เกมวัดใจคมช.! สมคิด-ชวน ว่าที่นายกฯ คนใหม่

การเมืองเริ่มงวดเข้าสู่เกมขมวดปมอีกครั้ง


...30 พฤษภาคม คือ วันชี้ชะตา 2 พรรคการเมืองใหญ่ เป็นวันแห่ง ปรากฏการณ์พิเศษ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ จะลงดาบพิพากษาคดียุบ พรรคไทยรักไทย และ พรรคประชาธิปัตย์

ส่องกล้องมองสถานการณ์ทั้งสองพรรค อาการนั้นยิ่งกว่าโคม่า!!!

เพียงแต่ปัญหาที่หลายฝ่ายยังค้างคาใจ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะเลือก "ฉีดยาแรง" ล้างบางนักการเมืองเก่า หมดสิทธิเล่นการเมืองอีก 5 ปีอีกหรือไม่?

โจทย์การเมืองนี้ "นักสังเกตการณ์" ดูจะไม่เชื่อใจ คมช.ว่า จะกล้าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นักการเมืองเท่าใดนัก


อย่าลืมว่า พรรคและนักการเมือง คือ ผู้เล่นลำดับต่อไป


ที่จะขึ้นครองอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ต่อจาก คมช.และ ครม.ขิงแก่

เหตุผลที่รองรับอีกประการ หากบรรดาหัวหน้ากลุ่มทั้งสองพรรค ต้องสูญหายตายจาก จะกลายเป็นการผลักมิตรและศัตรู ให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันถล่ม คมช.

ประเด็นอันละเอียดอ่อนนี้ ดูเหมือนว่า คมช.จะจับอาการของ "คนการเมือง" ถูก

คมช.ต้องการสร้าง "สายป่านการเมือง" ที่ตัวเองบงการและควบคุมได้ ไว้เป็นเกราะป้องกัน "ขั้วอำนาจเก่า" กลับมาเช็คบิล

ขณะที่ 3 กลุ่มใหญ่ในไทยรักไทย กลุ่มมัฌชิมา กลุ่มแนวร่วมสมานฉันท์ กลุ่มธรรมาธิปไตย ก็ต้องการปลดแอกจาก "ทักษิณ ชินวัตร"

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้เดิมพันการเมือง ดูจะเทหน้าตักไปว่า ทั้งสองพรรคจะถูกยุบแน่

แต่จะมีกรรมการบริหารพรรคบางรายเท่านั้น ที่ต้องสังเวยความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคีย์แมนตัวหลักๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

พรรคไทยรักไทย บริวารแวดล้อมที่ใกล้ตัวอดีตท่านผู้นำ 7-8 ราย น่าจะถูกตัดสิทธิการเมือง


เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์


ที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ" จะถูกบ่วงการเมืองนี้เล่นงาน

ส่วนกรรมการบริหารคนอื่นๆ อีกหลายชีวิต จะมีโอกาสกลับขึ้นเวทีการเมือง โดยผ่านการควบคุมในอีกขั้นตอนหนึ่ง

หากสูตรการเมืองเดินตามเส้นทางนี้ ทำให้เกิด ทฤษฎีทางเลือก "ตัวผู้นำใหม่" ไปใน 2 แนวทาง

"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" หรือ "ชวน หลีกภัย"

ใครจะขึ้นกุมบังเหียนรัฐนาวาใหม่

ใครจะเป็นคนที่ คมช. สนับสนุนด้วยความไว้วางใจที่สุด

ว่ากันว่า หมากการเมืองเชิงซ้อน ภายใน คมช.เอง ก็มีการกำหนดตัว "ผู้นำประเทศ" ในอนาคตไว้แล้ว

ตัวเลือกแรก ที่ คมช.บางฝ่าย อยากเลือก "สมคิด"

โดยวิธีคิดนี้ มีองค์ประกอบภาวะวิกฤติของบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาการเมือง จะต้องผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

การยุบพรรคได้จัดการกับจอมบงการไปแล้ว ภารกิจสำคัญในช่วงถัดไป คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ


หากมองผู้นำพรรคการเมือง ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ชื่อของ "สมคิด" ทิ้งคนอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น


ที่สำคัญ คือ อย่ามองข้ามงานอาสาที่ "สมคิด" เคยเสนอตัวเข้าไปช่วยงานรัฐบาลขิงแก่ ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

แม้ เขา จะไม่มีโอกาสทำงานเลยก็ตาม

แต่ปริศนาที่ว่าด้วย ใครอยู่เบื้องหลังที่มาที่ไป ในการดึง "สมคิด" เข้ามาร่วมงานยังคลุมเครือเสมอ

