แก้ป.ป.ช.เพื่อแก้ทุจริต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ประเดิมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นองค์ปาฐกในงาน "วันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2557 : HAND IN HAND ปฏิรูปการต่อสู้เพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน" ว่าจะให้ความสำคัญและกำหนดให้การแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นที่สั่งสมมานาน ทำให้เกิดหลายปัญหา เช่น ความวุ่นวายทางการเมือง ความแตกแยกของคนในชาติ และนับวันยิ่งรุนแรงมาก ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ
ยืนยันในส่วนของรัฐบาลนั้นจะนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
การขจัดคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เป็นนโยบายที่ต้องสนับสนุน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องนี้ และกำลังจะขยายองค์กรไปสู่ทุกจังหวัด
แต่ก็ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง เที่ยงธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่
ยกตัวอย่างล่าสุดที่กำลังเป็นข่าว กระบวนการไต่สวนโครงการรับจำนำข้าว ที่ชี้มูลคดีอาญาแก่อดีตหัวหน้ารัฐบาล
ต่อมาอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบสำนวนแล้ว มีความเห็นยังไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากพบจุดอ่อนอย่างน้อย 3 ประเด็น
นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (PERC) เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานป.ป.ช.ของไทย
โดยให้คะแนนและมีการจัดอันดับต่ำที่สุดในเอเชีย
ที่ทำให้สังคมตกตะลึงอย่างมาก คือ กรณีป.ป.ช. ใช้งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ มาเป็นหลักฐานสำคัญในการฟันธงทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
แถมเป็นงานวิจัยที่ทำตั้งแต่ปี 2548 ก่อนที่นายกฯ คนนี้จะเข้ามาทำงานและเริ่มโครงการจำนำข้าวในปี 2554
เท่ากับใช้งานด้านวิชาการ ที่วิเคราะห์ถึงอนาคตโครงการ มาเป็นเครื่องตัดสินบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว
จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยในมาตรฐานการทำงานขององค์กรด้านปราบปรามการทุจริตของ ประเทศเรา ยิ่งเมื่อเห็นภาวะทางอารมณ์ของกรรมการป.ป.ช.บางคนที่แสดงออกมาอย่างเปิดเผย ยิ่งน่าห่วงใยอย่างมาก
หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเอาจริงกับการแก้ไขคอร์รัปชั่น ถึงขั้นเป็นวาระแห่งชาติ
หากไม่แก้ไของค์กรหลักเสียก่อน จะสามารถเดินหน้าไปได้หรือไม่