ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.เวลา 14.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปี 2015” ซึ่งจัดโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ทั้งนี้ นายรัสเซล กล่าวตอนหนึ่งว่า ในปัจจุบัน การเมืองไทยถือเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ตนได้พบกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เพื่อรับฟังผู้นำทางการเมือง และผู้นำภาคประชาสังคม เพื่อรับฟังและหารือกันถึงสถานการณ์การเมืองของไทย พร้อมกับแสดงทัศนะและความหวังของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศไทย
โดยในการหารือดังกล่าว ทุกฝ่ายเน้นความสำคัญของการปรองดองและการวางรากฐานประชาธิปไตยในอนาคต ทั้งนี้สหรัฐฯให้ความเคารพกับประเทศไทย และยืนยันว่า ไม่ได้เลือกข้างอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของประเทศไทยและประชาชนไทยที่จะตัดสินว่าอะไรเป็นความชอบธรรมของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯมีความกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวทางการเมืองที่ถูกกีดกันในไทย เพราะสหรัฐฯเห็นว่าเสียงทุกเสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการร่วมออกแบบอนาคตของประเทศ และการที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงถือเป็นรากฐานในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่ปัจจุบันกลับมีประชาชนบางส่วนของไทยที่ถูกกีดกันออกจากการเมือง ตนจึงได้แสดงความเห็นเรื่องการทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น
นายรัสเซล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้พูดกับพล.อ.ธนะศักดิ์ ถึงความเป็นไปได้ในการที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย เพราะการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกและห้ามการชุมนุมใด ๆ จะเปิดโอกาสให้ทุกคน ได้แสดงทัศนะต่าง ๆ ในการปฏิรูปประเทศไทย รวมถึงจะสร้างสถาบันประชาธิปไตยที่มั่นคงและตอบสนองกับความต้องการของประชาชน ซึ่งสหรัฐฯหวังว่า การเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
ส่วนเรื่องของความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปรองดอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน มีผู้นำของไทยที่มาจากการเลือกตั้งได้ถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองจากกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร และยังเป็นเป้าหมายในการดำเนินคดีทางอาญา ในขณะที่กระบวนการประชาธิปไตยถูกรบกวนอยู่ ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศเริ่มสงสัย ว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจมีเจตนาทางการเมือง อีกทั้งเหตุการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างความปรองดอง สหรัฐฯจึงต้องการหลักประกันว่า การสร้างความปรองดองจะยังเดินหน้าไปได้ และกำลังไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย รวมถึงระบบตุลาการของไทยจะมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังเป็นพันธมิตรที่มีค่าของสหรัฐฯต่อไป
“เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับประชาคมระหว่างประเทศต่อกรณีที่รัฐบาลที่มีมาจากการเลือกตั้งถูกขจัดออกจากอำนาจ แล้วยังถูกถอดถอนอีกโดยกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกว่าคนอื่นจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่านี่เป็นการแทรกแซงทางการเมือง”นายรัสเซล กล่าว