9มี.ค.2558 ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ วาระพิจารณาทบทวนบทบัญญัติและพิจารณาเจตนารมณ์ของเนื้อหา ในช่วงบ่าย นอกจากจะพิจารณาปรับแก้ไขถ้อยคำ และเขียนเจตนารมณ์ที่ชัดเจนแล้ว ยังได้มีการปรับแก้ถ้อยคำในบทบัญญัติที่ว่าด้วยสื่อมวลชนและการกำกับคลื่นความถี่ ในสาระสำคัญ คือ มาตรา 49 ว่าด้วยเสรีภาพของพนักงานหรือลูกจ้างเอกชนซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ในวรรคท้ายที่มีบัญญัติให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์การวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ที่ประชุมได้พิจารณาตัดถ้อยคำที่ว่า “แต่ไม่ตัดสิทธิผู้นั้นที่จะฟ้องร้องคดีต่อศาล” ออก ด้วยเหตุผลที่ว่าหากไม่มีถ้อยคำดังกล่าวเขียนกำกับไว้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพมีสิทธิที่จะฟ้องร้องคดีต่อศาลได้อยู่แล้ว ขณะที่มาตรา 50 ว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม ได้ปรับแก้ถ้อยคำตามข้อเสนอของคณะกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้เพิ่มเติมคำว่า
“สารสนเทศ” ไว้ในวรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม เพื่อให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะคำว่าสารสนเทศ จะหมายถึงการสื่อสารสองทางบนอินเตอร์เน็ต เพื่อให้มีการกำกับดูแลให้มีความครอบคลุมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับการเขียนเจตนารมณ์ในมาตรา 41 ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยม มีผู้ที่ยกเหตุการณ์ปัจจุบันสอบถามว่า กรณีของพระธรรมกายถือเป็นการขัดศาสนาบัญญัติที่กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ และได้รับคำชี้แจงว่า กรณีธรรมกายถือเป็นการตีความหลักการของศาสนาพุทธผิดไปจากหลักการเดิม ดังนั้นจึงถือว่าธรรมกายไม่ใช่พุทธศาสนา ส่วนธัมมชโยที่ตีความพุทธศาสนาไม่ตรงกับหลักการของพุทธศาสนาก็เป็นการตีความหมายที่ผิด ดังนั้นประเด็นดังกล่าวธัมมชโยถือเป็นอีกนิกายที่เข้าข่ายเสรีภาพ เว้นแต่ในอนาคตจะมีการตั้งนิกายใหม่ เป็นธัมมชโยศาสนา ถ้าแบบนั้นก็ต้องว่ากันอีกที
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในวาระพิจารณาทบทวนบทบัญญัติของมาตราในร่างรัฐธรรมนูญในวันแรกนั้น ได้พิจารณาแล้วเสร็จไป 51 มาตรา และปิดประชุมเมื่อ 16.30 น.
พศ.เผยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ปัญหาพระ
นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า จากการที่สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.) และเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ออกมาเรียกร้องให้มีการผลักดันร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ให้มีผลในทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์และพ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้น ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งขั้นตอนจากนี้นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะเตรียมนำเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม(มส.)มาแล้ว
“หากพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกมา จะทำให้การปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะดูแลคณะสงฆ์ให้เกิดความเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ไม่ประพฤตินอกกรอบความเป็นสมณะ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า คณะสงฆ์โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม ไม่เคยปฏิเสธเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการทำสถาบันพระพุทธศาสนาให้เกิดความเข้มแข็ง และเกิดศรัทธาต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาคณะสงฆ์ ก็พยายามผลักดัน พ.ร.บ.อุปภัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาพระสงฆ์ประพฤติไม่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการผลักดันจากฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้ามาร่วมคิดและช่วยสนับสนุน แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เรื่องของศาสนา เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากจะทำอะไร ก็ต้องมีความรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบในวงกว้างได้”ผอ.พศ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนกรณีที่สนพ.เรียกร้องให้พศ.ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธอิสระ ที่ละเมิดพระธรรมวินัยนั้น นายพนม กล่าวว่า พศ.ได้มอบหมายให้ฝ่ายนิติการดำเนินการอยู่ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลแจ้งไปทาง เจ้าคณะปกครอง โดยเฉพาะเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ต้องดำเนินการพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ พศ.จะเข้าไปก้าวล่วงไม่ได้ พศ.ทำได้เพียงเสนอเรื่องให้ เจ้าคณะปกครองรับทราบเท่านั้น ส่วนกระบวนการสอบสวนก็ต้องอยู่ที่เจ้าคณะปกครองในพื้นที่ดำเนินการ