"ธีรชัย" ตอบคำถามผ่านเฟซบุ๊คทุกประเด็น ปมเดือด "ท่อก๊าซปตท." ยันการวางท่อในทะเลเป็น "อำนาจมหาชน" ลั่นใช้สามัญสำนึกในการมองภาพรวม
วันนี้ ( 21 ก.ย.57 ) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า "Fanpage Man Springker ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกอธิบายเรื่องท่อในทะเลของ ปตท มีข้อมูลที่น่าสนใจ ผมจึงขอตอบบางส่วน ดังนี้
1. " คุณไม่สามารถหาข้อกฎหมายใดมาใช้อ้างอิง ประกอบคำวิจารณ์ว่า ทรัพย์สินทั้งหมดต้องเป็นของรัฐ เพราะ ท่อในทะเลไม่ได้มีการใช้อำนาจตามพรบ.ปตท.ในการเวนคืนหรือรอนสิทธิในที่ดินของประชาชน จึงไม่เข้าข่ายเป็นที่ราชพัสดุ. และทรัพย์ดังกล่าวปตท.ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้คดโกง หรือขโมยเขามา ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่ได้มีคำสั่งให้ปตท.ต้องนำส่งทรัพย์ส่วนนี้ (ท่อในทะเล) ส่งมอบให้แก่กระทรวงการคลัง โดยสรุปคุณคิดว่าคุณมีความรู้เรื่องกฎหมายดีกว่าศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคุณเรียนจบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง. ไม่ได้จบทางกฎหมายแต่อย่างใด "คุณกำลังสอนหนังสือสังฆราช"นะ "
ตอบ
การวางท่อทางทะเลไม่ได้อ้างอิงอำนาจใน พรบ ปตท ก็จริง แต่เป็นการใช้ "อำนาจมหาชน"
เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามที่รัฐบาลมอบหมาย โดยขณะนั้น ปตท เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของและควบคุมการบริหาร 100% และรัฐบาลได้มอบหมายให้ ปตท เป็นผู้ดำเนินการนี้ แต่ผู้เดียว ในลักษณะผูกขาด มิได้มอบองค์กรอื่นๆ จึงเป็นการใช้อำนาจมหาชนอย่างชัดเจน
ผมไม่ได้เรียนจบกฎหมายครับ แต่ใช้มุมมองด้านความเป็นจริงทางธุรกิจ เพราะการเน้นเฉพาะถ้อยคำกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงสามัญสำนึก หรือเนื้อหาทางเศรษฐกิจ จะทำให้ไม่สามารถมองภาพรวมได้
อุ๊บ ขออภัยครับ ผมเผลอไป ผมสอนหนังสือสังฆราชโดยไม่เจตนาอีกแล้ว"
3. " คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ไม่ได้กำหนดส่วนที่จะให้ตกแก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 19(1) ดังนั้น ในการประเมินมูลค่าบริษัท จึงได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด รวมทั้งระบบท่อทั้งในทะเลและบนบก ทั้งที่เป็น tangible and non-tangible assets หนี้สินทั้งระยะสั้น ระยะยาว ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่างๆ รวมทั้งที่เกิดจากการค้า รวมทั้งพันธะ ภาระผูกพันต่างๆของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่มีอยู่ในขณะนั้น. เมื่อได้มูลค่าแล้ว จึงนำมากำหนดจำนวนและตรามูลค่าหุ้น (พาร์ = 10 บาท/หุ้น) ตามมาตรา 19(3) ต่อไป จึงสรุปได้ว่า กระทรวงการคลังได้สละสิทธิในทรัพย์สินในการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นทุนเรือนหุ้นในบมจ.ปตท. แล้วตั้งแต่ต้น มูลค่าท่อทั้งบนบกและในทะเลจึงได้รับการแปลงค่าเป็นทุนไปแล้ว ทรัพย์สินทั้งหมดรวมทั้งท่อบนบกและในทะเลจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นบมจ.ปตท.ทั้งหมด "
ตอบ
ข้อมูลนี่ตรงกับที่ผมสงสัยเลยครับ
ประเทศอื่นๆ ก่อนจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เขาจะแยกเรื่องที่เป็นอำนาจผูกขาดออกไปก่อน เขาจะไม่ขายสิทธิผูกขาดไปให้เอกชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ ไม่ว่าผู้ถือหุ้นในประเทศ หรือกองทุนต่างประเทศ
ลองนึกกันดูซิครับ ถ้าแปรรูปการไฟฟ้าของไทย โดยให้สิทธิผูกขาดไปด้วย ถึงแม้จะทำให้แปรรูปได้ค่าหุ้นสูงก็ตาม แต่ผู้เสียประโยชน์สุดท้าย จะเป็นคนไทยทุกคนที่ใข้ไฟฟ้า
ถ้าแปรรูปกันแบบนี้ ใครๆ ก็จะอยากมาซื้อหุ้นครับ มิน่าล่ะ หุ้น ปตท จึงได้ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาไม่กี่นาที
ผมเพิ่งได้ข้อมูลตรงนี้ ที่อ้างว่ากระทรวงการคลังในขณะนั้น เต็มใจที่จะสละสิทธิในระบบท่อที่ผูกขาด
