ครป.หวั่นถก 44 พรรค แค่เวทีต่อรอง-ติง กมธ.

ครป.หวั่นถก 44 พรรค แค่เวทีต่อรอง-ติง กมธ.ขู่ ปชช.รับร่าง รธน.


ครป.หวั่นการประชุมร่วมนายกฯ กับ 44 พรรคแค่เวทีต่อรอง ติง กมธ.-ส.ส.ร.หยุดขู่ประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ด้าน ปชป.ส่ง "อภิสิทธิ์" ร่วมประชุม พร้อมสรุปข้อเด่น-ด้อยของรัฐธรรมนูญเสนอต่อที่ประชุม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการ



นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า


ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะรวบรวมข้อเด่นข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ระหว่างประชุมร่วมกับทุกพรรคการเมืองเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปแก้ไข โดยมีข้อเด่น คือ

1.เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เช่น ประชาชนเสนอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ง่ายขึ้น จากเดิม 5 หมื่นรายชื่อเหลือ 2 หมื่นรายชื่อ

2.ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง โดยห้าม ส.ส.และ ส.ว.ดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจและห้ามเข้ารับสัมปทานจากรัฐ

3.ป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยห้ามเป็นเจ้าของกิจการและห้ามถือหุ้นในสื่อสารมวลชน

4.มีการตรวจสอบนักการเมืองมากขึ้น โดยให้ ส.ส.และ ส.ว.แจงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชน

5.รับฟังความเห็นของประชาชนโดยเฉพาะกรณีการทำสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และ

6.มีการขจัดการผูกขาดอำนาจและป้องกันการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐ


นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนข้อด้อยที่ต้องยกเลิกและปรับปรุง คือ


1.มาตรา 68 ที่ให้คณะบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อแก้วิกฤติทางการเมืองบุคคล พรรคไม่เห็นด้วย เพราะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกสรร อาจขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และเป็นกลไกสืบทอดอำนาจอีกช่องทางหนึ่ง

2.ส่วนที่มาของวุฒิสภาที่ระบุให้มาจากการสรรหาควรมีหน้าที่กลั่นกรองเห็นชอบกฎหมายและการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

3.บทเฉพาะกาลในส่วนขององค์กรอิสระชุดที่มาจากรัฐประหารไม่ควรอยู่ตำแหน่งจนครบวาระและองค์กรอิสระเหล่านี้ในอนาคตอาจจะเข้ามามีบทบาทตามมาตรา 68 และ

4.ไม่ควรมีบทนิรโทษกรรม เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้บัญญัติไว้แล้ว ยกเว้นการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติควรออกมาเป็น พ.ร.บ.ไม่ควรใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ


"ส.ส.ร.ควรเป็นผู้ประสานกับรัฐบาลและ คมช.


เพื่อเปิดโอกาสให้นักการเมืองได้พูดคุยและฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนจะเป็นผลดีกับประเทศและรัฐธรรมนูญ หากยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิกาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การหารือต้องเปิดเผย ไม่ใช่เป็นเวทีต่อรองหรือยื่นหมูยื่นแมว จนไม่สนใจทิศทางสำคัญของการปฏิรูปการเมือง

และขอเรียกร้องให้กรรมาธิการยกร่างฯ และ ส.ส.ร.รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน อย่างกว้างขวาง ไม่ควรมัดมือชกประชาชนข่มขู่ว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดเหตุการณ์นองเลือด หรือได้รับรัฐธธรมนูญฉบับ คมช.แทน



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์