ปัญหาต่างระดับ ‘ทักษิณ-ธรรมกาย’

ปัญหาต่างระดับ ‘ทักษิณ-ธรรมกาย’

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการ/คอลัมนิสต์ด้านศาสนา

แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีรัฐประหารขจัดคุณทักษิณ ชินวัตรเพียงใด แต่ถ้าเรายืนยัน “หลักการประชาธิปไตย” เราก็ต้องวิจารณ์คุณทักษิณอย่างตรงไปตรงมาด้วย

ดังที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็น เช่น การที่คุณทักษิณไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่ชัดเจน ขณะที่อาศัยพลังคนเสื้อแดงจำนวนมากออกมาเสี่ยงตายต่อสู้ทางการเมืองสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วแทนที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองระดับชาวบ้านธรรมดา


ซึ่งมีความชอบธรรมที่สุดและมีความเป็นไปได้ในทางการเมืองมากกว่า แต่กลับพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” และมีการเล่นการเมืองในสภาหลายอย่างที่เป็นการทำลาย “ความชอบธรรม” ของเสียงข้างมาก จนนำมาสู่ความขัดแย้งและรัฐประหาร 2557

หลังเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าการเมืองในสภายังเป็นการเมืองที่ทำลายความชอบธรรมของเสียงข้างมาก นอกจากจะเป็นการเมืองที่ห่างไกลจาก “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่เราต้องการ ยังเป็นการเมืองที่ทำลายเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนอีกด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อเกิดกรณีเรียกร้องให้เอาผิดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายขึ้นมาอีกก็มีการมองกันทำนองว่า การมุ่งขจัดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ไม่ต่างอะไรกับการมุ่งขจัดคุณทักษิณ

แต่ที่จริงแล้ว ปัญหาคุณทักษิณกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมีความซับซ้อนต่างระดับกัน ขณะที่คุณทักษิณถูกทำรัฐประหารโดยอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไม่ได้ถูกกระทำในลักษณะเดียวกันหรือแม้แต่คล้ายกัน

วัดพระธรรมกายก็คือวัดภายใต้ระบบการปกครองสงฆ์แบบทางการคือ “มหาเถรสมาคม”


แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับระบบปกครองสงฆ์แบบทางการ เพราะขัดหลักการ “แยกศาสนาจากรัฐ” หรือขัดหลักการรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตย(ที่ยังไม่ใช่คุณสมบัติของ “รัฐไทย” ในเวลานี้) แต่โดยการยืนยันหลักการนี้ ก็หนีไม่พ้นที่เราจะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ธรรมกายด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น แม้ธรรมกายจะอยู่ภายใต้ระบบปกครองสงฆ์แบบทางการ แต่ก็มีแนวทางบริหารองค์กรแบบเอกชน และมีอิสระในการเผยแผ่เชิงรุกตามแนวทางของตนเอง สภาวะที่อยู่ใต้ปกครองขององค์กรสงฆ์แบบทางการ แต่บริหารจัดการอย่างอิสระแบบเอกชนดังกล่าว ทำให้ธรรมกายสามารถจะมี “สิทธิพิเศษ” บางอย่าง

เช่น สามารถอาศัยอำนาจบารมีพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม กลไกการปกครองสงฆ์แบบทางการ อำนาจรัฐ กลไกราชการเพื่อขยายการเผยแผ่พุทธศาสนาเชิงรุกตามแนวทางของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่าสำนัก วัดใดๆ หรือแม้แต่มหาเถรสมาคมเองจะทำได้

ดังเห็นได้จากการจัดบวชพระทีละเป็นแสนรูปแล้วส่งไปอยู่ตามวัดต่างๆ(ทั้งที่วัดเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นต่อวัดพระธรรมกาย)

การจัดบิณฑบาตพระทีละเป็น 10,000 รูป โดยนิมนต์พระจากวัดต่างๆ และอาศัยหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การผลักดันโครงการปฏิบัติธรรมของตนเองให้เป็นโครงการของรัฐที่ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท การจัดหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาตามแนวทางของตัวเองในโรงเรียนของรัฐ อาศัยกลไกราชการเกณฑ์ครู นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรม ตอบปัญหาธรรมะ หรืองานสำคัญๆ ของวัดครั้งละหลายพัน หรือเรือนหมื่นเป็นต้น

หากการดำเนินการทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องขององค์กรศาสนาเอกชนที่เข้าไปทำความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ นั่นก็เป็นเรื่องที่เราพอมองได้ว่าไม่แปลกอะไร จะถือว่าธรรมกายก็อยู่ใน “ตลาดเสรีทางจิตวิญญาณ” ในโลกสมัยใหม่ก็ย่อมได้ แต่ปัญหาคือในสังคมที่ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐ ตลาดเสรีเช่นที่ว่ายังไม่เกิดขึ้นจริง

ทว่าภายใต้ระบบที่ไม่มีตลาดเสรีทางจิตวิญญาณจริง ธรรมกายก็คือองค์กรสงฆ์แบบทางการที่ใช้วิธีบริหารจัดการแบบเอกชน พร้อมๆ กับใช้อำนาจ กลไกระบบปกครองสงฆ์และอำนาจรัฐ กลไกราชการเผยแผ่พุทธศาสนาตามแนวทางของตัวเองรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะเช่นหน่วยงานราชการ โรงเรียนได้มากที่สุด

ที่สำคัญธรรมกายไม่ได้ถูกขจัดโดยอำนาจอื่นเหมือนคุณทักษิณ แต่ธรรมกายอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ได้เลื่อนสมณศักดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม ขณะเดียวกันธรรมกายก็ทำประโยชน์แก่คณะสงฆ์มาก เช่นให้ทุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์ จัดบิณฑบาตช่วยเหลือพระสงฆ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น

แน่นอนว่า ปัญหากรณีธรรมกาย อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบแนวคำสอนและการเผยแผ่ของวัดพระธรรมกาย หรือเชื่อว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิกจริงและพยายามเรียกร้องให้เอาผิด

แต่เราจะมองเห็นเฉพาะปัญหา “การจับผิด” ธรรมกายในด้านเดียวคงไม่ถูกนัก ยิ่งไปมองว่าธรรมกายก็คือฝ่ายที่ถูกมุ่งขจัดไม่ต่างจากคุณทักษิณ ยิ่งเป็นการมองข้ามรายละเอียดและความซับซ้อนของปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองสงฆ์อีกจำนวนมาก

โดย เฉพาะในความเป็นธรรมกายเองซึ่งก็เป็นองค์กรสงฆ์ตามกฎหมายแต่เกี่ยวข้องกับ ทุนมหาศาลโดยไม่มีระบบการตรวจสอบความโปร่งใสตามกฎหมายที่ชัดเจนก็เป็นปัญหา ให้ตั้งคำถามได้มากเช่นกัน (รวมทั้งวัดอื่นๆ ด้วย)


ที่สำคัญ ประเด็นแนวความเชื่อทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อสังคม ถ้าเราตั้งคำถามกับแนวคิดคล้ายกัน เช่นแนวคิดเรื่อง “บุญ-เดช” (คำของ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ) ซึ่งอิงอยู่กับจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิพระร่วง ที่สร้างความเชื่อว่าทำบุญมามากจึงทำให้มีอำนาจมาก หรือเกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย คือแนวคิดสนับสนุนความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น ตามตรรกะของแนวคิดเช่นนี้ คนที่เกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนายนอกจากจะมีความชอบธรรมในการเป็นผู้อยู่ในสถานะชนชั้นสูงกว่าในชาตินี้แล้ว ยังผูกขาดการเป็นชนชั้นที่สูงกว่าทางสังคมในชาติต่อๆ ไปได้ด้วย เพราะถ้าการทำบุญมากหมายถึงการบริจาคทานมาก ก็มีแต่คนในชั้นบนเท่านั้นที่สามารถทำบุญได้มาก

เช่นเดียวกันแนวความเชื่อเรื่อง “บริจาคมาก-รวยมาก” ที่อิงจักรวาลวิทยาแบบอายตนนิพพานของธรรมกาย
ก็คือแนวคิดที่สนับสนุนความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ตามตรรกะของแนวคิดเช่นนี้ คนรวยย่อมสมควรเป็นคนรวยและผูกขาดความเป็นคนรวยได้ตลอดไป เพราะมีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถบริจาคมากได้

ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองจากหลักการแยกศาสนาจากรัฐ หรือหลักการรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตย และหลักการของพุทธศาสนาเอง ธรรมกายก็ควรถูกตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเดียวกับมหาเถรสมาคม รวมทั้งท่านพุทธทาส และพระภิกษุรูปอื่นๆ ที่เป็นองค์กรหรือบุคคลสาธารณะ ที่มีบทบาทและแนวคิดส่งผลกระทบต่อสังคม

 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์