ท่ามกลางการเตรียมเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังความเห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ งานนี้บรรดา สปช. แบ่งทีมกันจองกฐินจ้องยำ 5 ปมร้อน
กลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ถูกรุมถล่มกันรายวัน สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนดี315มาตราที่มี“อ.ปื๊ด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ท่ามกลางการเตรียมเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังความเห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 20-26 เม.ย.นี้
งานนี้บรรดา สปช. แบ่งทีมกันจองกฐินจ้องยำ 5 ปมร้อนคือ ปมที่มานายกฯ,ที่มา ส.ว.,ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม,พรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง รวมถึงองค์กรอิสระ
เป็น 5 ปมฮอตท็อปฮิตที่ถูกขาประจำถล่มกันแบบไม่ขาดสาย อย่าง“หน.มาร์ค”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกหน้าไล่บี้ให้รัฐบาลท็อปบู๊ตทำประชามติเป็นตราประทับการันตีความชอบธรรมตัดปัญหาความหวาดระแวงว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย
พร้อมส่งเสียงเตือนว่า หากผลักดันต่อไปปัญหาที่ คสช. ตั้งเป้าว่าการเมืองจะสงบจะกลายเป็นตรงกันข้าม คือรุนแรงขึ้น ถ้าไม่ทำประชามติ อะไรจะเป็นหลักประกันว่า 1-3 ปีจากนี้ไปคนไทยยังไม่เลิกเถียงกันเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเสียโอกาสของประเทศ และถ้าจะทำประชามติก็ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ประชาชนเลือกด้วย
ขณะที่พรรคเพื่อไทย“ภูมิธรรม เวชยชัย”รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกโรงเตือนกมธ.ยกร่างฯ และสปช. ให้ระวังอย่าให้คนรู้สึกว่ามีการฮั้วกัน ระบุถ้าจะรีเซตประเทศใหม่ก็ต้องทำให้โปร่งใส ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เสนอนั้นดีเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริง ๆ กระบวนการใดที่ทำแล้วทำให้คนรู้สึกว่ามีการล็อบบี้กัน หรือมีการฮั้วกัน ก็ไม่ควรทำให้เกิดขึ้น
ที่สำคัญคือควรทำให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ทำให้คนได้รับรู้รัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่มากขึ้น ก็จะมีประโยชน์ที่ผ่านมา นายกฯพูดว่า จะรีเซตประเทศใหม่ กำลังจะกลัดกระดุมใหม่ก็ต้องกลัดให้ถูกเม็ด เพราะถ้ากลัดผิดตั้งแต่เม็ดแรกก็จะผิดหมด
ด้านองค์กรอิสระออกตัวแรงไม่แพ้กัน อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ส่งสัญญาณ เตือนอันตรายหวั่นการเมืองแทรกคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เพราะโครงร่างของรัฐธรรมนูญจะวางให้ข้าราชการประจำเป็นผู้ขับเคลื่อน กจต.
