ยัน กปปส.รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ชี้พบหลักฐานมือปาระเบิดเป็นหมวกหน่วยจู่โจมพิเศษ 13 จ.นราธิวาส แฉมีคนสั่งเก็บแกนนำ กปปส. สั่งเสียถ้าหนีไม่รอดให้แกนนำที่เหลือเดินหน้าล้มระบอบทักษิณ ระบุไม่หยุดนัดเคลี่อนขบวน 10 โมงพรุ่งนี้
ผ่าน 80 วันไปแล้วกับการลุกขึ้นมาของมวลมหาประชาชนภายใต้ชื่อว่า กปปส. ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการและแกนนำ
เพื่อ “ขับไล่” ระบอบทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การบริหารงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการต้องยอมรับความจริงอยู่ข้อหนึ่งที่ว่า ยิ่งนับวันการ “ขับไล่” รัฐบาล การปฏิเสธการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. พร้อมกับเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปการเมือง” จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น และต้องยอมรับความจริงอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ยิ่งมวลมหาประชาชนเดินทางมาไกลเท่าไหร่ ความรุนแรงถึงขั้นปองร้ายหมายเอาชีวิตกันเริ่มจะมีให้เห็นมากขึ้น
โดยทั้งหมดเกิดขึ้นกับแกนนำของ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการยิงปืนบ้าน ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ยิงบ้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ปาระเบิดบ้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาระเบิดวังสวนผักกาด ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. บ้านพัก อิสสระ สมชัย แกนนำ กปปส. อดีต ส.ส.อุบลราชธานี
แม้สถานการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร แต่พรรคเพื่อไทยที่มีกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคได้วิเคราะห์และประเมินเหตุการณ์
โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมรับรู้รับทราบและใช้ “แนวทาง” ที่ว่านี้เดินหน้าเพื่อประคองสถานการณ์และรอวันรุกคืบทางการเมือง
ข้อที่ 1. รัฐบาลรักษาการประเมินว่า ปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ของ กปปส. ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา จะกลายเป็นกระแส “ตีกลับ” เพราะนับวันจะยิ่งสร้างความเดือดร้อนด้านการจราจร ด้านเศรษฐกิจ ด้านการท่องเที่ยว โดยที่รัฐบาลรักษาการไม่ต้องไปทำอะไร นอกจากทำให้สถานการณ์อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง
ขณะที่ปีกหนึ่งคิดอย่างนั้น อีกปีกหนึ่งก็ใช้ยุทธวิธีสร้างความกลัวเพื่อทำลายกระแสด้วยการใช้ความรุนแรงเพราะเชื่อว่า พลังคนชั้นกลางที่ไม่ได้มาจากการจัดตั้งซึ่งมีธรรมชาติ “เบื่อง่ายหน่ายเร็ว” จะล่าถอย
เพราะแม้มวลมหาประชาชนจะแสดงพลังทางการเมืองมากมายขนาดไหนแต่ก็ไม่มีผลในทางกฎหมายโดยเฉพาะการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้อง “ลาออก” จากนายกรัฐมนตรีรักษาการ
ข้อที่ 2. แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. จะเสนอให้มีการ “เลื่อน” การเลือกตั้ง แต่รัฐบาลรักษาการก็จะยืนยันโดยอ้างข้อกฎหมายว่าไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะหากเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป อาจจะกลายเป็นกระแส และทำให้รัฐบาลรักษาการอยู่นานโดยที่ไม่มีอำนาจบริหาร ซึ่งอาจจะกลายเป็น “เป้าล่อ” โดยไม่จำเป็น แม้จะรู้ว่าถึงจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เกิดขึ้นและไม่สามารถที่จะเรียกประชุมสภาภายใน 30 วัน เพื่อนำไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลรักษาการต้องรับผิดชอบ เพราะหน้าที่เหล่านี้เป็นของ กกต. และหากมีปัญหา กกต. นั่นแหละที่จะต้องเข้าไปดูแลจัดการ และอาจจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายหากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้ง
พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ มองว่า การเลือกตั้งนี่แหละจะเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กลับมา
ข้อที่ 3. ประเมินว่าแม้จะมีคดีอยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช. แต่ก็ไม่สามารถ “หยุด” การเลือกตั้งได้ โดยในกรณีของการชี้มูลความผิด 308 ส.ส. และ ส.ว. ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. เพราะหาก “ชี้มูลก่อน” ก็ไม่มีปัญหาคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส. และหากผ่านการเลือกตั้งแล้วถูก “ถอดถอน” ก็ไปเลือกตั้งซ่อมซึ่งพรรคเพื่อไทยเตรียมคนไว้แล้ว
การ “ถอดถอน” ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะจะต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนที่ ส.ว.เลือกตั้ง จะครบวาระในวันที่ 3 มี.ค. หรืออีก 1 เดือนกว่า ๆ นับจากนี้ไป
ขณะที่คดีโครงการรับจำนำข้าว ยังมีขั้นตอนอีกพอสมควร จึงเชื่อว่าจะมีการ “ชี้มูล” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งในกรณีนี้ พรรคเพื่อไทยก็เตรียมนายกรัฐมนตรีสำรองที่ชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐ มนตรี “น้องเขย” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้แล้ว
ข้อที่ 4. มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กำชับให้รัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการห้าม “ลาออก” แม้แต่คนเดียวเพราะหากมีการลาออกเท่ากับว่ารัฐบาลพ่ายแพ้และจะไม่มีทางกลับมาชนะได้อีก
รัฐบาลรักษาการจะต้องอยู่เพื่อให้ “อำนาจ” อยู่ในมือต่อไป
พ.ต.ท.ทักษิณ มองว่า วิธีการที่ฝ่ายตรงข้ามจะชนะคือต้องชนะการเลือกตั้ง ต้อง “ยัดเยียด” ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งให้พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หากไม่ชนะด้วยการเลือกตั้ง แล้วใช้การรัฐประหารเข้ามายึดอำนาจ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะยิ่งได้ความชอบธรรมมากขึ้นไปอีก และอาจจะได้แนวร่วมซึ่งไม่เอาด้วยกับการรัฐประหารหรือวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น
แนวทางทั้งหมดเหล่านี้ พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า จะสามารถทำให้พรรคเพื่อไทยผ่าน “ด่านหิน” ทางการเมืองด่านต่าง ๆ ไปได้
และหากผ่านการเลือกตั้งแล้วมีปัญหาในอนาคต รัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทยก็ใช้กระบวนการ “เลือกตั้ง” ซึ่งพรรคใช้เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยมาตัดสินใจทาง การเมือง เพราะมองว่า หากใช้การเลือกตั้งยังไงพรรคเพื่อไทยก็น่าจะมีชัยชนะทางการเมืองเหนือพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลสนับสนุน
และหากพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง อาจจะใช้จังหวะตรงนั้น “จัดการ” กับการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ข้าราชการสาธารณสุข ทหาร ฯลฯ
ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังไม่แพ้ และ กปปส. ก็ยังไม่ได้ชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด.