รธน.50 ฉบับคนเมา แค่อำนาจเปลี่ยนมือ!

มีคนเคยกล่าวถึงลักษณะการเดินของคนเมาว่า


"เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว" แบบนี้ต่อให้เดินอีกทั้งชาติ ก็ไม่มีทางถึงบ้าน หรือจุดหมายได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คงเป็นการเดิน ที่ไม่ต่างจากคนเมาเท่าไรนัก เพราะบางครั้งเหมือนๆ จะ "ก้าวหน้า" เสียเหลือเกิน แต่ในบางประเด็นกลับ "ถอยหลัง" เอาเสียดื้อๆ

ประเด็นที่ดูจะก้าวไกลกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ก็คือ เรื่อง "สิทธิ"ของ "ประชาชน"

และองค์กรที่ทำหน้าที่ "พิทักษ์สิทธิ" ให้ประชาชน

เรามีการระบุเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม อย่างชัดแจ้ง


รวมไปถึงให้อำนาจในกรรมการสิทธิมนุษยชน


และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง แทนผู้เสียหาย

ที่อาจจะไม่กล้าฟ้องด้วยตัวเอง เนื่องจากกลัวผลกระทบที่อาจจะเกิดมีขึ้นได้

นอกจากนี้ ในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น ยังมีการกำหนดให้จำเป็นต้องแจ้งให้แก่รัฐสภาได้รับทราบ รวมไปถึงให้ความเห็นชอบ

และรวมไปถึงมีการระบุในเรื่องของการเยียวยาความเสียหาย ที่อาจจะได้รับจากการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้วย

แต่ก็อย่างที่บอก คือ เมื่อมีการ "เดินหน้า" ก็ต้องมีการ "ถอยหลัง"!

และส่วนใหญ่ของการถอยหลัง ก็มักจะเป็นประเด็นสำคัญๆ โดยเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กับกลไกทางการเมือง

เราคงไม่ต้องลำดับความกันให้ยุ่งยากว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

เพราะก็รู้ๆ กันอยู่ว่า เรากำลังร่าง "รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย" ภายใต้ร่มปีกของ "รัฐบาลทหาร"

แปลกันตรงตัวตรงความ ก็คือ เรากำลังเขียนรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะเป็นประชาธิปไตย โดยคนที่ถูกคัดเลือกมาจากคณะรัฐประหาร


ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่เป็นประชาธิปไตย


เพราะเราเข้าใจว่า ต้องรัฐประหารเพราะอะไร และต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพราะอะไร

ทว่า! สิ่งที่บอกได้ชัดเจน คือ เรามีทั้งเบาะแสอันน่าเชื่อได้ว่า มีความพยายามที่จะ "ต่อท่ออำนาจ" ไปถึงฝ่ายซึ่ง "กุมอำนาจรัฐ" ในปัจจุบัน

อาทิ ในมาตรา 67 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ดูเหมือนจะ "ซ่อนกล" เรื่อง "นายกฯ คนนอก" เอาไว้

น่าเชื่อว่า กรณีเช่นว่านี้ เป็นเจตนาดีของการร่างข้อความ แต่ก็น่าเชื่อและน่าสงสัยอย่างยิ่งเช่นกัน ถึง "เบื้องลึก-เบื้องหลัง" ของเจตนาดีที่ว่านั้น

โดยเฉพาะข้อความที่ระบุถึง การให้มีการจัดตั้งองค์กร เพื่อมาแก้ไขปัญหา ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤติ

มากกว่านั้น ก็คือ เรายังเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะบอกว่า ให้ยืนอยู่บนพื้นฐานรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540

แต่ความเป็นจริง ก็คือ การยืนที่ว่านั้น กลับเป็นการยืนอยู่บน "ความหวาดกลัว-หวาดระแวง" ต่อผลที่เกิดขึ้น จากรัฐธรรมนูญปี 2540 !

ปฏิเสธมิได้เลยว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเกรงกลัวการผูกขาดเสียงข้างมากของ ส.ส. ใน "ระบอบทักษิณ"

และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็คิดเอาเองว่า ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา


เราจะเห็นได้ว่า ในเบื้องต้นมีการเสนอให้ตัดทิ้ง


โดยไม่คำนึงถึงที่มา และต้นกำเนิดของปัญหา

แต่จนแล้วจนรอด กรรมาธิการก็ยังกลัวนู่นนิดนี่หน่อย และสุดท้ายก็ให้คงแบบเดิมไว้ โดยลดเพียงจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แต่ให้ใช้ชื่อใหม่เป็น ส.ส.ระบบสัดส่วน

ส่วนระบบเขต ก็กลับไปให้ใช้เขตใหญ่ แต่เลือกได้เพียงคนเดียว

และก็ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการทำลายระบบความเข้มแข็งของพรรค ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเราเคยเรียกร้องกันมาหลายสิบปี

เช่นเดียวกับ ที่มาของ ส.ว.ที่ยังอีหลักอีเหลื่อ จะเลือกตั้งก็ไม่ใช่ จะแต่งตั้งก็ไม่เชิง ดังจะเห็นได้ว่า มีทั้งตัวแทนจังหวัด และตัวแทนวิชาชีพ

และสุดท้าย เราก็อาจจะได้ทั้งปัญหาเก่าแบบ ส.ว. แต่งตั้ง มาผสมปนเปกับ ส.ว.เลือกตั้ง

แต่อะไรก็ยังไม่เท่ากับการ "ถอยหลัง" แบบสุดๆ เท่ากับการ "ออกแบบ" องค์กรที่ประกอบด้วย 11 เทวดา ให้มีอำนาจยิ่งใหญ่ล้นฟ้า เพื่อเข้ามาแก้ปัญหายามวิกฤติ

เพราะกรณีเช่นว่านี้ ไม่ต่างอะไรกับการคิดแบบ "กลับตาลปัตร" เอา "ข้อยกเว้น" มาเป็น "หลักการ"

การมอบอำนาจให้คน 11 คน เข้ามาทำตัวใหญ่เหนือระบอบ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 11 คนนี้ มีเพียง นายกฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานรัฐสภา เท่านั้น ที่มาจากประชาชน

และจะแปลความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย นอกจากความต้องการให้ "คณะบุคคล" ชุดนี้ ยิ่งใหญ่กว่าประชาชน!


รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า


ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้โอกาสกับประชาชน ในการตรวจสอบรัฐ

และมีบทบาทในการจับผิด ผู้ใช้อำนาจรัฐ มากกว่าของปี 2540

เพราะเราก็เห็นกันชัดๆ ว่า ปัญหาเกิดจากภาคประชาชนไม่สามารถตรวจสอบรัฐได้ และประชาชนไม่มีผลต่อผู้ทรงอำนาจรัฐแม้แต่เพียงนิดเดียว

แต่สิ่งที่เราได้เห็นกลับปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันอยู่นี้ กลับไม่ให้ประชาชนสามารถต่อรอง หรือตรวจสอบกับอำนาจรัฐได้เช่นเคย

แถมยังไปดึงเอาอำนาจ "ตุลาการ" เข้ามาอีนุงตุงนังกับอำนาจ "บริหาร-นิติบัญญัติ" เสียอีก

รูปธรรมที่ปรากฏให้เห็นชัดแจ้งเช่นว่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม

มีก็เพียงบทสรุปเดิมๆ คือ

รัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับไหน ก็เป็นได้แค่การแย่งชิง และการเปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจรัฐ โดยมีประชาชนเป็นเครื่องมือ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เท่านั้น!!!



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์