้ไข ไม่ต้องห่วงหากคุณวิษณุ อยากจะให้แก้สัก 50มาตรา เราก็พร้อมที่จะรับฟัง” ประธาน กมธ.ยกร่างฯย้ำ
แจงเพิ่มหมวดปฏิรูป-ปรองดอง
นายบวรศักดิ์ ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ตัวเลขมาตรา อาจจะมากกว่าแต่สาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีมากกว่า เนื่องจากมีการบัญญัติหมวดว่าด้วยการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ถ้าตัดส่วนนี้ไปสั้นกว่าแน่นอน จึงไม่อยากให้ไปดูว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้สั้น หรือยาวแต่ควรดูที่ความเหมาะสมและความจำเป็นมากกว่า ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่1-6 มิถุนายน ทาง กมธ.ยกร่างฯจะเชิญหน่วยงานที่เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมอาทิ ครม. คสช.มาชี้แจงและอธิบายหลักการที่ขอเสนอปรับแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งก็จะมีการเชิญฝ่ายการเมืองมาชี้แจงด้วย
ปัดพูดเลื่อนลต.ยันเดินตามโรดแมป
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนนั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า
อย่ามาถามตนเลยว่าเหมาะสมหรือไม่ ขอให้ไปถามพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอประเด็นนี้ แต่ขออย่าพูดลอยๆ เพราะขณะนี้ สปช. กมธ.ยกร่างฯ ครม. และ คสช.ทำงานอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)2557 ถ้าจะให้ขยายการเลือกตั้ง ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ถ้ายังไม่มีการแก้ไขตามโรดแมป วันที่ 23 กรกฎาคม ทาง กมธ.ยกร่างฯต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และสปช.ต้องพิจารณาลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 สิงหาคม
“ต้องไปถามผู้เสนอของ2 พรรคการเมืองใหญ่ ไปถามนายจตุพร พรหมพันธุ์หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเพราะอะไรถึงได้เสนอเช่นนี้อย่ามาถามผม เพราะผมไม่ใช่คนคิด ผมมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ” ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าว
ซัด’ศรีราชา’ป้องแค่องค์กรตัวเอง
ส่วน ที่นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับฝันเฟื่อง นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เข้าใจนายศรีราชาเพราะก็คงต้องออกมาปกป้องประโยชน์และต่อสู้เพื่อองค์กรของตัวเอง เนื่องจากองค์กรของท่านนั้นถูกควบรวมไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ท่านปกป้องประโยชน์ของท่านเหมือนกัน ท่านติทุกเรื่องแม้กระทั่งกล่าวหาว่าตนเผด็จการ ยอมรับว่าเข้าใจและเห็นใจนายศรีราชา แต่เราก็ต้องทำการปฏิรูปโดยยึดประชาชนเป็นหลัก
หลวงปู่หวั่นลดพระราชอำนาจ
ในวันเดียวกัน หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เดินทางยื่นหนังสือ ต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ประธานคณะ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ และนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อขอให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 157ที่ให้สภาผู้แทนราษฎร ยื่นร่างกฎหมายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90วัน หากไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ให้รัฐสภาหารือ หากมีมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าถวายอีกครั้ง แต่ถ้าหากภายใน30วัน ยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธยให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวภายใต้พระปรมาภิไธยนั้น เป็นการแสดงอำนาจของรัฐสภาและนายกฯว่ามีอำนาจเหนือฟ้า ผิดไปจากประเพณีการปกครอง ไม่ใช่อำนาจที่มีมาแต่เดิม เป็นการเปิดช่องให้นักการเมือง ไม่มีอะไรรับรองว่านักการเมือง จะไม่ใช้อำนาจออกกฎหมายลิดรอนพระราชอำนาจ
สอบทรัพย์สินพระทุกรูป
โดย พระพุทธอิสระ ยังเสนอแนวทางปฏิรูปพุทธศาสนา อีก 14 ข้อ อาทิ ตรวจสอบทรัพย์สินของวัด เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ทุกรูป ไม่เว้นแม้แต่กรรมการมหาเถรสมาคม ตรวจสอบพฤติกรรมของมหาเถระสมาคม กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในพระพุทธศาสนา ให้มีความผิดทั้งแพ่งและอาญา คัดสรรคณะสงฆ์จากส่วนภูมิภาคที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาปกครองคณะสงฆ์สูงสุดในส่วนกลาง เป็นต้น
ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อธิบายว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้เขียนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีต ไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมได้ยืนยันว่าไม่ได้มีการลดพระราชอำนาจแต่อย่างใด
ชี้รธน.ใหม่ปิดพรรคใหญ่กุมอำนาจ
