สัมภาษณ์พิเศษ โดย ศิริภา บุญเถื่อน
หมายเหตุ - นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน"ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส. และยืนยันว่าการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นไม่สามารถทำได้
"เชื่อว่า กกต.จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสงบ และผ่านพ้นไปได้ด้วยดีถ้า กกต.ทำโดยสุจริตก็ไม่ต้องกลัวอะไรแต่ถ้ามีกฎหมายแล้วไม่ทำน่ากลัวมากเพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเสียเอง"
@ พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอชื่อให้เป็นที่ปรึกษาของ กกต.ในการช่วยแก้ไขปัญหากรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้ลงสมัคร ส.ส.
การเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.เป็นเรื่องของ กกต.ที่จะพิจารณา เท่าที่ทราบขณะนี้ กกต.แต่ละคนก็มีที่ปรึกษากฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญกันครบถ้วนแล้ว และตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เมื่อ กกต.ชุดใดครบวาระไปแล้วนั้นจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ กกต.ชุดปัจจุบัน เราจะถือว่าเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เข้าไปก้าวก่ายงานของ กกต. หากตราบใดที่ไม่คิดจะเอา กกต.มาเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่แรก เราก็คงไม่เสนอตัว แม้จะมีพรรคการเมืองสนับสนุนชื่อก็ตาม ก็คงไม่รับตำแหน่งนี้ จริงๆ กกต.ชุดนี้แต่ละคนมีความสามารถ เป็นนักกฎหมายที่มาจากศาลฎีกา บางคนก็เป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ บางคนก็เคยเป็นเอ็นจีโอมีประสบการณ์มากมาย
@ ข้อเสนอของ กกต.ให้นายกรัฐมนตรีออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส.สามารถทำได้หรือไม่
ข้อเสนอของ กกต.ที่จะให้นายกรัฐมนตรีออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกนั้น กกต.ต้องอ้างตัวบทกฎหมายให้ได้ว่าใช้มาตราใด ต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร สิ่งสำคัญคือ กกต.ต้องชัดเจนในข้อกฎหมายว่าเหตุใดถึงต้องออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ถ้าอ้างไม่ได้ ก็อย่าบอกว่าเป็นมติ กกต.เนื่องจากมติ กกต.ไม่ได้เป็นกฎหมาย อีกทั้งการออก พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ก็เหมือนเป็นการทำกันคนละวาระกับ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เหมือนกับแยก 8 จังหวัด 28 เขตเลือกตั้งที่เป็นปัญหาออกจากการเลือกตั้งใน 69 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัด หากออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ต้องลงวันที่ในการเลือกตั้งใหม่ มองดูแล้วว่าอาจ จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 108 หรือไม่ เพราะมาตราดังกล่าวในวรรคท้ายระบุว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรทำได้ในครั้งเดียวและเหตุการณ์เดียวกัน แต่หากไปกำหนดให้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งฉบับใหม่ มันจะเหมือนเป็นการยุบสภาถึง 2 ครั้งหรือไม่ ดังนั้น ก็อาจจะมีพวกหัวหมอไปตีความว่า พ.ร.ฎ.ฉบับแรกเป็นการออกโดยมิชอบหรือไม่ ความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ กกต.กับนายกรัฐมนตรีทันที กรณีนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากออก พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ขึ้นมา จะตีความตามมาตรา 108 ทันทีว่าไม่มีการเลือกตั้งพร้อมกัน เพราะ 8 จังหวัดเป็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทั้งหมดนี้จะเข้าล็อกส่งผลให้การเลือกตั้งที่เรียบร้อยใน 69 จังหวัดเกิดปัญหาได้
@ มองว่ากรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ยังเป็นปัญหาอยู่นั้น ควรมีการแก้ไขอย่างไร
สำหรับ 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส. ต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้ครบจำนวน 77 จังหวัด แม้จะไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนก็ตาม กกต.ก็สามารถออกเป็นประกาศ กกต.ได้ แต่มันก็จะติดล็อกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ที่ระบุว่า ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งให้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ดังนั้น กกต.ต้องรีบดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 4 มีนาคม เพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 หากถึงกำหนดแล้ว กกต.ไม่สามารถดำเนินการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ได้ทัน ผลที่ตามมาจะถือว่า กกต.ไม่ได้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ สุดท้าย กกต.ต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ
