นรนิติลั่นคว่ำรธน. ไม่ว่าอย่าใช้ความรุนแรง

หวั่นการเมืองทำรธน.ล่ม "นรนิติ"ลั่นคว่ำไม่ว่าอย่าใช้ความรุนแรง


"นรนิติ" ยอมรับหากการเมืองรุนแรงกระทบร่างรัฐธรรมนูญ ลั่นคว่ำร่าง รธน.ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าใช้ความรุนแรง

ด้าน "นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน" อ้อนสมัชชาคนจนไม่รับ รธน.ฉบับใหม่ "ประภาส" แฉกระบวนการล็อบบี้ประชาชน 1 ทหาร 1 ตำบลล้างสมองให้ผ่านประชามติ



นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึง


กระแสการเมืองในขณะนี้ ที่อาจจะส่งกระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องแยกกันระหว่างเรื่องรัฐธรรมนูญและการเมือง เพราะการเมืองมีหลายปัจจัย แต่รัฐธรรมนูญองค์กรต่างๆ ได้เสนอความเห็นและสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ออกสอบถามประชาชนซึ่งจะนำมาประมวล

เมื่อถามว่า ในวันตัดสินคดียุบพรรค 30 พฤษภาคม หากเกิดเหตุรุนแรง หรืออุบัติเหตุทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

นายนรนิติ กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองถ้ารุนแรงและมีความไม่สงบ ก็ย่อมกระทบกระเทือนแน่นอน แต่จะโดยตรงที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มี

แต่ทางอ้อมกระทบกระเทือนแน่นอน และแม้จะมีความเคลื่อนไหวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร ก็มีสิทธิ ไม่ต้องมีเหตุการณ์รุนแรง สามารถบอกได้ว่าไม่อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยความรุนแรงที่จะคว่ำ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนการตัดมาตรา 68 วรรคสอง ที่ว่าด้วยคณะกรรมการแก้วิกฤติชาตินั้น

นายนรนิติ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่อย่าไปตอบแทนคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งมีหน้าที่เป็นคนตัด ทุกอย่างจะเห็นรูปร่างรัฐธรรมนูญชัดเจนในวันที่ 10 มิถุนายน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้างกระทรวงศึกษาธิการ


เลียบคลองผดุงกรุงเกษมตลอดแนว กลุ่มสมัชชาคนจน 7 องค์กร ได้ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลบรรลุวัตถุประสงค์

โดยมี นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นประธานร่วมกับนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายอรรถจักร สัตานุรักษ์ อาจารย์คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธี

จากนั้น นายนิธิ กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมและยกตัวอย่างความไม่ซื่อตรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการเอกสารสิทธิ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นทั่วประเทศ มีทางเดียวที่คนร่วมชะตากรรมเดียวกัน คือ หันมาจับมือกันเพื่อมีอำนาจต่อรองให้มากขึ้น เปิดประเด็นว่าทำไมผู้นำทางภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ไม่ต้องมาต่อสู้กลางถนนแบบชาวบ้านเพื่อให้รัฐบาลรับฟัง

ดังนั้น ความเห็นของตนในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะผลักดันทุกรูปแบบให้ประชาชนรับรู้และร่วมกันไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นรัฐธรรมนูญมาจากการยึดอำนาจ ไม่ถูกต้องและเนื้อหาให้ระบบราชการควบคุมการเมืองไทย

ขณะที่ นายประภาส กล่าวว่า ทราบมาว่ารัฐบาลอาศัยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ออกรณรงค์ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน.ถูกใช้งานในเรื่องนี้มาก แทบจะเรียกได้ว่า 1 ทหาร 1 หมู่บ้าน โดยทางทหารได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแทรกซึมกับผู้ร่วมชุมนุม คาดว่ากลไกที่มีอยู่ต่างๆ เหล่านี้จะถูกระดมอย่างเต็มที่ และอาจจะทำให้ประชาชนลงมติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็เป็นได้



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์