โจมตี ป๋าเปรม ตีจุดเปราะบาง คมช.

จับประเด็นสุดสัปดาห์ : โจมตี "ป๋าเปรม" ตีจุดเปราะบาง คมช.


"ความโกรธ น่าจะนำพาไปสู่จุดอับ จนอาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ตามเป้าหมายของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า การชักนำเอารถถังออกมายึดอำนาจนั้น โทษทัณฑ์สาหัส กว่าการโกงกินประเทศ และทำลายโครงสร้างประเทศ"

ทำไมถึงต้องเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ม็อบสนามหลวงวางตัวเป็นเป้า หลายคนคงมีคำถามนี้ในใจ หลังจากที่เห็นม็อบเดินหน้าล่าชื่อเพื่อถวายฎีกาในหลวง ไม่ยอมเลิกรา

ถึงแม้ว่า เมื่อปี 2530 พล.อ.เปรม จะเคยถูกนักวิชาการล่าชื่อถวายฎีกาถอดถอนมาแล้วครั้งหนึ่ง

แต่ปัจจัยเหตุในครั้งนั้น กับเหตุผล-สถานการณ์ที่เกิดขั้นในครั้งนี้ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง


พล.อ.เปรม ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน


แต่เป็นประธานองคมนตรี เป็นบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้รับตำแหน่ง

ตำแหน่งองคมนตรีเป็นตำแหน่งที่สูงส่ง และเป็นสิ่งที่คนทั่วไปต่างก็รู้ดีว่า ควร "หลีกเลี่ยง" ที่จะนำพาสิ่งไม่ดีไปเฉียดใกล้

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ก็รู้ดีว่า ควรจะวางตัวเช่นไรเพื่อให้เสมือนว่า หลุดพ้นจากการกระทำที่เรียกได้ว่า "ผิดพลาด" หรือเป็นผู้สนับสนุนให้เกิด "ความผิดพลาด"

ที่ผ่านมาเป็นเช่นนั้น และนับแต่นี้ไปก็ต้องเป็นเช่นนั้น

ดังนั้น การจงใจที่จะแตะต้อง พล.อ.เปรม ทั้งการล่าชื่อเพื่อถวายฎีกา และการกล่าวปราศรัยโจมตี จึงเป็นสิ่งที่ใครต่างก็เชื่อว่า มีเบื้องหลัง มีคนชักใย

ผู้ที่เชื่อเช่นนั้น ไม่ได้มีเพียง บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย หากแต่บรรดา คมช.ทั้งหลาย ต่างก็มั่นใจว่า มี "ไอ้โม่ง" ชักใยให้น้ำเลี้ยง

ก่อนที่ทหารจะขับรถถังออกมา "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ที่ออกจากปาก ทักษิณ นั้น ไม่มีใครคิดว่าเป็นคนอื่นที่ไหน

เข้าใจตรงกันหมดว่า ต้องเป็น "ป๋าเปรม" แน่


เมื่อมั่นใจแล้ว ก็ตีความกันว่า นั่นเป็นการ "วัดบารมี" ครั้งสำคัญ


ก่อนที่ รัฐบาลทักษิณ จะถูกยึดอำนาจโดยทหาร

เป็นกลุ่มทหารที่ พล.อ.เปรม ปลุกเร้าให้ทหารที่เปรียบเสมือน "ม้า" ที่รัฐบาลเอาอานมาใส่แล้วขึ้นขี่

ให้เป็น "ม้า" ที่รู้จักปฏิเสธ "จ๊อกกี้" ที่ไม่รู้จักคุณแผ่นดิน เทิดทูนสถาบันกษัตริย์

เป็นการปลุกเร้าท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมที่แตกออกเป็นสองฝ่าย หวุดหวิดที่จะเผชิญหน้ากันก็หลายครั้ง

ภาพเช่นนั้น อาจทำให้หลายคนเชื่อว่า เบื้องหลังของความราบรื่นในการยึดอำนาจนั้น มีผู้มีบารมีอยู่เบื้องหลัง

การเข้าพบและการแสดงออกถึงความเกรงอกเกรงใจของคณะนายทหารที่ก่อการยึดอำนาจ ถูกจับเอามาเป็นประเด็นโจมตี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ

และเป็นข้ออ้างให้กลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการล่าชื่อถวายฎีกาถอดถอน

เกมอย่างนี้ คมช.ก็รู้ดีว่า จุดมุ่งหมายอะไร ต้องการอะไร และอยากให้ถึงไหน ?