ส่วน“ศรีราชา วงศารยางค์กูร”ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างฯ ฟังเสียงสะท้อนของประชาชน หากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็จะมีการต่อต้าน คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะไปสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้
ล่าสุดสภาพัฒนาการเมืองเปิดผลโพลสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า คนอยากเลือกนายกฯ และ ส.ว. โดยตรง พร้อมวอน กมธ.ยกร่างฯ อย่าเอาความเห็นตัวเองเป็นใหญ่ เพราะจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพหนีเสือปะจระเข้ ได้รัฐธรรมนูญกำมะลอ
เล่นเอา สปช. อย่าง“ประสาร มฤคพิทักษ์”ถึงกับอดรนทนไม่ไหว ออกมาป้อง กมธ.ยกร่างฯ อัดเสียงค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ว่า กลัวเสียผลประโยชน์เลยตั้งหน้าต้าน เพราะร่างฉบับนี้ไปขวางทางสะดวก คือการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทำให้พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กสามารถจะมี ส.ส.เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ที่ออกอาการไม่พอใจระบบเลือกตั้งนี้ แต่พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และพรรคภูมิใจไทย สงวนท่าทีไม่คัดค้านอะไร เพราะพวกเขาได้ประโยชน์
“ประสาร”แจกแจงข้อดีว่า ระบบเลือกตั้งแบบใหม่เปิดไฟเขียวให้กลุ่มการเมืองและบุคคลสามารถสมัครเลือกตั้งโดยอิสระได้ ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ประเด็นนี้จะทำให้นักการเมืองในพรรคใหญ่สามารถสละเรือลำเก่า มาเป็น ส.ส.ได้ด้วยกลุ่มหรือบารมีของตัวเอง แถมยังมีศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ในสภาด้วย ยกมือได้อย่างอิสระ ไม่ต้องทำตามบัญชาของพรรค
แนวทางแบบนี้ พรรคใหญ่ไม่ชอบ เพราะคุมคนของตัวเองไม่ได้ ส่วนการลงคะแนนด้วยการให้อำนาจประชาชนเป็นคนกำหนดตัว ส.ส. ที่เรียกว่าระบบโอเพ่นลิสต์นั้น ทำให้นักการเมืองรายชื่อต้น ๆ ในบัญชีรายชื่ออาจไม่ถูกเลือก พวกเขาจึงต้องไปหาเสียงกับประชาชนด้วย จะมัวเสวยสุขด้วยการควักกระเป๋าจ่าย ด้วยการเป็นเครือญาติเจ้าของพรรค ทำแบบนั้นไม่ได้อีกต่อไป
“ผมจึงไม่แปลกใจที่นักการเมืองพวกนี้ออกมาขวางลำ หากกมธ.ยกร่างฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ผมเชื่อว่าประชาชนจะเห็นด้วย เพราะนี่เป็นการคืนอำนาจจริงให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดคนที่จะมาเป็นปากเป็นเสียง เป็นหูเป็นตาของเขาจริง ๆ”
ด้าน“เสธ.ไก่อู”พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมากระตุกเตือนสังคมขอให้คิดให้รอบด้านว่าควรทำประชามติร่างรธน.หรือไม่ เพราะการขอความเห็นส่วนรวมถือเป็นเรื่องใหญ่ และถ้าขอความคิดเห็นจากประชาชนโดยปราศจากการเผชิญหน้านั้นเป็นไปได้ยาก ยกตัวอย่างรัฐบาลที่ผ่านมาเคยมีการสอบถามว่าจะมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป และส่งผลให้เห็นชัดว่ามีคนที่เห็นต่างออกมาชุมนุมจนเกิดลุกลามบานปลาย ทำให้คสช.ต้องเข้ามา
“การทำประชามติเป็นช่องหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนติดตามและให้ความสนใจต่อร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้า หรือความขัดแย้งของฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน ประชาชนน่าจะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนั้นอีก อยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาอย่างรอบคอบ มีสติ และบริสุทธิ์ใจต่อบ้านเมือง เชื่อว่าเราจะพบแนวทางที่ดีที่สุดได้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ส่วน“เทียนฉาย กีระนันทน์”ประธาน สปช.บอกว่า วันนี้เรื่องการทำประชามติยังไม่ใช่พระเอก ควรให้ความสำคัญเรื่องเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญก่อน เพราะการทำประชามติมองได้เป็นสองด้านคือ การสร้างความชอบธรรมด้วยการทำประชามติ หรืออาจเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมจากการทำประชามติ
ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะทำประชามติทั้งฉบับแบบปี 2550 หรือจะทำประชามติเป็นรายมาตรา หากทำเป็นรายมาตรา และไม่ผ่านบางมาตราจะแก้ปัญหากันอย่างไร หรือหากสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร หรือถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่สปช.ไม่เห็นชอบด้วยจะทำอย่างไร
เป็นโจทย์แซ่บ ๆ รวมฮิตเสียงติติง ก่อนร่างรัฐ ธรรมนูญจะเข้าสู่เวทีชำแหละของ สปช. ถึงคิวคนไทยต้องเกาะริงไซด์ รอลุ้นกติกาประเทศ.
ชำแหละคำเตือนร่างรธน. ประชามติส่อแท้งก่อนท้อง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ชำแหละคำเตือนร่างรธน. ประชามติส่อแท้งก่อนท้อง