นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
กล่าวถึงกรณ๊การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ คสช. ว่าในส่วนของคณะรัฐมนตรีเเละสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ชัดเจนว่าต้องเเสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้อยู่เเล้ว เพราะ สนช.ก็คือ ส.ส.เเละ ส.ว.
ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ถ้าจะบอกว่าเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ทางการเมืองหรือเป็นผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว
เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้ทำหน้าที่ในส่วนของนิติบัญญัติหรือบริหาร ถ้าจะบอกว่า สปช.ต้องยื่นบัญชี ก็อาจจะไม่มีฐานไปเทียบกับการยื่นบัญชีโดยทั่วไป
ด้าน คสช.นั้น ชัดเจนว่าทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารควบนิติบัญญัติด้วย
ได้ออกคำสั่งเเละประกาศต่างๆ มีผลทางกฎหมาย เเละถ้าไปดูมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างครอบคลุมทั้งในส่วนของการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการทั้งหมดด้วย ถ้ามองเเบบนี้ง่ายๆ คือการใช้อำนาจเเบบซุปเปอร์เพาเวอร์
เพราะฉะนั้นถ้าหากคนใช้อำนาจบริหารต้องยื่นบัญชี คนใช้อำนาจนิติบัญญัติต้องยื่นบัญชี คนใช้อำนาจในลักษณะครอบไปทั้งหมดก็ควรจะต้องยื่นบัญชี
ในส่วนของสภาปฏิรูป ถ้าบอกว่าจะช่วยกันปฏิรูปให้เห็นเป็นประจักษ์ คนจะอยู่ในสภาปฏิรูป เเม้กระทั่งคนที่อยู่ในส่วนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องยื่นบัญชีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดไว้ด้วยว่า ร่างเสร็จเเล้ว รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อไหร่ บุคคลที่เป็นคนร่างไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้อีก 2 ปี การไม่ให้บุคคลเหล่านี้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็เเสดงว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีผลต่อการเมือง
ถ้าดูการยึดโยงเหล่านี้ทั้งหมดก็อาจจะบอกได้ว่า อำนาจหน้าที่ในส่วนของ สปช. เเละกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องทางการเมือง เเละถือว่าดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ก็แปลว่าต้องยื่นบัญชี
ถ้าคิดเเบบนี้ก็ต้องยื่นทั้งหมด ทั้ง คสช. สปช. สนช. รวมทั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
เเต่ถ้ามองในมุมเเคบเพียงเเค่ว่ากฎหมายกำหนดอะไร ก็จะมีเเค่ คณะรัฐมนตรีกับสภานิติบัญญัติเเห่งชาติเท่านั้น ที่ต้องยื่นบัญชี