แตะต้องป๋า แต่ดูเหมือนว่า ไม่อยากให้ถึงแค่ป๋า


เรื่องอย่างนี้นับวันจะยิ่งแหลมคม

ในขณะที่ คมช.-รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเลือกที่จะใช้วิธีนุ่มนวล ตามหลักกฎหมาย ภายใต้หลักคิด "ความสมานฉันท์"

เป็นเสียอย่างนี้ คนจ้องท้าทายก็เลยได้ใจ

แลบลิ้น ปลิ้นตา ด่าทอ เอ๊ะ! ยังทำเฉย สุดท้ายคงได้เดินมาตบกบาลเล่น

หากถึงวันนั้น คมช.-รัฐบาล จะเอาเกียรติ เอาศักดิ์ศรีไปไว้ที่ไหน แล้วคนที่รักป๋า เขาจะทนดูต่อไปได้หรือ ?

อุตส่าห์เข็นรถถังมายึดอำนาจ แต่เรื่องที่เล็งเห็นอยู่แล้วว่า จะทำให้เกิดเหตุบานปลาย กลับปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง

ยังมีกะจิตกะใจ ไปฟังอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล งมหาข้อกฎหมายมาเอาผิด ซึ่งแทบช็อกเมื่อฟังบทสรุปว่า "ไม่ผิด"


จน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาการ ผบ.ตร. ต้องออกโรงฟันธงเอง


ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า สภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น อเนจอนาถ ต้องยกเครื่องใหม่โดยด่วน

คมช.-รัฐบาลที่ยังรีๆ รอๆ เพราะมัวไปมองในมุมยุทธวิธี ว่านี่คือ ศึกด้านหนึ่ง เพราะอีกด้านนั้น พีทีวี ที่เปิดหน้ารุกคืบอ้างว่า ไม่มีพื้นที่ออกอากาศ ตามสภาพจิตใจที่หันเห อยากจะเป็นสื่อ

ส่วนอีกศึกก็คือ พรรคไทยรักไทย ที่ คมช.ประกาศชัดว่า ไม่ต้องโอดครวญว่า คมช.ไม่สนใจฟังเหตุผล ซึ่งเป็นเพราะไทยรักไทยเป็นส่วนสำคัญในการหนุนส่งอำนาจเก่า และข้อมูลหลั่งไหลเข้ามายัง คมช.ว่า "ฐาน" ในพื้นที่นั้นยังปลุกขึ้นได้ไม่ยากนัก หากปัจจัยพร้อมพรัก

ศึกที่สำคัญ กลับเป็นศึกใต้ดิน ซึ่งประเมินกันว่า โครงข่ายเชื่อมโยงซับซ้อน มีแม้กระทั่งนักธุรกิจที่เคยได้อานิสงส์จากระบอบทักษิณ คอยให้ความร่วมมือ

รอกันไปอย่างนี้ เข้าตำรา "กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้"


กว่าจะคลำหาท่อน้ำเลี้ยงเจอ ป๋าก็เละ !


ความล่าช้ายังเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายต่อต้านเลือกเป้า มีโอกาสจัดสรรหน้าที่ในการจู่โจม โดยที่ คมช.ได้แต่ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน แทบไม่มีโอกาสตอบโต้

นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไม "ป๋าเปรม" ต้องโดน

เพราะในระดับสามัญชนแล้ว "ป๋า" คือส่วนเปราะบางที่สุดที่ทำให้ คมช. ถึงจุดเดือดได้ง่ายที่สุด

ความโกรธ น่าจะนำพาไปสู่จุดอับ จนอาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ตามเป้าหมายของฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า

การชักนำเอารถถังออกมายึดอำนาจนั้น โทษทัณฑ์สาหัส กว่าการโกงกินประเทศ และทำลายโครงสร้างประเทศ



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์