เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวางกรอบแนวทางการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งเป็นวันที่ 19 โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์ได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบว่าทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้รับเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารกับเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย กว่า 20 ประเทศ โดยทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้นำเอกสารคำแปลร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษที่ผ่านการพิจารณาในภาคที่ 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน และพิทักษ์สิทธิประชาชน แจกให้กับทางตัวแทนเอกอัครราชทูตที่รับประทานอาหาร โดยแต่ละประเทศมีการสอบถามถึงการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แต่ไม่ได้ติดใจ เพราะทางประเทศฝรั่งเศส สเปน ได้ควบรวมทั้ง 2 หน่วยงานเป็นองค์กรเดียวกัน
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางเอกอัครราชทูต ยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความสนใจประเด็นการเลือกตั้งเป็นพิเศษว่าจะมีรูปแบบอย่างไร ขณะเดียวกัน นายมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ได้แจ้งว่าวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ ที่เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.อุดรธานี ด้วย
ทางด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงค์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดปฏิรูป เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณาความเห็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทั้ง 18 คณะ ที่ได้มีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ ซึ่งความเห็นที่เสนอเข้ามานั้น แต่ละคณะ มีมากถึง 40 ประเด็น ทำให้ไม่สามารถกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จึงมีมติให้แต่ละคณะกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยขอให้แต่ละคณะเสนอมาไม่เกินคณะละ 3 มาตรา ซึ่งแนวทางในการยกร่างฯ กำหนดให้มีหลักการที่เชื่อมโยงกับหมวดสิทธิและเสรีภาพพลเมือง กับหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยหมวดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเข้มข้นกำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม หากไม่ดำเนินการหรือเพิกเฉยก็จะกำหนดมาตรการบังคับไว้ หรือบทลงโทษ เพื่อป้องกันรัฐบาลเพิกเฉย และเพื่อให้รัฐธรรมนูญสั้นกระชับ ตั้งใจว่าจะกำหนดให้หมวดปฏิรูปมีไม่เกิน 27 มาตรา เพื่อให้การปฏิรูปสามารถเดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าเพื่อให้การปฏิรูปบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยดี จำเป็นต้องมีการทำประชามติ