สปช.ชี้ช่องโหว่รธน.หวั่นเกิดความขัดแย้งจากประชามติ

สปช.ชี้ช่องโหว่รธน.หวั่นเกิดความขัดแย้งจากประชามติ

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในบททั่วไปภาค1ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชนในช่วงบ่าย เป็นการสลับกันอภิปรายของตัวแทนประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ของสปช.

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองประธานคณะกมธ.ปฏิรูปพลังงาน สปช. อภิปรายว่า เป็นห่วงเรื่องการตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัด ตามมาตรา 77 ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ เกรงว่าหน่วยงานดังกล่าวจะมีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)จังหวัด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)จังหวัด จึงไม่มั่นใจว่าการตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัด จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะการตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงคิดว่าควรนำงบประมาณไปเพิ่มประสิทธิภาพให้หน่วยงานเดิมจะดีกว่า

"ในเรื่องขององค์กรอัยการ คณะกมธ.ยกร่างฯได้แก้ไขในหลายเรื่องโดยเฉพาะการไม่ให้พนักงานอัยการเข้าไปปฏิบัติใดๆในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่หนักมาก รัฐวิสาหกิจมีทั้งที่ดีและไม่ดี จำเป็นต้องมีผู้มีความรู้ในเรื่องกฎหมายและการตีความสัญญามาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ จึงคิดว่าควรเปิดช่องให้พนักงานอัยการเข้าไปหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม" นายคุรุจิต กล่าว

นายคุรุจิต กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน มีความเป็นห่วงในเรื่องการกำหนดกระบวนการประชามติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกมธ.ยกร่างฯได้บัญญัติเจตนารมณ์ของการทำประชามติว่าให้เป็นการทำประชามติระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จึงมีความเป็นห่วงอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ อย่างโครงการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทาน การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์แห่งใหมม่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ เป็นต้น ซึ่งได้ผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบพร้อมกับมีแนวทางการชดเชยที่เป็นธรรม แต่ต้องมาเสนอจัดทำประชามติในระดับท้องถิ่น หากเกิดไม่ผ่านการทำประชามติขึ้นมา จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ จะนำไปสู่ความขัดแย้งแบบภูมิภาคหรือไม่ และจะเกิดการพัฒนาเพื่อส่วนรวมได้อย่างไร

"เกิดมีจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งอยากขอทำประชามติแบ่งแยกไปปกครองตนเองจะเกิดมีปัญหาขึ้นได้หรือไม่ เหมือนกับที่สก็อตแลนด์ขอทำประชามติจากประชาชนว่าจะรวมอยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไปหรือไม่ คณะกมธ.ยกร่างฯอาจตอบว่าการทำประชามติจะทำในเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่อย่าลืมนะว่าวิธีการชงเรื่องในการทำประชามติระดับท้องถิ่น อาจมีคนสมองไวเขียนประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกไปปกครองตนเอง แต่จะไปเขียนในทำนองเพื่อให้มีผลเสมือนกัน เช่น การขอมีอำนาจจัดเก็บภาษีเอง การขอมีกองกำลังตำรวจท้องถิ่นเอง เป็นต้น จึงคิดว่าการทำประชามติควรทำเฉพาะในระดับชาติเท่านั้นและไม่ควรให้มีการดำเนินการบ่อยๆด้วย"นายคุรุจิต กล่าว

นายคุรุจิต กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์ประมาณ 70% แต่ถ้าเราจะหวังให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีมีสุข ก็ควรมุ่งให้ประเทศมีรัฐบาลที่ดีและเก่ง และต้องให้อำนาจและความคล่องตัวกับรัฐบาลตามสมควร ไม่ใช่ออกแบบระบบให้เต็มไปด้วยผู้ตรวจสอบ จนคนดีๆและคนเก่งๆไม่อยากเข้ามาทงานบ้านเมือง เราไม่ควรเขียนกติกาเพิ่มขั้นตอนมากขึ้น และเขียนในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการตีความได้ทุกเรื่อง มิเช่นนั้น จะเกิดความแตกแยกทางความคิดและจะมีคนส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจำนวนมาก จนศาลรัฐธรรมนูญรับไม่ไหว

"เราไม่ควรออกแบบให้การกำหนดนโยบายบริหารประเทศ ต้องเกิดการตีความในศาลรัฐธรรมนูญว่านโยบายนั้นเหมาะสมกับประเทศหรือไม่ แบบนั้นไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ในความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนเลือกมา แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องรับฟังเสียงข้างน้อยและหามาตรการรองรับที่เหมาะสม ผมอยากวิงวอนให้คณะกมธ.ยกร่างฯให้ทบทวนดูว่ามีอะไรแปลกใหม่ที่ได้ออกแบบและใส่เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นเจตนาที่ดีแต่บางครั้งอาจแฝงไว้ด้วยความเกินพอดีหรือไม่ น่าจะใช้ทางสายกลาง ฟังเสียงท้วงติงจากสปช.บ้าง มิเช่นนั้นแล้ว เกรงว่ารัฐธรรมนูญที่เราหวังจะให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศสร้างความปรองดองก็ไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น" นายคุรุจิต กล่าว

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบ กล่าวว่า การสร้างความโปร่งใสที่สำคัญเพื่อให้เป็นไปตามหลักการเรื่องพลเมืองเป็นใหญ่ คือ การให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยไม่มีการกีดกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าในรัฐธรรมนูญได้มีมาตรการรองรับเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ

นายประมนต์ กล่าวว่า อยากให้มีการออกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างกลไกป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองหรือนโยบายประชานิยม ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาต่อประเทศ เพราะที่ผ่านมามีการใช้เงินแผ่นดินในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย


ขอบคุณข่าวจาก :: posttoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์