ถ้าเมื่อใดมีโอกาส ผมคงจะต้องขอสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง ว่ามีหลักคิดอย่างไร จึงได้ตัดสินใจสละสิทธิของดี และได้มอบอำนาจผูกขาด
ทำไมจึงต้องขายอำนาจผูกขาดไปให้แก่เอกชน
6. " เนื่องจากในราคาค่าหุ้นที่ได้จำหน่ายออกไปนั้น ได้รวมมูลค่าของท่อบนบกไว้ด้วย (ตามบัญชี 16,000 ล้านบาท แต่ขายหุ้นในอัตรา 3.5 เท่าของราคาพาร์ นั่นคือ มูลค่าในสายตานักลงทุน = 56,000 ล้านบาท) บมจ.ปตท.ต้องชี้แจงพร้อมทั้งขอร้องให้นักลงทุนต่างๆทั้งไทยและเทศ ให้ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ในคราวนั้นเรื่องการโอนท่อบนบกให้กระทรวงการคลังจึงจบลงได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีผู้ถือหุ้นใดดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกระทรวงการคลังแต่อย่างใด "
ตอบ
การที่ราคาหุ้นในการแปรรูปได้รวมระบบท่อทั้งบนบก และในทะเลไว้ด้วยนั้น ผมมองด้วยสามัญสำนึก เป็นเรื่องที่ผิด เป็นการรอนสิทธิของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
ดังนั้น ภายหลังเมื่อมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ผู้ถือหุ้นเอกชน ทั้งในประเทศ และกองทุนต่างชาติ ก็ต้องยอมรับที่จะมีการคืนทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนให้ประชาชนอยู่แล้วครับ
หลักการนี้ เข้าลักษณะว่า เดิมเป็นทรัพย์ที่ไม่ควรได้ เมื่อมีคนท้วงติง ก็ต้องส่งคืน
ส่วนผู้ถือหุ้น หากเห็นว่าตนได้รับความเสียหาย ก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากบุคคลที่เกี่ยวข้องกันเองต่อไปครับ
7. " ที่คุณธีระชัยระบุว่าท่อในทะเลเชื่อมต่อมาที่โรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าของปตท.นั้น มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลอย่างมาก เพราะ ท่อในทะเลของปตท.นั้นต่อเชื่อมกับท่อในทะเลของบริษัทผู้รับสัมปทานหลายราย เมื่อมาขึ้นบกที่มาบตาพุด จังหวัดระยองนั้น ได้ผ่านโรงแยกก๊าซปตท. แล้วต่อเชื่อมไปยังโรงไฟฟ้าของกฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และยังต่อเชื่อมไปยังโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆมากกว่า100 แห่ง "
ตอบ
ประเด็นนี้ขออภัย เดิมผมเข้าใจผิดจริงๆ คิดว่าท่อในทะเล ขึ้นมาเฉพาะที่โรงงานของ ปตท แต่ข้อมูลข้างต้น อธิบายชัดเจนว่า ท่อดังกล่าวเชื่อมเข้าไปในเครือข่าย กระจายไปยังโรงงานต่างๆ กว่า 100 แห่ง
แต่ข้อมูลนี้ยิ่งทำให้ผมกังวลมากขึ้น
อำนาจผูกขาดนั้น อยู่ที่คอขวดครับ ถ้าถนนทุกสายต้องมาผ่านคอขวดแหล่งเดียว ใครก็ตาม ที่เป็นเจ้าของคอขวดนี้ ภาษาชาวบ้านเขาเรียก เสือนอนกิน
เสือตัวนี้ไม่ต้องเสียเวลาไปวิ่งไล่เหยื่อ ไม่ต้องอออกแรง แค่นอนอ้าปาก เหยื่อก็เดินเข้าแถวเรียงคิว มาให้กินตามสบายเลยครับ
ข้อมูลนี้ ย่ิงทำให้ผมตระหนักถึงคุณค่าของท่อในทะเล
ท่อในทะเล ดูเหมือนจะเป็นคอขวดวิเศษ ที่สร้างโดยอำนาจมหาชน
ถ้าไม่ใช้อำนาจมหาชน จะสร้างคอขวดวิเศษอย่างนี้ ขึ้นมาได้อย่างไร
8. " ที่คุณธีระชัยว่าปตท.ต้องโอนท่อในทะเลของปตท.ให้กระทรวงการคลัง และให้ผู้ที่จะใช้ท่อร่วมกับปตท.ต้องจ่ายค่าผ่านท่อให้กระทรวงการคลังนั้น. ในเมื่อไม่มีข้อกฎหมายที่เด่นชัดว่าปตท.ต้องโอนท่อในทะเล ผู้ที่จะขอใช้ท่อปตท.ก็ย่อมจะต้องจ่ายค่าผ่านท่อให้ปตท.ไม่ใช้กระทรวงการคลัง สำหรับท่อบนบกนั้น ปตท.ได้เช่าไปแล้ว ปตท.ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ทรัพย์ที่เช่ามาเต็มที่ "
ตอบ
ที่ผมบอกว่า ควรมีการโอนท่อในทะเลกลับไปเป็นของรัฐบาลนั้น เพราะผมใช้สามัญสำนึกว่า การสร้างท่อดังกล่าวดำเนินการ ภายใต้บริบทของอำนาจมหาชน
จึงควรโอนกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจดังกล่าว
และเมื่อโอนกลับไปแล้ว ปตท ก็ต้องจ่ายค่าเช่าให้รัฐบาล เช่นเดียวกับผู้อื่นใด ที่มาขอผ่านคอขวดนี้
ทั้งนี้ การที่ ปตท จะเช่าใช้ท่อคอขวด ก็ไม่ควรจะได้รับสิทธิผูกขาดใดๆ ติดไปด้วย
หมายความว่า รัฐบาลไม่ควรมอบสิทธิให้ ปตท ไปคิดค่าเช่าช่วงจากเอกชนหรือผู้อื่นใด ที่มาขอร่วมใช้คอขวดนี้ แต่ควรให้ทุกราย มาจ่ายค่าเช่าแก่รัฐบาลตรงๆ รวมทั้ง ปตท