" นายกฯ " ยังใช้รถเข็นประชุมแก้ปัญหาภัยแล้ง-ราคาเกษตรตกต่ำ จ.ปทุมธานี ขณะที่ทีมงานนายกฯไม่อนุญาตสื่อบันทึกภาพนายกฯลงจากรถก่อนเข้าห้องประชุม หวั่นถูกวิพากษ์วิจารณ์
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
เดินทางมายัง ห้องประชุมศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร การจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรและสถานการณ์ภัยแล้ง โดยวันนี้นายกฯยังคงใช้รถเข็นขณะลงจากรถตู้โฟล์ค เนื่องจากอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าด้านซ้ายยังไม่หายและยังคงมีอาการบวมอักเสบ จึงยังต้องใช้รถเข็นตามคำสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานของนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ กรณีอาการบาดเจ็บของนายกฯ จึงไม่อนุญาตให้บันทึกภาพในช่วงที่นายกฯ ลงจากรถเพื่อมายังห้องประชุมที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
สำหรับการ ประชุมครั้งนี้ได้มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย
อาทิ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)
โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนประชุมตอนหนึ่ง ว่า สำหรับสถานการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรจะต้องมีการศึกษา
และวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละจังหวัด เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยสินค้าที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนประกอบด้วย ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน และผลไม้ จึงอยากมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยประสานกับผวจ.ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯและ กระทรวงพาณิชย์จัดทำข้อมูลสินค้ารายจังหวัด รวมทั้งหารือถึงแนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และข้อให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตร ที่จะออกสู่ตลาดล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และขอให้กระทรวงพาณิชย์นำรูปแบบการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรข้ามจังหวัดมาใช้ ตลอดจนพิจารณาอุปสงค์ อุปทานและแนวทางแก้ปัญหาราคาตกต่ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนความก้าวหน้าจัดทำโซนนิ่งเกษตร ขอให้มีการจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรโดยใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สอดคล้องกัยศักยภาพและผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และเป็นการแก้ไขปัญหาราสินค้าเกษตรตกต่ำด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ดังนั้นจึงขอให้ผวจ.ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวคิดจัดทำเกษตรโซนนิ่ง โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม ภูมิอากาศ โรงงานแปรรูปในพื้นที่ ระบบโลจิสติกส์ และปลูกพืชให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ส่วนปัญหาภัยแล้ง นั้น แม้ปีนี้พื้นที่ขลประทานจะดีกว่าเดิม
แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานยังประสบภัยแล้งอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและจัดหาน้ำกิน น้ำใช้ จึงขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานกับผวจ.ในการวิเคราะห์ สำรวจ และติดตามข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแล้งและปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกเชิงพื้นที่ (แอเรียเบส) เพื่อเน้นให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามหลักการเกษตรโซนนิ่ง รวมทั้งการเจาะบ่อบาดาลเสริมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยการจัดคณะทำงานชุดเล็กที่ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ร่วมกันวางแผนช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยมีสศช. และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสด้า) เป็นผู้ประสานและบูรณาการข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อไป.