177 อดีตสส.สู้ต่อ ทักษิณฮึด ร่อนจม.ผนึกพลัง

หลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค


พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ร่อนจดหมายข้ามทวีป ขออภัยอดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคที่พรรคไทยรักไทยต้องพบจุดจบอย่างไม่คาดคิด พร้อมเรียกร้องให้จับมือกันต่อสู้ทางการเมืองต่อไป

ยุบ ทรท.สนองความปรารถนาบางกลุ่ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 พ.ค. ที่โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทรัลพลาซ่า นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ ต้องขอแสดงความเสียใจกับสมาชิกพรรคไทยรักไทยทุกคน และขอแสดงความยินดีกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ถูกยุบ

แต่เราคาดอยู่แล้วว่าเมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจ

และมีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 แล้วมีการเขียนรัฐธรรมนูญของตัวเองให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญ เราคาดอยู่แล้วว่าชะตากรรมของพรรคไทยรักไทยจะออกมาเป็นเช่นนี้ กระบวนการและความพยายามในการยุบพรรคไทยรักไทย ยังเป็นความปรารถนาที่แรงกล้าของคนบางกลุ่มอยู่

ตั้งข้อสงสัยดุลยพินิจของตุลาการฯ


นายนพดลกล่าวว่า คดียุบพรรคเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักกฎหมายและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมไปอีกนาน โดยเฉพาะใน 3-4 ประเด็น คือ 1. เรื่องดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของ 2 กลุ่ม มีความเท่าเทียมหรือมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ 2. พรรคไทยรักไทยจะต้องรับผลจากการกระทำของกรรมการบริหารมากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะเรื่องหลักกฎหมายที่ระบุว่า

บุคคลจะต้องรับผิดในการกระทำของตัวเอง จะขยายขอบเขตไปมากน้อยแค่ไหน 3. โทษการยุบพรรคที่เปรียบเหมือนโทษประหารชีวิต ได้สัดส่วนกับกรณีการกระทำผิดของกรรมการบริหาร ที่ถือเป็นปัจเจกชนหรือไม่ และ 4. มีความเป็นธรรมกับสมาชิกพรรค 14 ล้านคน ที่ต้องรับเคราะห์จากผลการกระทำของปัจเจกชนแค่ไหนเพียงไร คิดว่าสังคมของนักกฎหมายต้องดูกันต่อไป

ทักษิณ ร่อนแถลงการณ์ปลุกขวัญ


นายนพดลกล่าวว่า เมื่อมีคืนเดือนมืดก็ต้องมีรุ่งเช้าที่มีแสงสว่าง ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และต่อสู้โดยสันติวิธีและกรอบกฎหมายบ้านเมือง พ.ต.ท. ทักษิณได้ติดตามการพิจารณาของตุลาการรัฐธรรมนูญต่อเนื่อง เพราะได้รายงานให้ทราบทุกๆระยะ ท่านทราบแล้วและเมื่อคืนวันที่ 30 พ.ค. ก็ได้เขียนจดหมายแต่ไม่ใช่จดหมายรัก

แต่เป็นแถลงการณ์ส่วนตัวต่อเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้

จนถึงประมาณเวลา 03.00 น. ของวันที่ 31 พ.ค. ก็เสร็จ จึงจะขออ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวซึ่งมีใจความว่า ที่กรุงลอนดอน กราบเรียนพี่น้องประชาชนและสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่รักและเคารพทุกท่าน อนุสนธิจากคำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยุบพรรคไทยรักไทย และห้ามผมและคณะกรรมการบริหารทั้ง 111 คน ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีนั้น

ในฐานะที่ผมเป็นผู้เริ่มก่อตั้ง

และทำหน้าที่หัวหน้าพรรคมาจนถึงมีการปฏิวัติ ผมต้องขอกราบขออภัยต่อสมาชิก กรรมการบริหาร และผู้สนับสนุนพรรคทุกท่านที่ต้องมาพบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ผมขอน้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะที่นำพรรคมาพบจุดนี้

