ภายหลังที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไป เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และหลังจากยุบสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 108 วรรคสอง กำหนดว่า ?การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้น ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร"
หากจะกางปฏิทินของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายหลัง มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไล่เรียงได้ดังนี้
ระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2556 - 2 มกราคม 2557 กกต.ได้เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด
โดยยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในวันที่ 2 มกราคม 2557 สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้วหากไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนน สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามวันเวลาที่กำหนดได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอใหม่
ขณะที่การรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2556 กกต.ได้สรุปจำนวนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,249 คน โดยมีพรรคการเมืองส่งลงสมัคร 53 พรรคการเมือง จาก 71 พรรคการเมือง
ส่วนการรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด
(แต่ละจังหวัดจะกำหนดให้สมัครที่แห่งเดียวในจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2556 - 1 มกราคม 2557 กกต.ได้สรุปจำนวนผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ 375 เขตเลือกตั้งนั้น มีผู้สมัครจำนวน 1,261 คน โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้สมัคร จำนวน 8 จังหวัด 28 เขตเลือกตั้ง ประกอบด้วย 1.จ.นครศรีธรรมราช เขต 3,8 2.จ.ชุมพร เขต 1 3.จ.กระบี่ เขต 1,2,3 4.จ.ตรัง เขต 1,2,3,4 5.จ.พัทลุง เขต 1,2,3 6.จ.สงขลา เขต 1,2,3,4,5,6,7,8 7.จ.สุราษฎร์ธานี เขต 1,2,3,4,5,6 และ 8.จ.ภูเก็ต เขต 1 โดยในเขตที่ยังเปิดรับสมัครไม่ได้ กกต.ได้แนะนำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนำหลักฐานที่ได้ลงบันทึกประจำวัน จากสถานีตำรวจไปร้องต่อศาลฎีกา เพื่อขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม
โดยผู้ที่ได้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า สามารถลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตจังหวัด ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตจังหวัด (ต้องเป็นผู้ที่ยื่นคำขอใช้สิทธิเลือกตั้งไว้เท่านั้นจึงจะใช้สิทธิเลือกตั้งได้) โดย กกต.ได้สรุปยอดจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า นอกเขตจังหวัด มีจำนวนผู้ขอลงทะเบียนทั้งสิ้น 2,164,796 คน โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนมากที่สุด จำนวน 916,210 คน ขณะที่จังหวัดบึงกาฬ น้อยที่สุด จำนวน 532 คน ขณะที่จำนวนผู้ขอลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มกราคมนั้น จากข้อมูลของแต่ละสถานเอกอัครราชทูต มีผู้ขอลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 143,807 คน จากจำนวน 93 สถานเอกอัครราชทูต
ส่วนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป 500 คน ได้แก่แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 125 คน (ให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง) และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน 375 เขตเลือกตั้ง ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 6 มกราคม เขตที่สามารถจัดการเลือกตั้งมีเพียง 347 เขต เนื่องจาก 28 เขต ยังไม่มีผู้สมัคร
ทั้งนี้ หากในวันเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้เพราะมีกิจธุระจำเป็น ต้องไปแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เสียสิทธิ วิธีการแจ้งเหตุ ระหว่างก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จนถึงหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน
...........
(ที่มา:มติชนรายวัน 7 มกราคม 2557)