ท่านผู้หญิงที่เรียบง่ายจวบจนวาระสุดท้าย

ผ่านวันคล้ายวันเกิด นายปรีดี พนมยงค์ (11พ.ค.) เพียงสองชั่วโมง


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเข้ารับการรักษาโรคหัวใจ ณ รพ.จุฬาลงกรณ์ก่อนหน้านี้ ก็ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยอาการหัวใจล้มเหลว

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 02.00 น. สิริอายุ 95 ปี4 เดือน 9 วัน



เนื่องจากท่านผู้หญิงพูนศุขบริจาคสรีระเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา


แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ล่วงหน้าแล้ว ทายาทของท่านผู้หญิงจึงประกอบพิธีศพด้วยความเรียบง่าย ไม่มีสวดพระอภิธรรม ไม่มีการวางพวงหรีด

เพียงกำหนดจัดแสดงไว้อาลัย ในวันที่ 20 พ.ค. นี้ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ โดยนิมนต์ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) แสดงปาถกฐาธรรม ทั้งนี้บุตร-ธิดาปฏิบัติตาม "คำสั่งถึงลูก"

ซึ่งท่านผู้หญิงเขียนด้วยลายมือ ณ บ้านเลขที่ 172 สาทร 3 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2541 ขณะอายุครบ 86 ปี 9 เดือน


คำสั่งถึงลูก ๆ ทุกคน เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้


1. นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว

2. ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น

3. ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ

4. ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน

5. มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรรับหนังสือที่ระลึก

6. ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ หรือเงินช่วยทำบุญ

7. เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย

8. ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ ๆ แม่เกิด

9. หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทาน แก่มูลนิธิต่าง ๆ ที่ทำสาธารณกุศล

10. ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูก ๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแม่จงมีความสุข ความเจริญ"


ตลอดช่วงชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข ดำรงตนในความเหมาะสมเรียบง่าย


เห็นได้จากบทความเรื่อง "รำลึกถึงความหลัง" ซึ่งท่านผู้หญิงเขียนในหนังสือ "วันปรีดี พนมยงค์" ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ความตอนหนึ่งว่า

"เมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นายปรีดีจำต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ไม่มีเงินติดตัวเลย ต้องยืมจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสารไปสิงคโปร์

เมื่อถึงสิงคโปร์แล้วจึงได้โทรเลขยืมเงินจากคุณดิเรก ชัยนาม

ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ ในระหว่างที่นายปรีดีระหกระเหิน ข้าพเจ้าได้ทำ Letter of Credit ให้ไว้ใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง


นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าแก่ข้าพเจ้าเช่นสามีหลายท่านกระทำกัน


แต่ภายหลังวายชนม์ข้าพเจ้าค้นเอกสารได้พบพินัยกรรมที่นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙

ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดข้าพเจ้า จึงทำให้ข้าพเจ้าได้รับบำเหน็จตกทอดจากนายปรีดีเป็นเงิน ๑๒๓,๙๖๐ บาท ขณะมีชีวิตอยู่ นายปรีดีได้รับบำนาญเดือนละ ๔,๑๓๒ บาท ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้รับบำเหน็จตกทอด ๓๐ เท่าของบำนาญ

"เมื่อข้าพเจ้ารำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

โดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือกอบโกยประโยชน์เพื่อตนเองและครอบครัวเลย".


คู่ทุกข์คู่ยากรัฐบุรุษอาวุโส


ท่านผู้หญิงพูนศุข เกิดเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2454 เป็นธิดาในตระกูลขุนนาง ณ ป้อมเพชร์ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา ผู้เป็นบิดาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราช ทัณฑ์คนแรกของประเทศ มารดาคือ คุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร)

เมื่ออายุได้ 17 ปี สมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ ดอกเตอร์หนุ่มนักกฎหมาย ในวันที่ 16 พ.ย. 2471 ซึ่งอีกสี่ปีต่อมานายปรีดีคือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีบุตร-ธิดา 5 คน ได้แก่

นายปาล พนมยงค์ (เสียชีวิต)
นายศุขปรีดา พนมยงค์,
นางวาณี (พนมยงค์)
สายประดิษฐ์, นางดุษฎี (พนมยงค์)
บุญทัศนกุล และ น.ส.สุดา พนมยงค์

เมื่อนายปรีดีประสบปัญหาทางการเมืองภายหลังการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ท่านผู้หญิงในวัย 22 ปี ต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ

ต่อมาเมื่อกลับเมืองไทยรับบทบาทภรรยาของ รมว.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านผู้หญิง" เมื่ออายุเพียง 28 ปี


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ส่วนท่านผู้หญิงพูนศุขเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ทำงานใต้ดิน ส่งข่าวออกนอกประเทศแก่สัมพันธมิตร กระทั่งหลังสงครามโลกสิ้นสุด นายปรีดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ไม่นานครอบครัวต้องประสบมรสุมเมื่อเกิดรัฐประหารในวันที่ 8 พ.ย. 2490 นายปรีดีลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ กระทั่งต้นปี 2495 ท่านผู้หญิงและลูกชายถูกอำนาจเผด็จการสั่งคุมขัง

ด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ท่านผู้หญิงจึงติดตามไปอยู่กับนายปรีดีที่ประเทศจีนและฝรั่งเศส กลับมาเมืองไทยช่วงสั้น ๆ ในปี 2501 และ 2518 แต่เดินทางไปมาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

ท่านผู้หญิงพูนศุขกลับมาเมืองไทยเป็นการถาวร หลังจากนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวาย

ขณะกำลังเขียนหนังสือที่โต๊ะทำงานในบ้านที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2526 โดยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ สร้างสาธารณประโยชน์ในหลายด้าน.



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์