กระตุ้นลูกพรรคทำงานการเมืองต่อ


นายนพดลอ่านแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณต่อไปว่า ผมเชื่อว่าการตัดสินทางการเมืองครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่จะต้องถูกนำไปศึกษาวิจารณ์และวิจัยในทางวิชารัฐศาสตร์ กฎหมาย สังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ไปจนชั่วลูกหลาน เราทุกคนมีความสำนึกต่อแผ่นดินเกิด มีความรักและห่วงใยเพื่อนร่วมชาติที่ยังไม่แข็งแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เรายังต้องเสียสละกันต่อไป ถึง

แม้ว่าผมจะประกาศวางมือทางการเมืองไปก่อนหน้านี้แล้ว

ผมก็ยังอยากจะเรียกร้องให้สมาชิกพรรคทั้งหลายได้รวมตัวกัน ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนทั่วไป โดยเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต เก็บสิ่งดีๆไว้เพื่อจะได้สร้างชาติให้เจริญทันโลก ไม่หันหลังให้โลก เพื่ออนาคตลูกหลานไทยต่อไป

ผมขอกราบขอบพระคุณและขออภัยต่อสมาชิกพรรค คณะกรรมการบริหาร

และผู้ที่สนับสนุนมา ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง และขอเรียกร้องให้ คมช.และรัฐบาลซึ่งน่าจะสบายใจแล้ว ได้จัดให้มีการเลือกตั้งและคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็ว เพื่อความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรีประเทศจะกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไป ด้วยความเคารพรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 30 พ.ค. 50

เผยสะเทือนใจลูกน้องตายคาเขียง


ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ สื่อต่างชาติว่าตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินแรงเกินไป นายนพดลตอบว่า ซีเอ็นเอ็นน่าจะนำข่าวที่ให้สัมภาษณ์ สื่อมวลชนไทยไปออกอากาศซ้ำมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อใดทั้งสิ้น เท่าที่คุยกันทางโทรศัพท์มีความรู้สึกว่าท่านสะเทือนใจ แต่ท่านวางมือทางการเมืองไปแล้วคงไม่มีอะไรมากระทบ

แต่เสียใจที่พรรคถูกพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับกรรมการบริหารพรรค

แต่มั่นใจว่าอุดมการณ์ นโยบาย แนวคิดและมรดกของพรรคที่ทำไว้ สมาชิกจะร่วมมือกันทำงานการเมืองต่อไป ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ส่วนแกนนำพรรคนั้นไม่ทราบว่าจะได้โทรศัพท์คุยกับใครบ้างหรือเปล่า แต่โทรศัพท์รายงานให้ทราบทุกระยะที่มีประเด็นสำคัญ จึงได้ตัดสินใจร่างแถลงการณ์เพื่อพูดคุยกับสมาชิก กรรมการบริหารพรรคและประชาชนด้วยลายมือตัวเอง เมื่อถามว่าเมื่อไหร่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเปิดใจกับสื่อมวลชนอย่างเต็มที่เสียที นายนพดลตอบว่า ตอนนี้มีรอยเตอร์ อัลจาซีรา เอพี เอเอฟพี ติดต่อสัมภาษณ์อยู่ แต่อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะพิจารณา

ทรท.สู้ต่อใช้ชื่อ กลุ่มไทยรักไทย


ทางด้านความเคลื่อนไหวของพรรคไทยรักไทย หลังจากถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 111 คนเป็นเวลา 5 ปี และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองในอนาคตว่า อดีต ส.ส.และอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย จะร่วมมือกันทำงานทางการเมืองต่อไปในนาม กลุ่มไทยรักไทย แม้หลายคนจะไม่มีสิทธิใดๆ ทางการเมืองแล้วก็ตามนั้น

โดยล่าสุดได้มีผู้บริหารและอดีต ส.ส.

ระบบเขตและบัญชีรายชื่อที่ไม่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง ได้ แสดงเจตจำนงร่วมอุดมการณ์กับกลุ่มไทยรักไทยแล้วจำนวน 177 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 18 คน อดีต ส.ส.เขตปี 2548 จำนวน 149 คน แบ่งเป็น กทม. 17 คน ภาคกลาง 27 คน ภาคเหนือ 46 คนและภาคอีสาน 69 คน

