ศาลนัดฟังปูออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมิชอบหรือไม่
ศาลแพ่ง'รับฟ้อง'ปู'ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินมิชอบ นัดฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว 31 ม.ค.
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 มกราคม ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งคดีที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรอง ผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมขอศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้บริหารประเทศในสถานการณ์ที่กระทบความมั่นคงจนอาจกระทบต่อเอกภาพและบูรณภาพทางอาณาเขต โดยรัฐมีความจำเป็นใช้อำนาจในทางบริหารเพื่อแก้ไขเหตุการณ์กลับเป็นปกติสุข โดยมาตรา 16 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บัญญัติว่า ข้อกำหนดไม่อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง และไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์บ้านเมืองจนกว่าจะมีการยกเลิกกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองของศาลยุติธรรม จึงสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้
เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง โดยใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการลิดรอนสิทธิการชุมนุม อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสาม กระทำการไม่สุจริตเกินความจำเป็น คำฟ้องโจทก์มีมูลเพียงพอรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งรับฟ้อง และด้วยสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้มีเหตุสมควรพิจารณาเร่งด่วน โดยทนายโจทก์แถลงต่อศาลขอนำพยานเข้าสืบจำนวน 2 ปาก
ศาลจึงนัดไต่สวนฉุกเฉินเกี่ยวกับคำขอคุ้มครองชั่วคราว ในวันนี้ (30 ม.ค) เวลา 13.30 น. โดยในส่วนการพิจารณาเนื้อหาคดี ให้นัดชี้สองสถานเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 09.00 น. โดยให้ส่งหมายแจ้งจำเลยทั้งสามทราบ ซึ่งหากจำเลยขาดนัด ให้งดชี้สองสถาน และถือว่าในวันดังกล่าวให้เป็นวันสืบพยานโจทก์แทน
ศาลนัดฟังคำสั่งคุ้มครอง31ม.ค.
ต่อมาเวลา 13.30 น. ทนายโจทก์ได้นำนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ขึ้นเบิกความว่า นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และการใช้ชีวิตประจำวัน ถูกจำกัดทั้งการห้ามเข้าสถานที่ราชการ การห้ามสัญจรบนถนน 20 สาย ห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และที่สำคัญมีการยื่นขอออกหมายจับแกนนำ กปปส.ถึง 3 ครั้ง โดยหลังจากมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการจับกุม นอกจากนี้ พวกจำเลยยังได้วางแผนสลายการชุมนุมโดยอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ เช่น มีการเจรจาขอคืนพื้นที่ ทั้งที่สถานที่ชุมนุมก็มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ และมีการนำกองร้อยปราบจลาจลกว่า 16,000 นายเตรียมการใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เป็นการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จำเลยที่ 2 เอง
ขณะที่นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสมช. เบิกความว่า จากการติดตามข่าวสารตลอดเวลา เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง และไม่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ แม้กลุ่ม กปปส.จะเคลื่อนขบวนปิดล้อมสถานที่ราชการ แต่ก็เป็นไปโดยความสงบ เรียบร้อย ไม่เกิดความรุนแรง ไม่เป็นการรบกวนความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2552-2553 อย่างสิ้นเชิง จึงเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีเหตุรุนแรงพอที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับนี้ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งระงับเหตุภายนอก ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการมุ่งจำกัด หรือควบคุมไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออกเพื่อกดดันรัฐบาล และจำเลยทั้งสามยังใช้กลไกของรัฐรวมถึงกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของรัฐบาล มากกว่ามุ่งรักษาความสงบเรียบร้อย
ภายหลังเบิกความเสร็จศาลนัดฟังคำสั่งจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ในวันที่ 31 มกราคมนี้ เวลา 15.00 น.
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!