สมัยที่ กกต.ชุดก่อนดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป จำนวน 2 ครั้ง ก็พยายามที่จะให้มีการเปิดประชุมสภาให้ได้ตามกำหนด 30 วัน โดยพยายามประกาศผลการเลือกตั้ง หากว่าที่ ส.ส.คนใดไม่มีเรื่องร้องเรียน กกต.ก็จะประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วัน แต่หากว่าที่ ส.ส.คนใดมีเรื่องร้องเรียน กกต.ก็จะดำเนินการสอบสวน ส่วนจะได้ใบเหลือง ใบแดง หรือใบขาว ก็ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่หากสอบสวนไม่แล้วเสร็จ กกต.ก็จะประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้วค่อยสอยภายหลัง
@ กกต.ก็มีแนวโน้มที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง มองว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดหรือไม่
กกต.ก็ใช้บริการศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มันมีประเด็นปัญหาว่า 28 เขตเลือกตั้งจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการใด จะสามารถออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ ก็เชื่อว่าน่าจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่อย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยที่ไม่เอื้อกับการปฏิบัติงานของ กกต. เหมือนกับการวินิจฉัยครั้งก่อนว่าการเลือกตั้งสามารถเลื่อนได้ แต่ต้องไปตกลงกันเองระหว่าง กกต.กับรัฐบาล โดยคำวินิจฉัยไม่ได้ระบุว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ทันทีหรือไม่ ไม่ได้ฟันธงว่าเลื่อนการเลือกตั้งได้ หากวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ฎ.เป็นอำนาจของ กกต.หรือนายกรัฐมนตรี มันก็อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของ กกต. เพราะ กกต.ก็คงอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญฟันธงไปเลยว่าให้อำนาจการออก พ.ร.ฎ.เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้ กกต.ไม่ต้องรับผิดชอบหากว่าอนาคตเกิดปัญหาการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ขณะนี้ กกต.กำลังถูกเงื่อนไขเรื่องเวลา 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 บังคับ เป็นเงื่อนเวลาที่จะรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากรอคำวินิจฉัยก็อาจจะทำให้มี ส.ส.ไม่ครบเกณฑ์ 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้
@ นักวิชาการออกมาระบุว่าปัญหาของประเทศจะไม่หยุดอยู่แค่เพียงปัญหาทางการเมืองแต่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย
กฎหมายกำหนดระยะเวลาให้มีการเปิดประชุมสภาภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง การเปิดประชุมสภาเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการจัดตั้งรัฐบาล การปล่อยเวลาให้ผ่านไป 4-5 เดือน ถือว่าไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 และมาตรา 172 จะเกิดปัญหาทันทีเพราะมีแต่รัฐบาลรักษาการ
@สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบกับการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมหรือไม่
ไม่กระทบ เพราะขณะนี้ กกต.ไม่ได้จัดการเลือกตั้งแค่เพียง ส.ส.เพียงอย่างเดียว แต่ กกต.ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วจะจัดการเลือกตั้ง ส.ว.ไม่ได้ กกต.ก็ปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ
@ กกต.เตรียมทำหนังสือเชิญอดีต กกต.เข้าร่วมเวทีหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
หากทำหนังสือเชิญมาก็คงจะเข้าร่วมงาน เพราะส่วนตัวยังรู้สึกเป็นห่วงงาน กกต.อยู่ สิ่งที่แสดงความคิดเห็นออกมานั้นเป็นการหวังดี ไม่คิดว่าจะทำให้ กกต.เกิดความเสียหาย เพราะก็เคยอยู่ในหน่วยงานนี้มาถึง 7 ปี ความรักในหน่วยงานนี้ยังคงอยู่ตลอดเวลา อยากเห็นองค์กร กกต.เป็นองค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญตลอดไป อยากให้เจ้าหน้าที่กว่า 2,000 คน มีงานทำ ไม่อยากให้อนาคตผู้ที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งกลับไปตกอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย
@ ในฐานะ กกต.รุ่นพี่มีความเป็นห่วงปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง
ขณะนี้ไม่อยากได้ยินว่าปัญหาเกิดจาก กกต. เพราะการเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง ใครจะทำสิ่งใดก็ปล่อยเขาไป กกต.ไม่มีหน้าที่ไปเคลียร์ปัญหาทางการเมือง แต่ กกต.มีหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ส่วนปัญหาทางการเมืองอยู่นอกเหนืออำนาจ กกต. ส่วนตัวเชื่อว่า กกต.จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสงบ และผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ถ้า กกต.ทำโดยสุจริต ก็ไม่ต้องกลัวอะไร แต่ถ้ามีกฎหมายแล้วไม่ทำน่ากลัวมากเพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเสียเอง
............
(ที่มา:มติชนรายวัน 11 กุมภาพันธ์ 2557)