ให้สิทธิ ปชช.ฟ้องรัฐมีชัยหวั่นเกิดคดีรายวัน

"จาตุรนต์" ชี้ร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นถอยหลังเข้าคลอง


ยันแสดงความคิดเห็นไม่กลัวถูกยุบพรรค ด้าน "มีชัย" ติง ผู้ร่างมุ่งแก้ปัญหาการเมืองช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้แก้ภาพรวม หวั่นให้สิทธิ ปชช.ฟ้องศาลบังคับรัฐอาจเกิดคดีรายวัน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงข่าวกรณีการลงเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา คมช. กกต. และ ส.ส.ร.บางคนกล่าวทำนองว่า ประชาชนต้องไปใช้สิทธิสนับสนุนเท่านั้น

หากใครไม่เห็นด้วยแสดงว่าคิดร้ายต่อประเทศ การที่ กกต.บางคนบอกว่าจะออกกฎหมายลงโทษพรรคที่ขัดขวางการลงประชามติ จะมีโทษยุบพรรคนั้น ปิดกั้นการแสดงความเห็นประชาชน และกำหนดผลประชามติ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิอันชอบธรรมและรักชาติไม่น้อยกว่าฝ่ายที่เห็นด้วย


นายจาตุรนต์ ยืนยันว่า


พรรคจะวิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญต่อไป โดยไม่กลัว คมช.และ กกต.จะหาวิธียุบพรรค ทั้งนี้ การแสดงความเห็นต่างๆ ไม่ได้กระทำได้ในนามพรรค เพราะไม่มีการประชุมพรรคและไม่มีมติพรรค แม้บางครั้งก็แยกไม่ออก เพราะทุกคนก็แสดงความเห็นส่วนตัว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร. มี 3-4 ปัญหาที่ย้อนหลังกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เช่น

1.การแบ่งเขตเลือกตั้งและลดจำนวน ส.ส. เป็นการลดบทบาทพรรคการเมือง
2.ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ ส.ว.มาจากการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหา 7 คน
3.การตั้งคณะกรรมการดูแลประเทศในยามวิกฤติ จึงขอให้แก้ไขอย่างจริงจัง

หาก ส.ส.ร.ยืนยันตามเดิม พรรคก็จะแถลงข่าวประกาศไม่เห็นด้วย


ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวปิดการสัมมนา


เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญในภาพรวมทั้งหมดสรุปได้ 4 ข้อ คือ

1.บทบัญญัติไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง
2.เมื่อดูผิวเผินอาจจะดี แต่เมื่อดูลึกซึ้งแล้วบางส่วนอาจจะอันตราย ไม่ดีอย่างที่ผู้ร่างต้องการ
3.บางมาตรามีความขัดแย้งกันเอง และ
4.เทคนิคการเขียนกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปควรจะกลับไปดูรายละเอียดให้มากขึ้น

"ถ้าดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ จะพบว่าผู้ร่างพยายามหาทางแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แต่ละเรื่องมาประกอบการเขียน เพราะฉะนั้น หลายเรื่องสมาชิก สนช.จึงรู้สึกว่าเป็นการแก้เฉพาะจุดไม่ได้แก้ภาพรวม" นายมีชัย กล่าว

ประธาน สนช. กล่าวอีกว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพที่เขียนไว้ก็น่าเป็นห่วง คือ การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลเพื่อบังคับรัฐให้กระทำการให้ถูกต้องตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรองรับ ถ้าไม่เขียนอย่างรอบคอบอาจเกิดคดีรายวัน ดังนั้น ต้องช่วยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลดทอนอันตรายตรงนี้ให้เหลือน้อยที่สุด

รวมทั้งบทบัญญัติสำคัญๆ อะไรที่สำคัญๆ ส.ส.ร.ควรต้องกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันระหว่าง 2 สภา ว่า สนช.มาแปลงโฉมกฎหมายประกอบ



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์