มติศาลไม่ขอเอี่ยวสรรหาองค์กรอิสระ

คม-ชัด-ลึก

ศาลประชุมร่าง รธน. มีมติไม่ขอเอี่ยวสรรหาองค์กรอิสระ - การแก้วิกฤต ยกเว้นเท่าที่ฉบับเดิมกำหนดไว้

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ศาลฎีกา นายวัฒนชัย โชติชูตระกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการจัดทำความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมคณะทำงานผู้พิพากษาศาลฎีกา รวบรวมความคิดเห็นจากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานอำนวยการ สำนังานประจำศาลและสำนักงานศาลยุติธรรมประจำภาค 1-9 แสดงความคิดเห็น เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ตามที่สภาร่างรัฐธรรมนูญส่งมาให้สำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อวันที่19 เมษายน

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า

สำนักงานศาลยุติธรรมได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้พิพากษาและผู้อำนวยการฯเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นสำคัญที่มีการแสดงความคิดเห็น อาทิเช่น ในเรื่องแก้วิกฤตปัญหาของประเทศ ตามมาตรา68วรรค 2 ที่ให้ประธานศาลฎีกา และประธานองค์กรอิสระอื่นๆ เป็นองค์คณะในการประชุมร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า

ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง ไม่สมควรที่จะให้ผู้พิพากษาที่มีหน้าที่นั่งพิจารณาอรรถคดีที่จะเข้ามาสู่ศาล เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เสียความเป็นอิสระและเสียความยุติธรรมไป ผู้พิพากษาจึงต้องรักษาความเป็นกลาง เช่นเดียวกับมาตรา107 ในเรื่องการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่ให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นคะกรรมการสรรหา ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ไม่ใช่หน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะไปสรรหาบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติไม่เห็นชอบตามร่างรัฐธรรมนูญ

ใน มาตรา 236, 245และ 247 ที่ให้ประธานศาลฎีกา เป็น1ใน5ผู้สรรหา 3 องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ คือผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพราะเป็นการปฎิบัตินอกหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความเป็นกลาง แต่องค์กรอิสระใด ที่ประธานศาลฎีกาเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาอยู่แล้ว เช่น ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็คงให้ทำหน้าที่ต่อไป

ในส่วนที่คณะทำงานเห็นฟ้องกับร่างรัฐธรรมนูญ คือ ในมาตรา 254 เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินหรือปกปิดหรือแสดงบัญชีอันเป็นเท็จ

ที่กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้ว ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และผู้นั้นต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย นายสราวุธ กล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการแสดงความคิดเห็นในประเด็น องค์ประกอบและวิธีการเลือกคณะกรรมการตุลาการ ( ก.ต.) และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) การขยายอายุเกษียณของข้าราชการตุลาการและผู้พิพากษาอาวุโสด้วย โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อนายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาพิจารณาต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์