อำนาจรัฐ-อำนาจเงิน ถึงเวลาได้เสีย

อีก 11 วันเท่านั้น ก็จะผ่านพ้นเดือนพฤษภาคม


ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่หลายฝ่ายออกมาชี้ว่า เป็นเดือนแห่งอันตราย

สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงเข้าขั้นปรอทแตก จะเกิดเหตุปั่นป่วนวุ่นวายภายในบ้านเมือง

ม็อบต่างๆสารพัดม็อบจะเคลื่อนพลออกมากดดันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลอย่างหนัก

เกมการเมืองจะปะทุเดือด

จนอาจนำไปสู่ความรุนแรง ถึงขั้นบ้านเมืองจะเกิดกลียุค


มาถึงวันนี้ เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมแล้ว


โดยยังไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น

แต่ก็ประมาทไม่ได้

เพราะเมื่อยังไม่ผ่านพ้นเดือนพฤษภาคม

ก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากเหตุการณ์ปัจจุบันไปสู่อนาคต

ที่สังคมคาดหวังว่าจะเดินไปสู่การเลือกตั้งเพื่อกลับไปสู่การเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ภายในปีนี้ จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่

เพราะยังมีเหตุการณ์สำคัญ ที่ต้องรอความชัดเจนในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ก่อน

นั่นก็คือ การตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ของตุลาการรัฐธรรมนูญ

ผลจะออกมาอย่างไร พรรคการเมือง 2 ขั้วใหญ่จะโดนยุบหรือไม่ถ้าถูกยุบจะโดนยุบเพียงพรรคเดียวหรือทั้ง 2 พรรค

รวมทั้งยังต้องลุ้นว่าจะมีการตัดสินลงโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี กับบรรดากรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบด้วยหรือไม่

ผลลัพธ์จากเหตุการณ์นี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง


เพราะต้องไม่ลืมว่า


พรรคการเมืองเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

โดยเฉพาะในระบบที่กำหนดให้ผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง

ดังนั้น หากคดียุบพรรคยังไม่ถึงจุดที่มีการตัดสินชี้ขาด ก็เป็นเรื่องยากที่จะเห็นความชัดเจนของภาพอนาคตการเมืองของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นกติกาในการ เดินไปสู่การเลือกตั้ง

ที่มาถึงวันนี้ ยังไม่สะเด็ดน้ำ

เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และรับฟังข้อเสนอแนะจาก 12 องค์กร ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมา

หลังจากนี้ยังต้องผ่านขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข ผ่านขั้นตอน การแปรญัตติจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จากนั้นก็ต้องจัดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศลงคะแนนเสียงประชามติว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

คำตอบสุดท้ายถึงจะออกมา

และเมื่อคำตอบสุดท้ายในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชัดเจนแล้วนั่นแหละ ถึงจะสามารถมองอนาคตการเมืองของประเทศไทยออกว่า

จะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้อย่างราบรื่นหรือไม่


อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในช่วงก่อนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม


จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง

แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีร่องรอยปรากฏให้เห็นอย่าง ชัดเจนว่า

กลุ่มอำนาจเก่ามีความเคลื่อนไหวถี่ขึ้นและหนักขึ้น ทำให้ สถานการณ์ในช่วงที่เหลืออีก 11 วันของเดือนพฤษภาคมนี้

ยิ่งดูระทึกขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ

มีแอ็กชั่นหลายอย่างที่เป็นสัญญาณให้ต้องวิเคราะห์ ประเมินท่าที

ไล่ตั้งแต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ไฮ-ทักษิณ โดยระบุออกมาอย่างชัดเจนว่า

"ช่วงนี้ต้องยอมรับว่าถูกรุมแบบไม่เป็นธรรมอยู่มากทีเดียว และการกล่าวหาต่างๆก็ไม่ได้ยึดหลักของข้อกฎหมายที่ถูกต้อง

ใช้หลักการที่ว่าจะเอาเรื่องให้ได้ จะหาเรื่องให้ได้ ซึ่งทางผมและครอบครัวก็ต้องถือว่าได้รับความเดือดร้อนมาก ทั้งๆที่ได้ทุ่มเทให้กับบ้านเมืองในอดีตมาอย่างเต็มที่

แต่ว่าวันนี้เมื่อสิ่งที่โดน ก็ทำให้พี่น้องเป็นห่วงและก็เห็นใจ ผมต้องขอกราบขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

สำหรับผมนั้นก็ถือว่าไม่ได้ทำผิด ก็ไม่เคยกลัวที่จะต้องเผชิญ และพร้อมที่จะกลับไปเผชิญทุกนาที


แต่เนื่องจากว่าความสมานฉันท์ในบ้านเมืองยังไม่เกิดขึ้นจริง


ผมก็ไม่อยากให้ตัวผมเองเป็นตัวเพิ่มปัญหาให้กับบ้านเมือง"

พร้อมทั้งสำทับทิ้งท้ายในทำนองว่า

เป็นห่วงเรื่องที่ประเทศไทยไม่มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ความน่าเชื่อถือในสังคมโลกลดลง ส่งผลให้ ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ทำให้ประชาชนลำบาก ทุนการศึกษาของบุตรหลานที่เคยได้รับหายไป

ยาเสพติดกลับมาระบาด ปัญหาอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น เพิ่มมากขึ้น

