อุทัย ติงรธน.ใหม่ดีอย่างเดียว

อุทัยติงรธน.ใหม่ดีอย่างเดียว เรื่องการปราบทุจริตคอรัปชัน


นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กล่าววันนี้ (26 เม.ย.) ถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า

ในส่วนของจำนวนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีการปรับลดจำนวนลงจาก 500 คน เป็น 400 คน จะก่อให้เกิดปัญหา

โดยเฉพาะระบบพรรคการเมืองจะอ่อนแอลง หากเป็นการเลือกตั้งแบบเดิม ประชาชนจะมีโอกาสเลือก ส.ส.ได้มากขึ้น


"รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีข้อดีเรื่องการปราบทุจริต


แต่ประเด็นส่วนใหญ่ถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบรวมเขต ที่เป็นการปิดกั้นพรรคเล็ก เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง ตลอดจนการกำหนดให้มีองค์คณะเข้ามาแก้ไขวิกฤติบ้านเมือง

ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย จึงอยากให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้มากกว่านี้ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาดีกว่าฉบับปี 2540 อย่างแท้จริง" อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กล่าว

ขณะที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 15 หมวด 299 มาตรา ที่ได้มีพิธีส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับตัวแทนจาก 12 องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2549 วันนี้ ลงในเว็บไซต์ แสดงความรู้สึกวิตกว่า

หากการจัดทำรัฐธรรมนูญสวนทางกับความรู้สึกของคนจำนวนมาก จนถึงขนาดรับไม่ได้ขึ้นมา จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น และอาจกลายเป็นการจุดชนวนระเบิดให้เกิดวิกฤติในประเทศได้


"ข้อขัดแย้งในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ


บวกกับการเคลื่อนไหวคัดค้านของหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มองค์กรพระพุทธศาสนา และกลุ่มประชาชนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งมีสัญญาณบอกเหตุว่า จะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทุกที ถึงขนาดที่ใครต่อใครหลายคนกล้าฟันธงว่า รัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านการจัดทำประชามติเลยทีเดียว" นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ เห็นว่า รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะ ส.ส.ร. สามารถขอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมได้ ตามมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ดังนั้น ส.ส.ร. และสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้ อยู่ในฐานะนักกู้ระเบิดที่จะช่วยกันกู้ระเบิด เพื่อให้เกิดวิกฤติ โดย ส.ส.ร. ขอแก้ไขเพิ่มเติม และสภาร่างรัฐธรรมนูญก็พิจารณาเห็นชอบ


"ผมเชื่อว่า คงมี ส.ส.ร. ขอแปรญัตติ


หรือขอแก้ไขเพิ่มเติมกันเป็นจำนวนมากแน่นอน ซึ่งสมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลอดระยะเวลาของการยกร่าง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงความไม่เหมาะสมในประเด็นสำคัญ ๆ

แม้ว่าการยกร่างจัดทำเสร็จแล้ว แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ลดลง" นายบัญญัติ กล่าว

ทั้งนี้ นายบัญญัติ เห็นว่า ส.ส.ร.จะต้องตระหนักว่า สถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ มีแนวโน้มอันตรายที่จะกลายเป็นวิกฤติได้ หากมีปัญหาและสถานการณ์ร้ายแรงเพิ่มขึ้นมา ส.ส.ร.ควรจะแสดงท่าทีให้ชัดเจน

เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า ไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ในร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้ และก็พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นกลไกรับแก้ไขให้ ในข้อเรียกร้องที่มีเหตุผลรับฟังได้ และจำเป็นต้องแก้ไข และข้อขัดแย้งใดที่เคยเป็นปัญหามาแล้วในอดีต

เช่น มีลักษณะสืบทอดอำนาจ ขัดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย หรือมีความล้าหลังไปกว่ารัฐธรรมนูญเดิม ควรที่จะได้ร่วมมือกันแก้ไขในทันที



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์