แกนนำตบเท้าหารือวางแผนอนาคต


ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ที่ทำการพรรคไทยรักไทย อาคารนวสร ถนนพระราม 3 ตั้งแต่เช้าวันเดียวกันว่า นายจาตุรนต์พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มไทยรักไทย ที่เป็น อดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี อาทิ นายปองพล อดิเรกสาร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายอดิศร เพียงเกษ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ได้ทยอยเดินทางมาประชุมหารือถึงทิศทางการทำงานในอนาคต

โดยส่วนใหญ่ยังมีสีหน้าไม่สู้ดี

แต่ยังคงมีประชาชนที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย มาปักหลักให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง และพยายามร่วมกันร้องเพลงรำลึกถึง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ด้วยอาการเศร้าโศก อย่างไรก็ตาม ในสายของวันเดียวกัน ได้ เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด ทำมุมตรงกับอาคารสำนักงานกลุ่ม ทำให้บรรดากองเชียร์บางคนที่กำลังนั่งร้องไห้ชวนกันดูด้วยความสนใจ โดยวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นลางบอกเหตุที่ดี แสดงว่าพรรคไทยรักไทยจะกลับมา

จาตุรนต์ บี้นายกฯ เลิกประกาศ คปค.


จนกระทั่งเวลา 12.30 น. นายจาตุรนต์กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับอดีตแกนนำและ ส.ส.ของพรรค เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของกลุ่มไทยรักไทยว่า วันนี้เป็นการหารือของอดีตแกนนำพรรค อดีต ส.ส.รวมทั้งอดีตแกนนำและอดีต ส.ส.ที่ลาออกไปแล้ว แต่จะขอกลับมาทำงานการเมืองร่วมกัน

โดยมีการลงชื่อร่วมกันเกือบ 300 คน

หากตัดชื่อของอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีแล้ว ก็คงจะเหลือประมาณ 200 กว่าคน อย่างไรก็ตามได้รับการประสานจากแกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆที่ได้ลาออกไป เช่น กลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มธรรมาธิปไตยของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญว่า บางส่วนจะมาร่วมหารือเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกัน หรืออาจจะมาอยู่ด้วยกัน

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า สำหรับการทำงานการเมืองนั้น

การร่วมลงชื่อในวันนี้เป็นการยืนยันอุดมการณ์ และแสดงเจตนารมณ์ว่า เราจะใช้ชื่อพรรคว่า พรรคไทยรักไทย ต่อไป ในวันจันทร์ที่ 4 มิ.ย.นี้ ทางกลุ่มมี 2 ภารกิจคือ 1.จะส่งตัวแทนไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงหรือยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 เพราะจากการ หารือร่วมกันระหว่างนายกฯ กับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆนั้น นายกฯ ได้รับปากว่าจะแก้ไขโดยเร็ว หลังการตัดสินคดียุบพรรค ดังนั้นเราจะไปทวงสัญญา เพื่อเปิดโอกาสให้ กลุ่มและประชาชนสามารถจดทะเบียนตั้งพรรคได้

ทักษิณ วางมือแต่ไม่ทิ้งไทยรักไทย


ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะให้การสนับสนุนกลุ่มไทยรักไทยต่อไปหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่ท่านก็ผูกพันกับพรรคไทยรักไทยมาก คนในไทยรักไทยก็รักท่าน มีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น เราย่อมให้การสนับสนุนและให้กำลังใจกันอย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มการเมืองต่างๆที่ลาออกไป จะกลับมาร่วมงานด้วยจริงหรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า

เร็วๆนี้จะเริ่มสำรวจว่า ผู้ที่จะมาร่วมงานกับกลุ่มไทยรักไทยมีใครบ้าง จะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ และจะทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มต่อไป จนกว่าจะมีการตั้งพรรคและได้บุคคลที่เหมาะสม มาทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มหรือหัวหน้าพรรคแทน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย ได้มาเชิญชวนอดีต ส.ส.ของกลุ่มไปร่วมงานบ้างหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า

หากทั้ง 2 พรรคดูดได้ อดีต ส.ส.คงไปนานแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการทาบทาม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ให้มาเป็นหัวหน้าพรรคนั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดเพราะต้องจดทะเบียนตั้งพรรคก่อน จากนั้นจะแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมา คาดว่าในขั้นตอนนี้คงยังต้องใช้เวลาพอสมควร การเลือกหัวหน้าพรรคนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นเสียงส่วนรวมของพรรคทั้งหมด


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์