ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ “ไม่ชอบ” ด้วยรัฐธรรมนูญ พูดง่าย ๆ คือว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.เป็น “โมฆะ”
ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะในครั้งนี้คนละกรณีกับการเลือกตั้งเป็นโมฆะเมื่อปี 49 เพราะครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า มิได้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ขณะที่เมื่อปี 49 นั้นโมฆะจากการจัดการเลือกตั้งของกกต.ที่ “หันคูหาเลือกตั้งออก” จนทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ
แม้การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ แต่สังคมไทยก็ยังเต็มไปด้วยคำถามว่าแล้วสุดท้ายทางออกของปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้จะไป “ลงเอย” ที่ตรงจุดไหน
มีหลายเหตุผลที่สามารถวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ต่อไป
ประการแรก กกต.ในฐานะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งคงต้องรอคำวินิจฉัยกลางจากศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นถึงจะบอกได้ว่า จะเสนอให้รัฐบาลรักษาการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้เมื่อไหร่และการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปจะเกิดขึ้นวันไหน นอกจากนี้ยังต้องดูว่าหากจัดให้มีการเลือกตั้ง “แนวโน้ม” จะเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสร้างปัญหาให้เพิ่มมากขึ้นกันแน่ ทั้งนี้ทั้งนั้นกกต.ก็คงจะต้องมองพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสังกัด
ได้ยิน กกต.บางคนออกมาเปรยแล้วว่า ขั้นต่ำในระยะเวลา 2-3 เดือนนี้ น่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ประการต่อมา เมื่อกระบวนการต่าง ๆ ชัดเจน ก็ต้องมาดูว่า แต่ละพรรคการเมืองจะเห็นเป็นประการใด ในมุมของพรรคเพื่อไทยนั้น “ชัดเจน” ว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเพราะมั่นใจคดีทางการเมืองต่าง ๆ ไม่น่ากระทบกับคะแนนนิยมของพรรค และมองว่าการเป็นรัฐบาลรักษาการที่มีเครือข่ายและมีอดีตส.ส.อยู่ในมือน่าจะ “ชนะเลือกตั้ง” ได้ไม่ยาก แม้จะไม่ชนะด้วยเสียงข้างมากเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 ก.ค.54
แต่ก็ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่กังวลกับคดีความสำคัญอย่างน้อย 2 เรื่องคือ เรื่องแรก โครงการรับจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการและ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหา และเรื่องต่อมาคือ กรณี 308 ส.ส.และส.ว.ที่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ที่มาของวุฒิสภา” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่ป.ป.ช.มีมติ “ชี้มูล” นายนิคม ไวยรัชพานิช จนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภาและต้องเข้าสู่กระบวนการ “ถอดถอน” ในที่ประชุมวุฒิสภาหลังจากนี้ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ตรงนี้พรรคเพื่อไทยก็แก้เกมการเมืองไว้แล้วโดยยืนกระต่ายขาเดียวว่า ไม่ยอมรับองค์กรอิสระและมีการต่อสู้ในเชิงวิชาการ ขณะที่นปช.ซึ่งเป็นมวลชนที่คอยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็มีท่าทีไม่ต่างกันเพียงแต่สื่อสารไปถึงอีกกลุ่มคนว่าเป็นกระบวนการของอำมาตยาธิปไตยเพื่อจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งไม่ใช่วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย
อีกประการ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งชัดเจนมาตั้งแต่การลาออก “ยกเข่ง” ของส.ส.ในพรรคเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.แล้วว่า ตราบใดที่การเลือกตั้งยังไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหา พรรคประชาธิปัตย์ก็ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่คราวนี้ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์จะหาคำอธิบายได้ยาก เพราะหากยืนกรานตามที่กปปส.ซึ่งนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต้องการให้มีการ “ปฏิรูปการเมือง” ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็จะถูกตั้งคำถามถึงการเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทันที เรื่องแพ้หรือชนะทางการเมืองนั้นสำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้วไม่น่าจะเป็น “ปัจจัย” ชี้ขาดเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ “สูสี” อีกครั้งหนึ่งในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา
ประการสำคัญ กปปส.ซึ่งต่อยอดมาจากการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนพัฒนามาเป็นการปฏิรูปการเมืองและได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม โดยดูได้จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาที่มีผู้ไม่ไปใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
กปปส.ไม่ใช่พรรคการเมืองและจะไม่เป็นพรรคการเมือง ไม่ลงเลือกตั้งแต่มีเป้าหมายคือ ปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเท่านั้น จึงน่าจะชัดเจนว่า กปปส.จะไม่เอาด้วยกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิรูป แต่เที่ยว
นี้ก็เป็นที่น่าคิดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนมากขนาดไหน
แต่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้หากมี “เงื่อนไข” อื่นเข้ามา
อย่าลืมว่า กปปส.นั้นอยู่ทุกวันนี้เพื่อรอดูการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งกปปส.ก็เห็นแล้วอย่างน้อยก็ 4 ครั้ง ครั้งแรก กรณี ถวิล เปลี่ยนศรี ครั้งต่อมา กรณี เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ต่อมากรณี “ชี้มูล” นายนิคม และล่าสุดกรณีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ แต่เป้าหมายของกปปส.ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่การให้รัฐบาลรักษาการ “พ้นไป” ซึ่งมีอยู่วิธีการเดียวนั่นคือกรณีของ ป.ป.ช.ในโครงการรับจำนำข้าว
ซึ่งในวันที่ 31 มี.ค.นี้จะครบกำหนดเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอ “ขยายเวลา” มาชี้แจง เชื่อกันว่าไม่เกินเดือนเม.ย.นี้ ป.ป.ช.ก็จะมีการ “ชี้มูล” สมมุติว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูก “ชี้มูล” ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่คนอื่นในรัฐบาลรักษาการก็ทำหน้าที่แทนต่อได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการ “ตีความ” ต่อมา เฉพาะนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
หากการ “ชี้มูล” เกิดขึ้น ก็มีโอกาสจะเกิด “สุญญากาศ” ทางการเมืองทันที ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 คือให้วุฒิสภาเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีคนกลาง
หากเป็นไปตามแนวทางนั้น ปัญหาก็ใช่ว่าจะจบ เพราะหากไม่มีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะนปช.ก็ประกาศแล้วว่า จะออกมาขัดขวางอย่างเต็มที่ เมื่อถึงตอนนั้นจะเกิดบรรยากาศของการชุมนุมของอีกฝ่ายโดยมองว่าไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย
เมื่อนั้นการเผชิญหน้าทางการเมืองจะเกิดขึ้นทันที เมื่อการเลือกตั้งก็ไปไม่ได้ การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนกลางก็ถูกต่อต้าน ยิ่งทหารออกมาทำการอย่างหนึ่งอย่างใดนอกวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย “ความชอบธรรม” ทั้งหมดจะกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยซึ่งประกาศว่าได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งทันที
แม้การเลือกตั้งจะเป็น “โมฆะ” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบ ที่ชัดเจนเห็นกันอยู่ตอนนี้แค่ “จบตอน” เท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ “ตอนจบ”.