ตีแสกหน้า คมช.และรัฐบาลเปรี้ยงใหญ่

ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีต ส.ส. อุดรธานี ในฐานะเลขาธิการสมาคมนักกอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดเผยภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักกอล์ฟอาชีพฯ ว่าได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์

โดย พ.ต.ท.ทักษิณได้บอกว่า ยังตัดสินใจไม่ได้ จะเลิกเล่นการเมืองหรือกลับมาเล่นต่อ

พร้อมทั้งอ้างคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณที่ระบุว่า

"ทุกวันนี้ ผมยอมอยู่ต่างประเทศก็เพราะไม่อยากให้ ประเทศชาติมีปัญหา แต่อย่าบีบ อย่ารุมเร้ากันมาก คนเรามีขีดจำกัด อาจแตกหักกันได้"

แต่ภายหลังนายต่อพงษ์กลับออกมาปฏิเสธคำพูดดังกล่าว

เข้าตำราประเภทที่ว่า เรื่องที่คุยกันในที่ลับ ไม่ควรเอาออกมาพูดในที่แจ้ง


และก็มาถึงเหตุการณ์ล่าสุด


ในกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โทรศัพท์ ทางไกลข้ามทวีปให้สัมภาษณ์ในรายการของสถานีวิทยุชุมชนคนรู้ใจ เอฟเอ็ม 87.75 เมกะเฮิรตซ์ โดยระบุว่า

"ขณะนี้สบายดี แต่ไม่สบายใจเพราะคิดถึงบ้านเมืองและคนไทย"

"เมียกับลูกเป็นห่วงผม ผมก็ห่วงเขา เพราะอยู่เมืองไทยถูกกลั่นแกล้งทุกอย่าง แต่พอผมจะกลับก็มีความรู้สึกว่า ทางเขาก็ห่วง

แต่สำหรับผมไม่ได้ห่วงตัวเอง แต่ถ้าผมไปก็ไม่อยากให้ผมเป็นสาเหตุให้คนมาชุมนุมแล้วบ้านเมืองวุ่นวาย ตรงนั้น ที่ห่วงเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ มีความสมานฉันท์เร็วๆ

ไม่อยากให้มีลักษณะเหมือนการตามล้างแค้นกัน เพราะดูแล้วมันจะยากที่จะยุติหยุดนิ่งได้ เพราะทุกคนมีคนรักและคนไม่รัก ถ้าเกิดมาทำกันอย่างนี้ บ้านเมืองมันก็สงบยาก"

แต่ละเม็ดแต่ละดอกที่ออกมา สะท้อนอารมณ์ได้อย่างชัดเจน

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอชี้ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาเคลื่อนไหวอย่างหนักในช่วงนี้ เป้าหมายหลักก็คือ

เพื่อปกป้องขุมทรัพย์ ปกป้องครอบครัว และฐานทางการเมือง

ยิ่งใกล้วันที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณก็ยิ่งต้องเคลื่อนไหวหนัก เพราะถ้าพรรคไทยรักไทยโดนยุบ ก็เท่ากับฐานทางการเมืองของ "ทักษิณ" ถูกสลายไปด้วย

ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้หลายคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าไปตรวจสอบ ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการของศาล


ทั้งเมียและลูกถูกฟ้องร้องตกเป็นจำเลยในคดีหลีกเลี่ยงภาษี


และตัวเองก็จ่อคิวกำลังจะตกเป็นจำเลยถูกฟ้องร้องจาก คตส.

แน่นอน เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณมีพลังทุนมหาศาล ในขณะที่ชาวบ้านรากหญ้ายังชื่นชอบนโยบายประชานิยม

เขาจึงต้องเล่นกับกระแส

เพราะรู้ว่าถึงแม้จะเพลี่ยงพล้ำด้านอื่น แต่ถ้ากระแสสังคมยังหนุน ใครก็มาทำอะไรเขาได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจึงต้องพยายามสร้างภาพเรียกความสนใจจากสังคมถี่ยิบ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศวางมือเพื่อความสมานฉันท์ การรับเป็นนายกสมาคมนักกอล์ฟอาชีพฯ ข่าวการซื้อทีมฟุตบอลในอังกฤษ

ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ไฮ-ทักษิณ เปิดใจออกรายการวิทยุชุมชน ทั้งในแนวขอความเห็นใจจากชาวบ้าน ขู่กลับกลุ่มอำนาจใหม่

ติดเครื่องกระแสนิยมไว้ตลอดเวลา

เพราะเป็นทางเดียวที่เขาจะปกป้องขุมทรัพย์ ครอบครัว และฐานการเมืองเอาไว้ได้

ทีมของเราขอชี้ว่า การตัดสินคดียุบพรรควันที่ 30 พฤษภาคม และการที่กลุ่มม็อบเครือข่ายอำนาจเก่านัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง ในวันที่ 30-31 พฤษภาคม


ตารางเวลาถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว


ไม่ว่าฝนตก ฟ้าร้อง หรือแผ่นดินไหว การเมืองก็ต้องเดินผ่านไปถึงจุดนั้น

อำนาจเงิน ปะทะอำนาจรัฐ

อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

และถ้าผ่านจุดนี้ไปแล้ว ทุกอย่างก็จะชัดเจนขึ้น.



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์