จะเป็นใบสั่งจาก "บ้านสี่เสาฯ" หรือ ก็ยังไม่มีใครให้ความกระจ่างได้

ทว่า ฝ่ายที่ชนะในเกมนั้น คือ "สมคิด"

ชื่อของ "สมคิด" จึงกลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ ที่จะเป็นตัวสานต่ออำนาจใหม่

ยุทธศาสตร์ "เกลือจิ้มเกลือ" ใช้ตัวตนของ "สมคิด" ที่เคยเป็นหนึ่งในรัฐบาลทักษิณ ค่อยๆ กลืนระบอบทักษิณ

หรืออีกนัย คือ "ดึงศัตรูมาเป็นมิตร"

เป็นมุมมอง ที่ "พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน" ผบ.ทบ. และประธาน คมช. เคยบอกกล่าวในวงใน คมช.เสมอ


แนวทางการเมืองของ "สมคิด" นั้น คลับคล้ายว่า


จะเดินตามแนวเดียวที่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เคยใช้มิผิดเพี้ยน

มีทีมคิดและกำหนดนโยบายพรรค ในฐานะมืออาชีพที่สังคมยอมรับ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนใกล้ชิดและลูกศิษย์ก้นกุฏิของ "สมคิด"

ขณะเดียวกัน ก็มีการทาบทามนักการเมืองรุ่นเก่าให้มาเป็นฐานเสียง

แม้เขาจะถูก "สมศักดิ์ เทพสุทิน" หัวหน้ากลุ่มมัฌชิมา ฉวยจังหวะชูขึ้นเป็นผู้นำการเมืองใหม่ ที่จะผนึกกำลังลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงปลายปีนี้

แต่ "สมคิด" ก็ยังเล่นบทนิ่ง ขอรอผลการตัดสินคดียุบพรรค และรอความชัดเจนของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน

ด้วยความช่ำชองในกลยุทธ์การตลาดและการเมือง "สมคิด" รู้ดีว่า แม้เป้าหมายเขา คือ การเมือง แต่ ณ เวลานี้ยังไม่ควรที่จะเผยไต๋อะไรออกมาให้หมดเปลือก

"เปิดตัวเร็ว ก็เป็นเป้าถล่มเร็ว และเจ็บตัวเร็ว"!!!

ศาสตร์การเมืองแบบนี้ "นักเลือกตั้งมืออาชีพ" ที่มีสัมผัสธรรมชาติอันไม่ต่างอะไรกับ "มดการเมือง" รับรู้ดี

สู้จับมือกับทุกฝ่ายไว้หลวมๆ เพราะการเมืองมันต้องแทงกั๊กไว้ก่อน เนื่องจากยังมีอะไรที่พลิกผันอีกเยอะ


ขณะที่ คมช.อีกกลุ่ม ที่ไม่เคยให้ความไว้วางใจต่อ


นักการเมืองในปีกของพรรคไทยรักไทย อยากจะให้จับขั้วประชาธิปัตย์

นั่นหมายความว่า คมช.ยังไม่ไว้วางใจขั้วอำนาจเก่าเท่าใดนัก

คมช.ต้องใช้เวลาอีกระยะในการสลายระบอบทักษิณให้จางหายไปจากความทรงจำของสังคมไทย

ชื่อชั้นของ "นายหัวชวน" นั้น ไว้วางใจได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียวว่า "ชาตินี้ไม่ทีทางที่จะจับมือกับทักษิณแน่"

แถมจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยน "ชวน" ย่อมไม่มีวันแปรพักตร์ไปช่วย "ฟอกมลทินแม้ว"

และหาก "ชวน" กลับไปจับมือกับ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" หัวหน้าพรรคมหาชนและอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ จะกลับมาครบเครื่อง ทั้งเกม "บนดินและใต้ดิน" อีกครั้ง


และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ "ชวน" เป็นอีกข้อต่อของ "บ้านสี่เสาฯ"


เพียงแต่ปัญหาของ "ชวน" คือ แข็งในหลักการ ยากที่ คมช.จะคุมบังเหียน

แต่นั่นก็ดูจะไม่ใช่ปัญหา ถ้าหลักการของ "ชวน" จะทำให้ คมช.ปลอดภัย

การเมืองที่ว่ากันด้วยเดิมพันแห่งอำนาจ จึงเป็นเกมวัดใจบรรดา คมช.อีกครั้ง

"สมคิด-ชวน" กับว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่

คมช.จะอ่านเกมการเมืองในอนาคต ซึ่งมีชีวิตของตัวเองเป็นสิ่งค้ำประกัน ได้ทะลุปรุโปร่งหรือไม่



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์