วัดใจ คตส. รวมพลังกล้า ยึดทรัพย์ ทักษิณ

งวดเข้ามาเต็มทีกับปฏิบัติการตามล่า "นักการเมืองกังฉิน"


ของ 11 มือปราบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หลังจากง้างดาบมานานร่วม 6 เดือนเต็ม แต่คดีที่ชี้มูลไปแล้วทั้งหมด ยังไม่เห็นมรรคผลเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติเสียที

ผู้ถูกกล่าวหายังลอยหน้าลอยตา สร้างความปั่นป่วนให้เกิดภายในประเทศไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กระแสความนิยมของ "คอหอย-ลูกกระเดือก" ดิ่งลงเหว

นาทีนี้จึงดูจะมีเพียง "คตส." หน่วยงานเดียวเท่านั้นที่จะออกมาสยบความเคลื่อนไหวตัดท่อน้ำเลี้ยงนี้ได้


โดยใช้อำนาจตามประกาศคำสั่ง


คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30

ที่มอบอำนาจเต็มให้ คตส.สามารถใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ในการสอบสวนและอายัดทรัพย์ชั่วคราว หากพบว่าเรื่องที่สอบสวนเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย ปปง.

ล่าสุด "คตส." มีแนวความคิดเตรียมใช้กฎหมาย ปปง. โดยมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการใช้กฎหมาย ปปง.เพื่ออายัดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับผลการสอบสวนในคดีต่างๆ

อันเกิดจากแนวคิดของ "คตส.บางคน" ที่เห็นว่าการตรวจสอบโครงการทุจริตของ คตส.คืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคขาดความรวดเร็ว

โดยเฉพาะการทำธุรกรรมอำพรางในการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ของครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญขณะนี้ พบหลักฐานชัดว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินของบุคคลต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงการถูกดำเนินคดี หรือถูกตรวจสอบทรัพย์สิน

รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินเพื่อนำไปใช้ "เคลื่อนไหวทางการเมือง" ที่จะสร้างความวุ่นวายภายในประเทศ

ทั้งยังพบว่าหลายคดีมีความผิดชัดเจน เช่น คดีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ที่พบพฤติกรรมการเลี่ยงภาษีหลายต่อหลายครั้งของคนใกล้ชิด "ทักษิณ"


รวมถึงคดีการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร


ซึ่งเข้าข่ายความผิดที่ คตส.สามารถอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบก่อนได้

ประเด็นนี้มีกรรมการ คตส.หลายคนเห็นด้วย!

โดยเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานและพฤติกรรมการทำความผิดในคดีหุ้นชินคอร์ปของตระกูล "ชินวัตร" กับ "ดามาพงศ์"

จึงเป็นเหตุสนับสนุนให้ใช้มาตรการนี้เพื่ออุดช่องหายใจของ "ทักษิณ"

เพราะมีหลักฐานชัดว่า การซื้อขายหุ้นชินคอร์ป มีพฤติกรรม ชัดเจนในการ "หลบเลี่ยงภาษี" จากการซื้อขายหุ้น

โดยมีการกระจายหุ้นชินคอร์ปให้ผู้เกี่ยวข้องสัดส่วนไม่ถึง 25% หลายคน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำ "เทนเดอร์ออฟเฟอร์" หรือตั้งโต๊ะซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย

โดยมีเจตนาเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ "ทักษิณ" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2543 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การกระจายหุ้นชินคอร์ปในครอบครัวชินวัตร 49% จนรวมหุ้นทั้งหมดขายให้กลุ่มทุนสิงคโปร์ เมื่อต้นปี 2549 ด้วยราคากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท


ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายสามกรอบด้วยกัน...


1.กฎหมายปราบคอรัปชั่น

ที่ห้ามซุกหุ้น และห้ามนักการเมือง ถือประโยชน์ทับซ้อนทางธุรกิจ โดยพบว่า "ทักษิณ" พยายามซุกหุ้นในชื่อของญาติสนิท หรือบริวาร หรือบริษัทนอมินี

2.กฎหมายตลาดหลักทรัพย์

ที่ระบุหน้าที่แจ้งการโอนหุ้นเกิน 5% หรือถือครองเกิน 25% เมื่อใด ต้องเปิดรับซื้อหุ้นรายย่อยด้วย หรือห้ามใช้ข้อมูลภายในเล่นหุ้นในตลาด ที่ทำให้ "ทักษิณ" ซุกหุ้นโดยกระจายให้ถือครองแทนหลายคน แต่ละคนต้องไม่เกิน 20%

3.กฎหมายภาษีเงินได้

ที่กำหนดเก็บเงินได้จากการโอนหุ้น เว้นแต่จะเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยบุคคลธรรมดา กฎหมายนี้ทำให้การกระจายหุ้นต้องทำเป็นขายหุ้น และต้องขายในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยบุคคลธรรมดา

คตส.พบว่านับแต่ ปี 2543 เป็นต้นมา การโอนหุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตร กระทำขึ้นหลายครั้งด้วยกัน

และทุกครั้งก็ยังไม่มีการแจ้งชำระภาษีเงินได้เลย ด้วยอ้างว่าได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร

จากความเชื่อมโยงของหลักฐานทั้งหมดนี้แหละ ที่ "คตส." จะนำมาประเมินเพื่อเปิดช่องให้กฎหมาย ปปง.เข้ามาดำเนินการ


โดยประเมินว่าหากไม่รีบใช้กฎหมาย ปปง.ในยามนี้


หากสถานการณ์การเมืองรุนแรงมากขึ้น อาจจะทำให้การทำงานลำบากขึ้นตามไปด้วย

นั่นเป็นเพราะยามนี้ พายุม็อบต่างๆ เริ่มก่อตัว และพร้อมที่จะพัดโหมกระหน่ำ เพื่อเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาล และ คมช.

แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ายังมี "คตส.บางส่วน" ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะถูกเช็คบิลย้อนหลัง หากพ้นอำนาจ

นั่นเป็นเพราะไม่มั่นใจว่า กระบวนการทั้งหมดจะสามารถเอาผิดกับ "ทักษิณ" ได้ โดยเฉพาะกระบวนการในชั้นศาล ซึ่งคดีอาจจะ "หลุด" ได้ในภายหลัง

ทั้งยังไม่แน่ใจว่าหากนำกฎหมาย ปปง.มาใช้อาจจะเป็นการเพิ่มแรงโกรธแค้นให้ "ทักษิณ" ก็เป็นได้

ที่สำคัญเห็นว่าเวลาของ คตส.เหลือจำกัด อาจจะไม่สามารถบังคับกฎหมายตัวนี้ใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่อย่าลืมว่า "ประกาศ คปค." ให้อำนาจสิทธิขาดกับ คตส.ในการตัดสินใจ

และนับจนถึงวันนี้ คตส.ก็ยังไม่กล้างัดไม้ตายออกมาจัดการ "ระบอบทักษิณ" ได้เลย

นาทีนี้ คตส.จึงต้องคิดให้หนัก ว่าถึงเวลาหรือยังที่จะอายัดทรัพย์คนชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร"



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์