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง”ทิศทางการปฏิรูปในประเทศไทย กับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน” มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)กล่าวช่วงหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้มีเรื่องใหม่ คือ มีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นระบบสัดส่วนผสม ทำให้หลายคนมีความวิตกกังวลว่า จะกลายเป็นการเปลี่ยนประชาธิปไตยแบบเลือกผู้แทนของไทย เพราะรูปแบบการเลือกตั้งใหม่ จะให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองโดยคะแนนนิยมของพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองจะถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.ในสภา จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนมาก หรือน้อยเกินจริงและเป็นไปได้ยากที่จะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง แต่ละพรรคจะมี ส.ส.ในสภาไม่เกิน30-40%จึงมีแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสม จะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งโดดเด่น หรือมีอำนาจควบคุมพรรคอื่น
ย้ำเลือกตั้งส่วนผสมลดผูกขาด
“การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ยังทำให้ไม่มีการผูกขาดพื้นที่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา จะช่วยแก้ไขพื้นฐานความขัดแย้งที่เคยมีมากส่วนหนึ่ง จนเป็นการแบ่งประเทศไทยออกเป็นภาคไปได้ การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จึงตรงกับความนิยมของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น” ประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองฯ ย้ำ
นายเอนกกล่าวอีกว่าส่วนเรื่องให้กลุ่มการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งได้นั้น มีความสำคัญมาก และน่าจะเปลี่ยนวิธีคิดในการเลือกตั้งมากขึ้น และยังจะเป็นการสร้างความปรองดองและความคิดใหม่ๆให้เกิดขึ้น ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละจังหวัดโดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านต่างๆ จากนั้นจะมีการเลือกกันเองของข้าราชการและทหารรวมทั้งกลุ่มอาชีพจากสภาวิชาชีพที่มีกฏหมายรับรอง สหภาพแรงงาน ภาคการเกษตร ซึ่งการเลือกกันเองนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คนจนเลือกคนจนด้วยกันเป็น ส.ว.
ให้สิทธิพลเมืองมีอำนาจเสนอ กม.
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญใหม่ยังให้สิทธิหน้าที่ให้แก่ประชาชนเรียกว่า พลเมืองโดยสามารถเสนอกฎหมายและลงประชามติ ถอดถอนได้จากสมัชชาคุณธรรม รวมทั้งดำเนินการสอบสวนจริยธรรมข้าราชการและนักการเมือง เมื่อพบว่าผิดจริยธรรมก็สามารถเสนอถอดถอนได้ซึ่งข้าราชการจะมีสิทธิถูกถอดถอน เช่นเดียวนักการเมือง ทั้งกรณีทุจริตและเรื่องจริยธรรม
ไม่เสียหายกลุ่มการเมืองลงลต.ได้
ในช่วงท้ายของการสัมมนา มีผู้ถามถึงกรณีให้กลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองและอาจจะมีแกนนำทางการเมืองในอดีตขึ้นมา เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายเอนก ชี้แจงว่าเรื่องกลุ่มการเมืองนั้น ในปี 2522-2526 ก็ไม่มีพรรคการเมือง ตอนนั้น ก็เป็นแค่กลุ่มการเมืองทั้งหมด ไม่มีอะไรเสียหาย ส่วนข้อกังวลเรื่องแกนนำมวลชน อาจจะขึ้นมาเป็นนายกฯนั้น ถ้าหากกลุ่มการเมืองที่เขาอยู่ สามารถได้คะแนนนิยมมากขนาดนั้น หาก ส.ส.ทั้งสภาไว้วางใจให้เขาเป็นนายกฯเขาก็สมควรเป็น แต่เชื่อว่าเป็นไปได้ยากและที่ยากกว่านั้นคือคนเหล่านั้น จะยอมออกมาจัดตั้งกลุ่มการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งหรือไม่ ส่วนข้อกังวลเรื่องนายกฯคนนอกนั้น เห็นว่าเราต้องพร้อมที่จะยอมรับกับอะไรใหม่ ๆ กันบ้าง อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ ควรปล่อยให้กระบวนการเดินไปก่อน
ลุยปฎิรูป ปัดตั้ง2องค์สืบทอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อคืนวันที่25เมษายน การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในภาค4 ว่าด้วยการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง มีทั้งสิ้น22 มาตราโดย นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่าไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญมาก่อนเพื่อเป็นกลไกที่จะนำไปสู่การก้าวพ้นปัญหาความขัดแย้งในชาติเพื่อยุติวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานโดยกำหนดให้มีกลไกหลัก คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองให้เกิดเป็นรูปธรรมเป็นผลสำเร็จ และ ยังยืนยันว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นมานี้ ไม่ได้มีเจตนาเพื่อสืบทอดอำนาจแต่เพื่อสืบสานงานที่ได้ทำตั้งแต่เป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมรับฟังความเห็นของสมาชิกเพื่อนำไปทบทวนต่อไป
ชู4ส่วนสำคัญดันปฎิรูปปรองดอง
