สุรยุทธ์ สวมบทบู๊ ตอก ทักษิณ บนเวทีญี่ปุ่น

สิ่งที่จุดประทัดให้เกิดการแทรกแซงทางทหารคือ


"การรวบอำนาจทางการเมืองและทางการเงินของคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ในช่วง 5 ปี ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจในทางที่ผิด การคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน และประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นการหายนะ"

เป็นการเล่น "บทบู๊"


ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสมาคมผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ระหว่างภารกิจเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเพื่อ ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) และเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น

เป็นประโยคเปิดแผลที่ซัดใส่ พ.ต.ท.ทักษิณแบบเต็ม ๆ ว่า


เป็นต้นตอสาเหตุของปัญหาวุ่นวายต่างๆ จนทหารต้องออกมาทำการรัฐประหาร และยังตอกลิ่มไปอีกประโยคว่า "การที่คุณทักษิณให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์บอกให้โลกรู้ว่าการคอร์รัปชั่นจะไม่มีวันหายไปจากประเทศไทย แต่มันได้ฝังอยู่ในระบบเสียแล้ว หากผมคิดว่าคำพูดนี้เป็นจริง ผมคงไม่ได้มาอยู่ที่นี่ ณ เวลานี้" ทั้งหมดถือเป็นการตั้งใจที่จะพูดหรือเล่น "บทบู๊"
บทนี้ของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่นานๆ จะได้เห็นและได้ยิน

และเป็นที่รู้กันว่า


เจ้าของสำนวนบู๊ล้างผลาญ ต้องผ่านมือของ "กัญจนา สปินเล่อร์" รองเลขาธิการนายกฯ มือร่างสคริปเจ้าเก่า เตรียมการร่างถอยคำให้ แต่ทว่า ถ้อยคำอย่างคำว่า "อย่างเป็นการหายนะ " ย่อมไม่สามารถออกจากปากคนอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ได้ หากไม่มีการยินยอมหรือเห็นตรงกันของคนพูด เพราะคนอย่าง พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่มีทางที่จะออกมาแลกหมัดกล่าวโจมตีใครแบบตรงตัวอย่างนี้อย่างไม่ตั้งใจ

การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของ พล.อ.สุรยุทธ์และคณะครั้งนี้


จึงไม่ใช่การเดินทางไปโดยมีวัตถุประสงค์ธรรมดา เพียงแค่การลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น หรือ เจเทปป้า และแค่การเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น เท่านั้น

แต่ได้สะท้อนนัยยะสำคัญหลายประการ เพราะ


เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ได้บ่งบอกนัยยะถึงความร่วมมือเพื่อคานทางเศรษฐกิจต่อประเทศมหาอำนาจประการหนึ่ง โดยเวทีญี่ปุ่นครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวสำคัญบนเวทีระดับโลก โดยมีพระเอก 2 คน เป็นตัวเดินเกม คือ พล.อ.สุรยุทธ์ และ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ และเป็นโอกาสดีที่ใครจะส่งสารที่ตัวเองต้องการถึงประชาคมโลกได้แบบไม่ต้องลงทุนมากนัก แต่กลับได้ผลเป็นเท่าทวีคูณ

ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่นายกฯไทย


จะต้องเตรียมสคริปที่ดีที่สุดมาแจ้งเกิดบนเวทีนี้ เป็นถ้อยแถลงอย่างเป็นระบบ เป็นลำดับขั้นตอน ครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน สังคม และการเมือง โดยเฉพาะการชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองไทย และที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เป็นสุนทรพจน์บนเวทีนอกอาเซียนเป็นครั้งแรก


ในการทำงาน 6 เดือนของรัฐบาลรัฐประหาร และอาจเป็นเวทีสุดท้ายที่นายกฯไทย จะได้เล่นเป็นพระเอก เพราะอีก 7 เดือนที่เหลือ แม้จะมีเวทีเอเปคที่ประเทศจีน แต่ไทยก็จะเป็นเพียงองคาพยพเล็กๆ อันหนึ่งเท่านั้น

ที่สำคัญคือ


ถ้อยคำของ พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ได้เพียงแต่สะท้อนในนามตัวนายกฯรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ในเวทีโลกแล้ว เสียงของผู้นำรัฐบาลรัฐประหารคนนี้ ได้สะท้อนเสียงของทุกองคาพยพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คมช. หรือประชาชนชาวไทย

และในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น


การที่รัฐบาลประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น ให้การต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี รวมทั้งการให้การยอมรับรัฐบาลรัฐประหาร สามารถลงนามความตกลงเจเทปป้ากับตัวเองได้ ย่อมไม่ธรรมดา เพราะนั่นเป็นการบ่งบอกถึงการให้ความยอมรับในระดับสูง

อานิสงส์ที่ "รัฐบาลรัฐประหารไทย" ได้รับครั้งนี้ จึงมีแต่ได้-ได้ และได้


เข้าตำรา "ทีใครทีมัน" เพราะก่อนหน้านี้ "รัฐบาลรัฐประหารของไทย" ก็เคยโดนเสียอ่วมมาหลายครั้งหลายครา กับการเดินสายต่างประเทศให้สัมภาษณ์โจมตีของ พ.ต.ท.ทักษิณ จนเพิ่งตั้งสติใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวได้ในช่วงหลัง แต่ทว่า เวทีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ เลือกใช้ในครั้งนี้ ใหญ่กว่าหลายเท่านัก

หลังจากนี้ต้องจับตาบทบาทใหม่ของ พล.อ.สุรยุทธ์ เพราะการเปิดเกมรุกบนเวทีโลก ได้เริ่มขึ้นแล้ว...

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์