นิติมธ.โดดช่วยอ.ไชยยันต์ ต่อสู้คดีฉีกบัตรเลือกตั้ง
"ศูนย์นิติ มธ.อ้าแขนช่วยอ.ไชยยันต์ ไชยพร ระบุ การฉีกบัตรเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรธน.ม. 65 เชื่อ เลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยแฝง ในรูปแบบเผด็จการพลเรือน
(2เมษายน) นายบรรเจิด สิงคเนติ อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่นายไชยยันต์ ไชยาพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉีกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งในคูหาว่า ขณะนี้ทางศูนย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการติดต่อจากนักวิชาการให้ช่วยเหลือในรูปคดีแล้ว ซึ่งตนอยากอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า
การเลือกตั้งมีอยู่ 3 รูปแบบคือ
1. การเลือกตั้งที่มีพรรคการเมือง และประชาชนต้องไปเลือกตั้ง ว่าจะเอาพรรคการเมืองไหน
2.ให้ประชาชนช่วยในการตัดสินใจว่า จะให้ใครเข้ามาบริหารประเทศ
3. การลงคะแนนรับรองตัวบุคคล ซึ่งกรณีที่ 3 จะใช้เมื่อบุคคลนั้นดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลานาน และต้องการสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง เลยต้องมีการเลือกตั้ง โดยส่วนใหญ่จะใช้ในรูปแบบเผด็จการพลเรือน ซึ่งรูปแบบที่ 3 จะไม่ใช่รูปแบบการเลือกตั้งที่แท้จริงและเป็นไปได้อย่างสูงว่า นายไชยยันต์คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นรูปแบบที่ 3 ตามหลักของรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ซึ่งระบุไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิ์แสดงออกโดยสันติวิธี และไม่ใช่การแสดงออกที่เป็นโทสะ โมหะ ซึ่งการต่อสู้ในขบวนการตามมาตรา 65 ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล
นายบรรเจิด กล่าวว่า ตนทราบข่าวมาว่า นายไชยันต์ไม่ยอมเสียค่าปรับ และต้องการต่อสู้คดีในชั้นศาลเพื่อแสดงให้เห็นถึงระบอบทักษิณที่เขาปฏิเสธ ซึ่งในมุมมองของอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์ อาจจะมีความคิดเห็นกับการกระทำครั้งนี้ ที่เราอาจไม่ทราบก็ได้ ซึ่งตนเห็นว่าการที่นายไชยยันกาช่องไม่ลงคะแนน แล้วนำบัตรเลือกตั้งมาฉีกนั้น ถือว่าทำอย่างสันติวิธีแล้ว และทางศูนย์นิติศาสตร์จะช่วยนายไชยยันต์อย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ศ.ไชยยันต์ ไชยพร เข้าไปให้ปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง หลังจากนั้นออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีจากตำรวจ และระหว่างการสอบสวนมีโทรศัพท์จาก ผอ.กกต.คนหนึ่งโทรมาให้กำลังใจในสิ่งที่ทำไป และตนขอขอบคุณเพื่อนพี่น้องจากรัฐศาสตร์จุฬา และ ลูกศิษย์ที่มาให้กำลังใจวันนี้ ยืนยันว่าการกระทำวันนี้เป็นการตระหนักถึงวิธีการต่อต้านอย่างสันติวิธี ตามรัฐธรรมนูญม. 65 ที่คุ้มครองปกป้อง สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ให้อำนาจเผด็จการมาหลอกใช้หรือมาลิดรอนได้
ซึ่งตนได้ทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดีมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง แต่ไม่มั่นใจการเลือกตั้งจะบริสุทธ์ยุติธรรม หรือบัตรเลือกตั้งของตนจะมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ตนนั่งอยู่ระหว่างความเป็นพลเมืองดี และการสร้างความชอบธรรม ให้การเลือกตั้ง ที่อำพรางจำแลงและจอมปลอม ซึ่งมันอยู่ในระหว่างความขัดแย้งของความเป็นมนุษย์ที่ดีมีมะโนสำนึก ซึ่งตนได้ตัดสินใจแล้ว จึงได้ ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
รศ.ไชยยันต์ กล่าวอีกว่า ในการสอบสวนตนได้สารภาพความผิด ซึ่งตำรวจตั้งข้อหาว่าจงใจ ทำบัตรเลือกตั้งให้ชำรุดและเสียหายตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 108 แต่ตนบอกว่าสิ่งทำไปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ซึ่งเป็นสิทธิที่ต้องได้รับการคุ้มครอง กฎหมายเลือกตั้งเป็นเพียงกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งตำรวจบอกว่าการให้การให้ปากคำของตนนี้เป็นเรื่องของการภาคเสธ ซึ่งขั้นตอนดำเนินคดีเป็นไปตามขั้นตอน และวันอังคารที่ 4 ทีมจากอาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ สว.กทม.จะมาร่วมประชุม เพื่อวางรูปคดีว่าจะดำเนินการต่อสู้ไปในแนวทางใด
ถามว่า การทำเช่นนี้กระทบตำแหน่งหน้าที่ในฐานะหัวหน้าภาควิชาการปกครองหรือไม่ รศ.ไชยยันต์กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่กระทบกระเทือนอะไร ซึ่งมีทั้งคนเห็นและไม่เห็นด้วย คนไม่เห็นด้วยคงเห็นว่าที่ตนเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ และเป็นข้าราชการ จะรับราชการต่อไปได้อย่างไร แต่ตนไม่คิดอะไรและไม่คิดว่าจะสูญเสียอะไร หากถ้าตนเป็นคนไม่มีความรู้คงจะไม่ออกมา ส่วนจะเป็นอาจารย์หรือไม่อย่างไรนั้นชีวิตนี้ไม่ได้มีแค่การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังแถลงข่าวเสร็จมีเครือข่ายวิชาการทางประชาธิปไตย 8 สถาบัน นำโดยนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ได้เดินทางมาให้กำลังใจ โดย เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวและพร้อมยืนเคียงข้างในการต่อต้านระบอบทักษิณ