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่าในภาค4 ที่การปฏิรูปและการปรองดองอยู่ด้วยกันนั้น เพราะทั้ง 2 เรื่องถูกโยงเข้าด้วยกันจะสนับสนุนกันและมีผลกระทบต่อกัน การปฏิรูป มีข้อกำหนดชัดว่ามีใครรับผิดชอบ ในมาตรา 277 แบ่งเป็น4 ที่ส่วนสำคัญคือ รัฐสภามีหน้าที่ในการปรับแก้กฎหมายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูป คณะรัฐมนตรี บริหารจัดทำแผนเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูป หน่วยงานรัฐ มีหน้าที่หลักคือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 เป้าหมายหลักเพื่อเสริมในการปฏิรูปและพลเมืองด้วย กมธ.ยกร่างฯตระหนักว่าลำพังรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ไม่สามารถปฏิรูปให้เกิดผลสำเร็จได้ ต้องได้แรงหนุนจากพลเมือง
นางสุภัทรา นาคะผิว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า สมัชชาพลเมือง ไม่ใช่เป็นการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของรัฐ แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงเพื่อให้เป็นกระบวนการเสริมสร้างการทำงานขององค์กรท้องถิ่นที่มีประชาชนในท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การสร้างวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยคนในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นส่วนสนับสนุนและส่งเสริมกลไกการพัฒนาระดับชาติ
ประมนต์ค้านตั้งสภาขับเคลื่อนฯ
ด้าน นายประมนต์ สุธีวงศ์ สปช. ด้านบริหารราชการแผ่นดินอภิปรายให้ยกเลิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพราะไม่มีความจำเป็นด้วยเหตุผลอาทิเปลืองงบประมาณ,เกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีการใช้อำนาจซ้อนอำนาจของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาคาดว่าสภาปฏิรูปฯจะเสียเวลาด้านพิธีการ มากกว่าสาระ เพราะต้องมีการกำหนดกติกา และกรณีที่กำหนดที่มาของสภาขับเคลื่อนฯให้มาจาก สปช. สนช. และผู้ทรงคุณวุฒิ ถือเป็นสายล่อฟ้าทำให้เสียภาพพจน์ของสปช.และถูกกล่าวหาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ
สปช.ถกร่างรธน.เป็นวันที่หก
ต่อมา เช้าวันที่ 25 เมษายนได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเป็นวันที่ 6เริ่มอภิปรายภาค 4ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ต่อ มีทั้งสิ้นจำนวน 22มาตรา สาระสำคัญคือการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม การมีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และหมวดสุดท้ายการสร้างความปรองดอง
ย้ำต้องปฏิรูปสื่อห่วงสร้างแตกแยก
นายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ อภิปรายเห็นด้วยกับการปฏิรูปสื่อมวลชน มีความจำเป็นที่ต้องทำเพราะที่ผ่านมาปัญหาของบ้านเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากสื่อมวลชน สิ่งที่อยากเห็นคือการไม่ใช้สื่อมวลชนไปสร้างความแตกแยก ที่ผ่านมา มีองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลสื่อ แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ จึงเสนอให้องค์กรวิชาชีพ เข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะการทำงานของสื่อต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงหลักฐาน จรรยาบรรณในการทำหน้าที่และต้องให้หลักประกันในการใช้สิทธิเสรีภาพให้สอดคล้องกับการทำหน้าที่ ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่และได้รับการยอมรับ
หนุนกำหนดกรอบปฎิรูป5ปี
นายเกริกไกร จีระแพทย์ สปช.อภิปราย เห็นด้วยในการกำหนดกรอบเวลาการปฏิรูป 5 ปี เพราะฝ่ายการเมืองไม่ควรอยู่ยาว แต่จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ใช่เมื่อครบกำหนด5 ปี การปฏิรูปจะยุติ ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องเผชิญปัญหาโดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และมีความเป็นห่วง มาตรา 193 เรื่องความชัดเจนของถ้อยคำและนำไปสู่ความยุ่งยากในทางปฏิบัติในเรื่องการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้า
กมธ.ถกปรับโครงสร้างสตช.28เมษา
ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)แถลงว่าวันที่ 28 เมษายน คณะกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯจะประชุมเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)โดยจะพิจารณาถึงความคืบหน้าแนวทางการปฏิรูปว่าจะเป็นไปในแนวทางใด ทั้งเรื่องอำนาจหน้าที่ และภารกิจ ของ สตช. อะไรที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก ก็จะโอนถ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดูว่าจะเป็นหน่วยงานใดบ้างหรือให้คงภารกิจใดไว้ที่ สตช.และต้องป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเช่นการแต่งตั้ง ผบ.ตร.การโยกย้ายใน สตช. อีกทั้งจะพิจารณาถึงการกระจายอำนาจการบริหารงานของตำรวจ สู่ระดับจังหวัด คาดว่าจะใช้เวลา 30-60 วันก่อนจะส่งเข้าที่ประชุม สปช.ต่อไป